กมธ.สันติภาพใต้ เรียก สมช. – กอ.รมน. – ศอ.บต. แจงทำงานแก้ไฟใต้

3 หน่วยงาน เสนอทบทวน พ.ร.บ. การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2553 ให้เท่าทันสถานการณ์ พบยังหลงเหลือคำสั่ง คสช. บังคับใช้ หวั่นเกิดข้อจำกัดปฏิบัติงาน พร้อมเดินหน้าปรับแต่งกลไกภายใน รอรัฐบาลกำหนดทิศทางเจรจาสันติภาพ

(ภาพจาก : เพจ Chaturon Chaisang)

เมื่อวันที่ 8 พ.ย.66 คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.วิสามัญสันติภาพชายแดนใต้) เชิญหน่วยงานที่มีบทบาทดูแลพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ทั้ง สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.), กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) มาชี้แจง ให้ข้อมูล

จาตุรนต์  ฉายแสง ในฐานะประธาน กมธ.วิสามัญสันติภาพชายแดนใต้ ระบุว่า ทั้ง 3 หน่วยงานได้มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพปัญหาความขัดแย้งและแนวทางการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ในมิติด้านความมั่นคง การพัฒนา และการบริหารจัดการ รวมถึงให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

จาตุรนต์  ฉายแสง ประธาน กมธ.วิสามัญสันติภาพชายแดนใต้ (ภาพจาก : เพจ Chaturon Chaisang)

ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวจะถูกนำมาประเมินเพื่อวางแนวทางการทำงานของกรรมาธิการ ซึ่งมีประเด็นสำคัญ ได้แก่ การศึกษากระบวนการเจรจาสันติภาพและการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในภาพรวม โครงสร้างและกลไกการบริหาร เรื่องความยุติธรรม กฎหมาย การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ การพัฒนา แผนงานด้านเศรษฐกิจ การบริหารจัดการงบประมาณ สังคมพหุวัฒนธรรม รวมทั้งบทบาทของสภาฯ

“กรรมาธิการมีหลายคนที่มีความรู้ และมีประสบการณ์โดยตรง มีความกระตือรือร้นมาก กรรมาธิการจะพยายามรวบรวมและสังเคราะห์ออกมาให้เป็นข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาของรัฐบาล และรัฐสภา ว่าจะต้องออกกฎหมายอะไร เช่น กระบวนการเจรจาพูดคุยสันติภาพต้องการกฎหมายหรือไม่, คำสั่ง คสช.ที่มีผลทำให้เป็นอุปสรรคบางอย่าง วันนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างก็มองเห็น”

จาตุรนต์  ฉายแสง

เตรียมเดินหน้ารับฟังคนในพื้นที่-ทั่วประเทศ แสวงหาหนทางแก้ปัญหา

จาตุรนต์ บอกด้วยว่า กรรมาธิการยังต้องเชิญบุคคล หน่วยงาน/องค์กร นักวิชาการ หรือภาคประชาสังคมทุกภาคส่วนที่มีความรู้ความเข้าใจการแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาให้ข้อมูล เพิ่มเติมในการประชุมครั้งถัดไป หลังจากนั้นจะมีการเวิร์กชอปร่วมกันในกรรมาธิการ โดยเชิญผู้ที่มีประสบการณ์ และศึกษาวิจัยเรื่องนี้มาร่วมด้วย เพื่อที่กรรมาธิการจะได้ร่วมกันทำความเข้าใจ ตั้งหัวข้อประเด็นการศึกษาต่อไป พร้อมทั้งใช้ประโยชน์จากการลงพื้นที่ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และทุกภาคทั่วประเทศต่อไป

“กรรมาธิการต้องการเปิดให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด รับฟังทุกฝ่าย และสิ่งที่จะแตกต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมา คือจะรับฟังคนในพื้นที่อย่างเต็มที่ และจะรับฟังคนนอกพื้นที่ด้วย เพราะถือว่าการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องเป็นเรื่องของคนทั้งประเทศ ต้องให้คนในสังคมส่วนใหญ่มีความเข้าใจมากขึ้นและสนับสนุนการแก้ปัญหา”

รอมฎอน ปันจอร์ รองประธาน กมธ.วิสามัญสันติภาพชายแดนใต้ คนที่ 2(ภาพจาก : เพจ Chaturon Chaisang)

สะท้อนข้อจำกัดกระบวนการแก้ปัญหาชายแดนใต้

ขณะที่ รอมฎอน ปันจอร์ ในฐานะรองประธาน กมธ.วิสามัญสันติภาพชายแดนใต้ คนที่ 2 เปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมกับ The Active โดยระบุว่า สิ่งที่ได้รับการชี้แจงจากทั้ง 3 หน่วยงาน คือ สมช., กอ.รมน. และ ศอ.บต.นั้น  ทำให้เห็นว่าโครงสร้างต่าง ๆ ที่เคยจัดตั้งสมัย คสช. เพื่อใช้บริหารจัดการ และการบริหารราชการในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ส่วนใหญ่ถูกยุบเลิกไปแล้ว ทำให้ภาพรวมการบริหารราชการในพื้นที่อิงกับ 3 หน่วยงานเป็นสำคัญ และกลับไปทำหน้าที่ได้เหมือนกับช่วงก่อนการรัฐประหาร 2557 ที่มี สมช.ดูแลนโยบาย มี กอ.รมน. ดูแลงานด้านความมั่นคง ตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ปี 2551 และ มี ศอ.บต. ที่จัดตั้งตาม พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2553

