เครือข่ายด้านสิทธิ เรียกร้องถึงนายกฯ เศรษฐา ไม่ขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชายแดนใต้ที่จะสิ้นสุดวันที่ 19 ก.ย.นี้ ชี้ แม้ไม่ใช่นโยบายเร่งด่วนสำหรับรัฐบาล แต่เป็นสถานการณ์เร่งด่วนของชีวิตชาวบ้าน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่ถูกละเมิดสิทธิ์มาตลอด 18 ปี
วันนี้ (13 ก.ย. 66) พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุ ขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ไม่ต่อพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ที่จะครบกำหนดในวันที่ 19 กันยายน 2566 นี้
จากการสัมภาษณ์เพิ่มเติม พรเพ็ญ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่และเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2548 ยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และนับตั้งแต่นั้นไม่ว่าจะเป็นการบริหารในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กระทั่งการบริหารประเทศภายใต้รัฐบาลของ พลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา รวม18 ปี ของการประกาศใช้ ไม่เคยมีการแก้ไขกฎหมายให้กลายเป็นการอนุมัติผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากในยุคที่มีการเขียนและใช้กฎหมายฉบับนี้ได้รวบอำนาจไว้กับฝ่ายบริหารทั้งหมด แต่โดยหลักการทั่วไปและหลักการสากล คือหลายประเทศจะต้องอนุมัติโดยรัฐสภาเพราะเป็นอำนาจฝ่ายบริหารที่จะต้องตรวจสอบโดยสภาฯ แต่ประเทศไทยเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี
“เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่เพียงแต่มีคำถามว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะใช้การอนุมัติ รับรอง เพื่อขยาย กฏหมาย ฉบับนี้เป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรีเป็นไปตามหลักนิติธรรมหรือเปล่า เพราะหลักนิติธรรมจะต้องตรวจสอบโดยระบบอื่นคนใช้อำนาจไม่ควรจะต่ออายุอำนาจของตัวเองแต่เป็นมานานแล้ว”
13 มิ.ย. 66 ที่ผ่านมา มติคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยกเว้น อ.ศรีสาคร อ.สุไหงโก-ลก อ.แว้ง อ.สุคิริน จ.นราธิวาส อ.ยะหริ่ง อ.มายอ อ.ไม้แก่น และ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี และ อ.เบตง อ.กาบัง จ.ยะลา ออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 มิ.ย.2566 และสิ้นสุดในวันที่ 19 ก.ย.2566 ซึ่งเป็นการขยายเวลาเป็นครั้งที่ 72
พรเพ็ญ กล่าวว่า แม้จะมีการประกาศยกเลิกรายอำเภอ ซึ่งตนมองว่าไม่เป็นผลและมีหลายกรณีที่ติดตามครบยังมีการพรก ฉุกเฉิน และกฎอัยการศึกมาใช้จับกุมชาวมาลายู มุสลิม นอกพื้นที่
“เวลามีเหตุการณ์ระเบิดหรือการสร้างสถานการณ์ความรุนแรง ก็มักจะมีการเอากฎหมายพิเศษมาบังคับใช้ ซึ่งเราตรวจสอบแล้วว่ามีการนำกฎหมายมาใช้จริงแต่ไม่มีใครตรวจสอบหน่วยงานที่เอามาใช้”
พรเพ็ญ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาข้ออ้างของรัฐบาลจะบอกว่าว่าเพิ่งจะเข้ามารับหน้าที่ ยังไม่กล้าตัดสินใจเรื่องนี้สุดท้ายก็ต่อ แต่เมื่อตอนนี้มีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งเป็นพลเรือน แล้วบอกว่าจะพัฒนาร่วมกันกับกองทัพ ซึ่งหากนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลมีความมุ่งมั่นทางการเมืองจะต้องไม่ต่อกฎหมายฉบับนี้
“เราเลยจะมาตั้งคำถามว่าถ้าเป็นรัฐบาลใหม่แล้วจะต่อพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ฉบับนี้อยู่ไหม โดยคาดว่าถ้าคณะรัฐมนตรีมีมติว่าไม่ต่อ ก็จะกลับไปใช้กฎหมายแบบปกติ ซึ่งพรเพ็ญ หวังว่าหากจะพัฒนาอะไรร่วมกันอย่างที่แถลงเราก็ไม่อยากให้ขยายเวลาใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ฯ ออกไปอีก”
ทั้งนี้ พรเพ็ญ กล่าวว่า แม้จะมองว่าไม่ใช่นโยบายเร่งด่วนสำหรับรัฐบาลแต่นี่เป็นเรื่องเร่งด่วนสำหรับชีวิตของคนในพื้นที่สามจังหวัดใช้แดนใต้