“50 ปี 14 ตุลาฯ กับสิทธิการสื่อสารในสังคมไทย” คนข่าวมอง 5 ทศวรษ คู่ขัดแย้งสื่อ-รัฐไทย ไม่ปลี่ยน ย้ำไม่มีเสรีภาพส่งผลกระทบความถูกต้องของข้อมูล กระตุ้นผลักดันวาระของประชาชนมากขึ้น
19 ต.ค. 2566 วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดเสวนา เรื่อง “การทบทวนบทเรียนและก้าวต่อไปสู่ความจริง และความเป็นธรรม ผ่านมุมมองคน 5 เจนเนอเรชั่น” โดย มี กวี จงกิจถาวร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค (ประเทศไทย) และประธานคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บรรณาธิการ The Nation online อัญชัญ อันชัยศรี Digital Journalist Workpoint Today และคุณากร ตันติจินดา นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมองในฐานะคนทำสื่อ
โดยก่อนเริ่มวงเสวนามีการกล่าวปาฐกถา 50 ปี 14 ตุลา 2516 “มองสื่อไทย 5 ทศวรรษจากฐานันดรที่สี่สู่วารสารศาสตร์ยุคเอไอ เรามาไกลหรือยัง” โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์ รองประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) อดีตนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สิทธิการสื่อสารหรือเสรีภาพการสื่อสารไม่ได้เกิดขึ้นมาลอย ๆ โดยไม่เกี่ยวข้องกับบริบทของสังคม แต่เป็นผลพวงของเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามลำดับ ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรม ทั้งในประเทศและในทางสากล
กล่าวโดยสรุปก็คือสิทธิการสื่อสารในสังคมเป็นพัฒนาการที่มีสภาพลุ่ม ๆ ดอน ๆ มาโดยตลอด ซึ่งแบ่งเป็น 2 ช่วงคือก่อน 14 ตุลาฯ และหลัง 14 ตุลาฯ จนถึงปัจจุบัน และพิจารณาจากบทบัญญัติกฎหมายสูงสุดของประเทศ คือ กฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ เนื่องจากรัฐธรรมนูญเป็นหัวใจสำคัญในการเรียกร้องประชาธิปไตย นำมาสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 รวมถึงพิจารณาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วง บทบาทและชะตากรรมของตัวละครการเมืองแต่ละกลุ่มว่าเป็นอย่างไร และบ่อยครั้งกฎหมายที่มีก็ถูกใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ
เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ยังให้บทเรียนต่อทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้มีอำนาจรัฐ หากใช้อำนาจมากเกินไป โดยปิดกั้นเสรีภาพ ปิดปากสื่อมวลชน ในที่สุดแล้วอำนาจนั้นก็ไปไม่รอด ดังนั้น ประชาธิปไตยภายใต้ความรับผิดชอบจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ด้านสื่อมวลชนต้องทำให้เกิดสำนักข่าวอิสระที่เข้มแข็งคู่ขนานกับสื่อกระแสหลักผลักดัน ทำให้วาระของประชาชนถูกยกมาเป็นประเด็นมากขึ้น ไม่ใช่เน้นแต่วาระของชนชั้นนำ
ในช่วงวงเสวนา กวี จงกิจถาวร พูดถึงการทำข่าวในยุคปัจจุบันว่า เป็นสังคมที่มีข้อมูลท่วมท้น แต่ไม่มีการกลั่นกรองข่าวให้คนเสพข่าว ซึ่งต่างจากในอดีตที่นักข่าวต้องลงพื้นที่ไปสัมผัสกับผู้คนและรายงานข่าวออกมา แต่ในปัจจุบันสื่อโซเชียลทำให้ลักษณะการทำข่าวเปลี่ยนไปมาก เพียงเข้าไปในสื่อโซเชียลก็สามารถเขียนข่าวได้
เวลาผ่านไป 50 ปี สิ่งที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงคือขีดความสามารถของนักข่าว ซึ่งต้องปรับปรุงอีกเยอะ และต้องมีความสามารถในการเข้าถึงสภาพแวดล้อมของข่าวที่จะเกิดขึ้น สื่อต้องเพิ่มขีดความสามารถให้สมกับเสรีภาพที่มี และเมื่อมีการเกิดขึ้นของปัญญาประดิษฐ์ยิ่งท้าทายการเป็นอาชีพนักข่าว