แต่จากการให้ข้อมูลก็ค้นพบว่า มีกลไกที่เกิดขึ้นจาก คสช.ยังมีผลบังคับใช้หลงเหลืออยู่เช่นกัน ผ่านคำสั่ง คสช.ที่ 14/2559 ที่เกี่ยวข้องกับสถานภาพ บทบาท อำนาจหน้าที่ของสภาที่ปรึกษาบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นสภาฯ ที่มีอำนาจทั้งให้คำปรึกษา พิจารณาตรวจสอบการใช้อำนาจในหน่วยงานราชการจังหวัดชายแดนใต้ ที่โดนตัดทอน งดเว้นการบังคับใช้ส่วนนี้ไป ซึ่งแต่เดิมมาจากการเลือกตั้งทางอ้อมของประชาชนในพื้นที่ เมื่อสถานภาพคำสั่งนี้ยังมี หมายความว่ามรดก คสช.ยังเหลืออยู่

ตั้งข้อสังเกต 3 หน่วยงาน ทำหน้าที่ไม่สอดประสานกัน

ทั้งนี้กรรมาธิการฯ ยังได้ซักถามถึงการทำงานประสานสอดคล้องกันของ 3 หน่วยงานในพื้นที่ด้วย ซึ่ง รอมฎอน มีข้อสังเกตว่า การอธิบายของทั้ง 3 หน่วยงาน ดูเหมือนเป็นเรื่องเดียวกัน แต่อาจมีสิ่งที่ขัดกันไม่น้อย อย่างในสายตาของ กอ.รมน.นั้นจะเห็นในมุมภัยคุกคาม มีท่าทีที่แข็งกร้าว ต่อการจัดการปัญหา ในส่วน สมช.เป็นฝ่ายนโยบาย มีลักษณะเปิดกว้างมากกว่า ขณะที่ ศอ.บต. ก็เน้นการพัฒนา จึงมองไม่เห็นความเชื่อมกัน คำถามคือทั้ง 3 หน่วยงานหลักในพื้นที่จะสามารถทำงานสอดประสานกันอย่างไร เพราะดูเหมือนจะทำอย่างหนึ่งแต่อาจกระทบต่อการทำงานอื่น ๆ หรือไม่    

“กรรมาธิการฯ ขอขอบคุณ 3 หน่วยงานที่ให้ความร่วมมือ ซึ่งข้อมูลที่ได้รับจะนำไปสู่ข้อเสนอของกรรมาธิการฯ เพื่อปรับปรุงโครงสร้างทั้งฝ่ายบริหาร และนิติบัญญัติ ต่อการทำงานเพื่อสร้างสันติภาพในพื้นที่ต่อไป”

รอมฎอน ปันจอร์

เสนอทบทวนกฎหมายบริหารชายแดนใต้ให้ทันสถานการณ์

รอมฎอน ระบุด้วยว่า ที่ประชุมกรรมาธิการฯ ยังอภิปรายถกเถียงกันอย่างจริงใจ และมีความเห็นที่ต่างกันอยู่ถึงการปรับบทบาท หน้าที่ของทั้ง 3 หน่วยงานหลักในชายแดนใต้ ซึ่งความเห็นส่วนตัว ในฐานะของ สส.พรรคก้าวไกล ก็ได้เสนอให้ยุบ กอ.รมน. ตามร่างกฎหมายที่ยื่นไปแล้ว ส่วน ศอ.บต. เห็นว่า อาจต้องปรับปรุงบทบาทบางอย่างเพื่อแก้ไขปัญหา เช่นเดียวกับ สมช. แต่ที่เป็นประเด็นสำคัญคือทั้ง 3 หน่วยงาน มีข้อเสนอเห็นว่า พ.ร.บ. การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2553 น่าจะต้องได้รับทบทวน ปรับปรุงให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป เพราะบังคับใช้มา 13 แล้ว สำหรับกรรมาธิการฯ มองว่า เป็นข้อเสนอที่น่าสนใจ

