นักรัฐศาสตร์ ห่วงนโยบาย ผู้ว่าฯ CEO รวบอำนาจ ซ้ำรอย “ไทยรักไทย”

วิเคราะห์นโยบายรัฐบาล 52 หน้าเต็มไปด้วยนโยบายระยะสั้น ไม่แตะภาพใหญ่ “กระจายอำนาจ, ลดทุนผูกขาด, สิทธิมนุษยชน, ปฏิรูปกองทัพ” ไม่สะท้อนเสียง 14 ล้านเสียงที่ยอมทิ้ง ดิจิทัล-วอลเล็ต 10,000 บาท เพราะต้องการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง

ผศ.วีระ หวังสัจจะโชค ภาควิชารัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มองว่า เอกสารแถลงนโยบาย 52 หน้า ของ ครม.เศรษฐา เป็นเหมือนโอกาสสุดท้ายที่จะเรียกคะแนนนิยม และสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลเศรษฐา หลังจากตัดสินใจข้ามขั้ว และล้ม MOU ของพรรคร่วมรัฐบาลที่มีก้าวไกลเป็นแกนนำ

อย่างไรก็ตาม เอกสารทั้ง 52 หน้ากลับมี สาระสำคัญอยู่เพียงช่วงต้น ๆ ของคำแถลงเท่านั้น และหากดูภาพรวม ยังพบว่า ไม่แตะภาพใหญ่อย่างการกระจายอำนาจ, ลดทุนผูกขาด,ปฏิรูปกองทัพ, สิทธิมนุษยชน ฯลฯ อย่างที่ 14 ล้านเสียงยอมทิ้ง ดิจิทัลวอลเล็ท 10,000 บาท เพื่อมาเลือกก้าวไกลที่มีนโยบายแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างแท้จริง

ติงนโยบายผู้ว่า CEO อันตราย รวบอำนาจ ซ้ำรอย “ไทยรักไทย”

ยกตัวอย่างเช่น การโยนคีย์เวิร์ดเรื่อง “ผู้ว่า CEO” ซึ่งหมายถึงการเพิ่มอำนาจ CEO ผู้ว่าส่วนกลาง เป็นนโยบายที่มีปัญหามาตั้งสมัย ไทยรักไทย ซึ่ง ในเชิงการเมืองการปกครองไม่ถือว่ากระจายอำนาจ เหมือนอย่างในสมัยรัฐบาลทักษิณ ไทยรักไทย มีลักษณะการควบคุมดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ และอาจจะกลายเป็นปัญหาใหม่ เมื่อ รมว.มหาดไทย ไม่ได้อยู่ในมือ “เพื่อไทย” ความร้ายแรงกว่านั้น คือ โครงสร้างอำนาจของผู้ว่า CEO ก็ยังมาจากส่วนกลาง แม้จะเป็นคนในท้องถิ่น แต่สุดท้ายแล้วก็ยังต้องรับนโยบาย และการจัดสรรงบประมาณมาจากส่วนกลาง จึงมองไม่เห็นการกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่นจากนโยบายนี้

ส่วนเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ก็ยังมีความกังวลว่า อาจจะไม่ได้แตะเรื่องการกระจายอำนาจ แต่อาจจะเน้นไปที่การแก้ไขบางข้อในเชิงเทคนิค เพื่อเปิดทางให้กับการเลือกตั้งครั้งต่อไป ซ้ำรอยการแก้รัฐธรรมนูญ 60

ดิจิทัลวอลเล็ท ติดหล่ม ไม่กระจายรายได้อย่างที่ตั้งใจ ?

ส่วนเรื่องของการแจกเงิน ดิจิทัลวอลเล็ต อาจารย์วีระมองว่า เป็นเพียงนโยบายที่กระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ทำได้เพียงลดแลกแจกแถม แต่ไม่สามารถสร้างความชอบธรรมได้ เพราะจากเอกสารแถลง เป็นการเขียนลักษณะของภาพกว้าง ไม่ลงตัวเลขให้ชัด ทั้งที่เป็นนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทย

แม้เอกสารหน้า 3-5 จะเล่าถึงสถานการณ์ในประเทศไทยที่พบกับปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาคนรากหญ้า แต่กลับไม่พูดถึงการกระจายรายได้ ส่วนตัวมองว่า ตลอด ห้างร้าน ที่เป็นสาขาของร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ จะจัดโปรโมชัน ลดแลกแจกแถม ซ้ำรอย เช็ค 2,000 บาท ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์

“แม้คำแถลงจะบอกว่า เอาไว้ใช้กระตุ้น เศรษฐกิจฐานราก แต่ส่วนตัวมองว่า อาจกลายเป็นว่า ประชาชนจะไปซื้อสินค้า บริการจากกลุ่มทุนใหญ่ ที่ออกโปรโมชัน ลดแลกแจกแถม กลับไปสู่จุดเริ่มต้นของการผูกขาดการขายสินค้า เพราะเพื่อไทย ไม่พูดถึงการจำกัดการใช้ การจัดการทุนผูกขาด ผลคือไม่หลุดจากคำว่า ผูกขาด”

ผศ.วีระ หวังสัจจะโชค ภาควิชารัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ม.นเรศวร

ห่วงคำแถลงเอ่ยถึง “สิทธิมนุษยชน” น้อย แม้จะเป็นนโยบายทางสังคม

อาจารย์วีระวิเคราะห์ต่อว่า พบข้อความที่มีคำว่า สิทธิมนุษยชนเพียง 2 จุดเท่านั้น มองว่าเรื่องนี้อาจไม่ใช่ประเด็นหลัก ที่พรรคเพื่อไทยให้ความสนใจ โดยยกตัวอย่าง นโยบายอุตสาหกรรมประมง ที่อาจจะเอื้อประโยชน์ให้กับเจ้าของ หรือไต้ก๋งเรือ แต่อาจละเลยปัญหาการค้าแรงงานทาส ที่เป็นลูกน้องของเจ้าของอุตสาหกรรมเรือ  จึงตั้งข้อสังเกตถึงความชัดเจนในแถลงการณ์กับคำว่า “อุตสาหกรรมประมงแหล่งรายได้” เป็นคำกล่าวในมิติของเจ้าของเรือ หรือ แรงงานบนเรือ 

คำแถลงการณ์ 52 หน้าของพรรคเพื่อไทย อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ในรายละเอียด แต่หากต้องการเรียกคะแนนนิยม อาจจะต้องระบุนโยบายที่เปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างและอุดมการณ์ สังคม สิทธิมนุษยชน การปฏิรูปกองทัพ ฯลฯ เพราะต้องไม่ลืมว่าประชาชน 14 ล้านเสียง เคยทิ้งเงิน 10,000 บาทมาเลือกพรรคก้าวไกล สะท้อนว่าประชาชนส่วนนั้น ไม่ได้ต้องแค่การฟื้นเศรษฐกิจระยะสั้น แต่ยังต้องการความจริงใจในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ทลายทุนผูกขาดในสังคมไทยด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active