“สังคมไทยมีเสรีภาพ แต่ขีดความสามารถของสื่อไทยยังไต่ไปไม่ถึงระดับเสรีภาพที่มีอยู่”
กวี จงกิจถาวร
สุภิญญา กลางณรงค์ กล่าวว่า แม้คำว่า อำนาจนิยม อุปถัมภ์ ทุนนิยม และอภิสิทธิ์ จะเกิดขึ้นในระบบสื่อไทย ยุค 14 ตุลาฯ แต่คำเหล่านี้ก็ยังคงสะท้อนถึงระบบสื่อไทยในปัจจุบันด้วย ทำให้ระบบสื่อไม่ได้ตอบสนองสังคมอย่างที่ควรจะเป็น แต่ในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ก็ถือเป็นหมุดหมายของการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ แม้ว่าจะไม่เกิดผลเป็นรูปธรรมในทันที ซึ่งใช้เวลากว่า 2 ทศวรรษ ไล่มาจนถึงยุค พฤษภาคม 2535 และยุครัฐธรรมนุญ 2540 ที่เป็นยุคทองของเรื่องสิทธิเสรีภาพที่ทำให้ทุกคนมีความหวัง
สุภิญญา ยังมองว่า ในด้านสื่อสังคมไทยมีกฎหมายและกลไกที่ควรจะเป็นหลายประการ ทั้งกองทุน องค์กรที่กำกับดูแลกฎหมาย แต่คนในสังคมก็ยังมองว่ายังไม่ประสบความสำเร็จ จึงเกิดคำถามว่าจริง ๆ แล้วคนไทยคาดหวังสูงหรือยังเดินมาไม่ถูกทาง ควรทำอย่างไรให้การปฏิรูปโครงสร้างไปต่อกับการเปลี่ยนแปลงเชิงวัฒนธรรมได้ ซึ่งต้องเสริมให้ไปคู่กัน เพื่อจะได้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในยุคปัญญาประดิษฐ์ที่กำลังจะมาถึง
พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ พูดถึงเรื่องเสรีภาพและคุณภาพของสื่อ ว่าการด่วนสรุปว่า สื่อไม่มีคุณภาพก็ไม่ควรมีเสรีภาพนั้นเป็นการสรุปที่ผิด เพราะถ้าไม่มีเสรีภาพก็จะเรียกร้องสื่อที่คุณภาพไม่ได้เช่นกัน จะคาดหวังคุณภาพของสื่อได้อย่างไรในเมื่อสื่อยังถูกกดทับไม่ให้มีเสรีภาพอะไรเลย
เรื่องเสรีภาพสื่อเกี่ยวกับทุกคน ไม่ใช่เพียงแค่คนทำอาชีพสื่อหรือคนเรียนด้านสื่อเท่านั้น เพราะผู้มีอำนาจรัฐเริ่มเข้ามากลืนกินพื้นที่เสรีภาพด้านสื่อของทุกคนเรื่อย ๆ
อัญชัญ อันชัยศรี พูดถึงการสื่อสารในเชิงสัญลักษณ์ของสื่อ ซึ่งอาจถ่ายทอดภาพภาพข่าวหรือการพูดถึงประเด็นที่อ่อนไหวทางสังคม ซึ่งถือเป็นการดันเพดานหลายประเด็นให้ถูกพูดถึงในสังคม ซึ่งสะท้อนพัฒนาการของสื่อ แต่เมื่อเริ่มมีสื่อหลายสำนักที่สื่อสารลักษณะนั้นก็กลับถูกฟ้องปิดปาก (SLAPP) หรือถูกติดตามการทำงานจากผู้มีอำนาจ ทำให้รู้สึกว่าถูกปิดกั้นสิทธิในการสื่อสาร
คุณากร ตันติจินดา มองว่า แม้จะเป็น 50 ปีที่แล้ว หรือยุคไหนก็ตาม สิ่งที่เหมือนกันก็คือคู่ขัดแย้งโดยตรงของสื่อคือรัฐไทย กับสิทธิและเสรีภาพของสื่อ แต่อาจมองได้ว่าสิทธิเสรีภาพของสื่อไทยในปัจจุบันอาจมีมากขึ้น แต่หากมองว่ารัฐไทยกำลังทำอย่างไรให้วิ่งตามการเปลี่ยนแปลงของสื่อให้ทัน ก็อาจมองได้ว่ารัฐไทยอาจจะยังวิ่งตามไม่ทันอย่างในอดีต เพราะปัจจุบันทุกคนมีสื่อเป็นของตนเอง ซึ่งควบคุมได้ยากกว่าในอดีตที่มีสื่อไม่กี่สำนัก
คุณากร ยังกล่าวอีกว่า ถ้าหากยังไม่มีสิทธิเสรีภาพ ก็ไม่สามารถมีความถูกต้องของข้อมูลได้ เพราะข้อมูลจะเป็นเพียงข้อมูลด้านเดียว ดังนั้น จึงต้องเดินต่อในเรื่องสิทธิเสรีภาพและความถูกต้องของข้อมูล และทำอย่างไรให้เกิดความสมดุลระหว่างการทำสื่อเพื่อการพาณิชย์กับการสร้างเสรีภาพและคุณภาพของสื่อให้อยู่ควบคู่กันได้ และมีความกังวลเรื่อง Echo Chamber ที่อาจทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนที่คิดต่างกัน ซึ่งก็เคยเกิดขึ้นแล้วหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 คือเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519