หน่วยงานหลักเดินหน้าปรับกลไก รอทิศทางใหม่กระบวนการสันติภาพ

ส่วนประเด็นที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกระบวนการเจรจาสันติภาพนั้น รอมฎอน ระบุว่า ทั้ง 3 หน่วยงานได้ช่วยอัพเดทความคืบหน้าของการปรับโครงสร้างกลไกที่แต่ละหน่วยงานดูแลรับผิดชอบ ซึ่งเป็นบทบาทที่เกิดขึ้นภายหลังการเปลี่ยนรัฐบาล ทำให้กลไกต่าง ๆ ที่สืบเนื่องมาจากรัฐบาลเดิมยุติไปโดยปริยาย อย่างแต่เดิมที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยมีคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 230/2557 และคำสั่งที่ 257/2561 ซึ่งตอนนี้สถานภาพถูกยกเลิกไปแล้ว ตามคำสั่งฝ่ายบริหาร ทำให้แต่ละหน่วยงานได้จัดตั้งกลไกภายใน เพื่อรองรับนโยบายของรัฐบาลใหม่ อย่าง สมช. เมื่อ “สำนักงานเลขาธิการคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คพส.)” ถูกยุบไป ก็เลยจัดตั้ง “ศูนย์ขับเคลื่อนนโยบายการพูดคุยสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ (CPDP)” ขึ้นมาทดแทน

นอกจากนั้น สมช. ยังได้จัดตั้ง “คณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คยศ.จชต.)” โดยมีเลขาธิการ สมช.เป็นประธาน ซึ่งถือเป็นหน่วยงานระดมความร่วมมือในทางยุทธศาสตร์

“เป็นโครงสร้างหลวม ๆ ที่ สมช. ตั้งขึ้นภายใน แต่ความชัดเจนยังไม่มีอะไรมาก เพราะยังไม่มีเลขาฯ สมช. และรัฐบาลก็ยังไม่ชัดเจนว่าทิศทางการแก้ปัญหาชายแดนใต้จะเดินไปทางไหน โดยเฉพาะการขับเคลื่อนทิศทางการพูดคุยสันติภาพที่ยังไม่ชัด แต่ก็เป็นการปรับตัวของข้าราชการประจำ ในช่วงที่ยังไม่มีคำสั่งจากฝ่ายบริหาร ยอมรับ เป็นการเตรียมพร้อมนโยบายจากรัฐบาลที่อาจเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ เพราะ สมช.ถือว่าเป็นคีย์แมนสำคัญ รวมถึงการมีหัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพของฝ่ายรัฐบาลไทยด้วย”  

รอมฎอน ปันจอร์

ขณะที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ก็จัดตั้ง “สำนักงานขับเคลื่อนการพูดคุยสันติสุขระดับพื้นที่ (สพท.)” ขึ้นมาทดแทน คณะประสานงานระดับพื้นที่ (สล.3) ที่ถูกยกเลิกไป

“สพท. แปลงมาจาก สล.3 ขณะที่ คพศ. หรือ สล.2 เดิม ก็แปลงมาเป็น CPDP ส่วน สล.1 คือ คณะกรรมการกำกับทิศทางการพูดคุย ที่มี นายกฯ เป็นประธาน ถือเป็นโครงสร้างใหม่ของหน่วยงานหลักในพื้นที่ที่กรรมาธิการฯ รับทราบการปรับเปลี่ยน”

รอมฎอน ปันจอร์
(ภาพจาก : เพจ Chaturon Chaisang)

รองประธาน กมธ.วิสามัญสันติภาพชานแดนใต้ คนที่ 2  ย้ำด้วยว่า หลายกลไกซึ่งเคยอยู่ในกระบวนการเจรจาสันติภาพของฝ่ายไทย ที่ต้องยุติบทบาทไปพร้อมกับรัฐบาลชุดเดิม กระทบต่อสถานภาพของคณะเจรจาพูดคุย จึงเป็นเหตุผลของการมีกรรมาธิการวิสามัญฯ เพื่อเสนอแนะนโยบายต่อฝ่ายบริหาร ทำให้เกิดความต่อเนื่องของการแสวงหาข้อเสนอไปสู่การลดความขัดแย้ง และการสร้างสันติภาพชายแดนใต้ด้วยสันติวิธี ทำให้ฝ่ายเจรจาสันติภาพมีโครงสร้างกลไกสำคัญเพื่อเป็นหลักประกันความต่อเนื่อง พร้อมทั้งทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติ ได้ออกแบบเชิงสถาบันเพื่อตอบสนองการติดตาม ตรวจสอบกระบวนการนี้อย่างต่อเนื่องเช่นกัน

เชื่อว่าจะนำไปสู่การวางแนวทางหลักของประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ ที่ไม่ใช่แค่การจัดสรรกำลังทหาร แต่ต้องลดความเสี่ยงการละเมิดสิทธิมนุษยชน นอกจากนั้นจะต้องชี้ให้เห็นว่า ทิศทางหลักที่จะแสวงหาทางออกโดยไม่ใช้กำลังไม่ใช้ความรุนแรง ต้องแสวงหาฉันทามติร่วมกันต่อแนวทางการแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นสิ่งที่กรรมาธิการฯ กำลังพูดคุย ในช่วงเวลาการรับฟังเสียงสะท้อนจากทุกฝ่าย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กมธ.สันติภาพ เล็งศึกษากฎหมายคุ้มครองเสียงประชาชน เสนอหนทางดับไฟใต้

กมธ. สันติภาพใต้ เล็งตั้งอนุฯ ศึกษาแนวทางปกครองรูปแบบพิเศษ แก้ปัญหา 3 จชต.


Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active