ส่องดีล 2 เก้าอี้รัฐมนตรีลงล็อก ชลน่าน สธ.-อนุทิน มท.

สยบเสียงวิจารณ์แผลวัคซีนโควิด-19 “อนุทิน” จ่อนั่ง ก.มหาดไทย โยนโจทย์ยากภาระแพทย์-เหลื่อมล้ำกองทุนสุขภาพให้ “หมอชลน่าน” จับตาทิศทางกัญชา ไปต่อหรือพอแค่นี้ 

วันที่ 29 ส.ค. 2566 The Active จับตาโผ ครม. เศรษฐา 1 โฟกัสไปที่เก้าอี้รัฐมนตรี 2 กระทรวง  คือ กระทรวงสาธาณสุข ซึ่งเดิมเป็นของ อนุทิน ชาญวีรกูล พรรคภูมิใจไทย  ที่ปล่อยเก้าอี้ตัวนี้ไปแล้วนั่งกระทรวงมหาดไทย ขณะที่ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ซึ่งเคยเป็นอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จะกลับเข้ามานั่งเป็นเจ้ากระทรวงสาธารณสุขคนใหม่ มีหลายเรื่องที่น่าจับตาทั้ง แก้ปัญหาภาระงานคนสาธารณสุข การลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุนสุขภาพ การถ่ายโอน รพ.สต. ไปอยู่ กับ อบจ. รวมถึงทิศทางกัญชา 

ในช่วงที่ พรรคเพื่อไทย ตัดสินใจ แยกทางออกจาก พรรคก้าวไกล และจับมือกับพรรคภูมิใจไทย เป็นสารตั้งต้นของการจัดตั้งรัฐบาล หลายฝ่ายในแวดวงสาธารณสุข โดยเฉพาะกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “หมอไม่ทน” ก็ออกมาคาดการณ์ว่า พรรคภูมิใจไทย อาจจะกลับมาเอาตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเช่นเดิม ทำให้เกิดกระแสต่อต้าน อนุทิน เพราะยังมีภาพจำเกี่ยวกับการบริหารจัดการวัคซีน ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ล่าช้า ขณะที่ก่อนหน้านี้ในการอภิปรายหลายครั้งในยุคโควิด-19 นายแพทย์ชลน่าน ก็อภิปรายไม่ไว้วางใจในการทำงานของ อนุทิน หลายครั้ง

สำหรับนายแพทย์ชลน่าน ตัวเต็ง รมว.สธ. คนใหม่ตามโผ แม้ยังไม่มีบรรยากาศของการคัดค้าน แต่คนในแวดวงสาธารณสุข ก็จับตาว่า รัฐมนตรีคนใหม่ จะสามารถแก้ปัญหาใหญ่ ๆของกระทรวงสาธารณสุข ได้อย่างจริงจังแค่ไหน โดยเฉพาะปัญหาภาระงานแพทย์ และ การลดความเหลื่อมล้ำ ในระบบสุขภาพ 3 กองทุน 

นายแพทย์ชลน่าน สมัยที่เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เคยถูกมอบหมายให้รับผิดชอบดูแล กรมอนามัย, กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ, ซึ่งรวมไปถึงกิจกรรมของ อสม., กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก, กรมสุขภาพจิต, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และ โรงพยาบาลบ้านแพ้ว ซึ่งเป็นโรงพยาบาล ตัวอย่างของการทดลองออกนอกระบบสังกัดกระทรวงสาธารณสุข

แต่ไม่ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะใช่ หมอชลน่าน หรือไม่ ทางฝั่งของสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ออกมาประกาศพร้อมนำข้อมูลเข้าพบรัฐมนตรีคนใหม่ทันที เพื่อหารือ แนวทางการกำหนดชั่วโมงการทำงาน แนวทางรักษาคนในระบบ ลดปัญหาลาออก และพร้อมสนับสนุนให้บุคคลากรของกระทรวงสาธารณ ออกจากการกำกับดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ. เพื่อแก้ปัญเรื่องกรอบอัตรากำลัง โดยเบื้องต้นขณะนี้นอกจาก วิชาชีพ แพทย์แล้ว ยังมีวิชาชีพที่แสดงความประสงค์เข้าหารือร่วมกันไม่ว่าจะ พยาบาล เภสัชกร และนักเทคนิคการแพทย์ ด้วย

ขณะที่ อนุทิน ที่จะไปนั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตามโผ ครม. ล่าสุด ก็ทำให้บุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขที่ถูกถ่ายโอนไปอยู่กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในช่วงที่มีการกระจายอำนาจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพ.สต. มีความหวังว่าอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนนี้ยังจะไม่ทอดทิ้งงานสาธารณสุข 

เพราะที่ผ่านมา การกระจายอำนาจ รพ.สต. ติดขัดปัญหาหลายเรื่อง ทั้งปัญหาการเบิกจ่ายงบประมาณ บุคลากรและครุภัณฑ์ ส่งผลให้การให้บริการประชาชนในด้านสาธารณสุขปฐมภูมิทำได้ด้อยลงหลังจากที่ถ่ายถ่ายไปอยู่กับ อบจ. เพราะยังมีกฎระเบียบที่รอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยปลดล็อก และทำงานร่วมกัน กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนใหม่ เพื่อให้ระบบสุขภาพเชื่อมต่อกันแม้หน่วยบริการจะอยู่คนละสังกัดก็ตาม  

อีกประเด็นคือการผลักดัน กัญชาการแพทย์ รัฐบาลที่แล้ว อนุทิน ก็ปักธงชัดเจนว่าต้องการเข้ามานั่งเก้าอี้กระทรวงสาธารณสุข เพื่อปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด และเปิดให้ประชาชนแจ้งใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างแพร่หลาย ซึ่งตลอดสี่ปีที่ผ่านมาต้องถือว่า อนุทินได้ทำนโยบายกัญชาประสบความสำเร็จนำมาสู่แคมเปญหาเสียงที่ เคลมได้ว่า “พูดแล้วทำ”

แต่ปัญหาสุญญากาศทางกฏหมายควบคุมกัญชา ก็นำมาสู่เสียงคัดค้านจากนักวิชาการ และหมอในกระทรวงสาธารณสุขว่าเป็นนโยบายที่ไม่ส่งเสริมสุขภาพประชาชน ทั้งยังมีฤทธิ์บางส่วนที่ถือเป็นสารเสพติด ที่ต้องควบคุมขณะที่ นายแพทย์ชลน่านเองก็เคยอภิปรายในสภา และไม่เห็นด้วยกับกัญชาเสรี รวมถึง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ก็เคยประกาศชัดก่อนหน้าว่าไม่สนับสนุนนโยบายกัญชา 

แต่เมื่อทั้ง 2 พรรคจับมือกันเป็นรัฐบาล เชื่อว่าคงมีการเจรจากันลงตัวแล้วถึงทิศทางนโยบายกัญชา เพราะฉะนั้นคงต้องจับตาดูว่า การที่ นายแพทย์ชลน่านเข้ามานั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะดึงกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดหรือไม่ 

ขณะเดียวกันหาก อนุทิน จะมานั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็นับว่าได้กุมอำนาจบารมีในการกำหนดนโยบายส่งเสริมการใช้กัญชาได้เช่นเดียวกันเพราะช่วงที่กระทรวงสาธารสุข ขณะที่ อนุทิน ปลดล็อกกัญชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ก็สามารถ สั่ง ปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่อนหนังสือกำชับผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ควบคุมไม่ให้จำหน่ายอาหาร-เครื่องดื่ม ผสมกัญชากัญชงในสถานที่ราชการได้เช่นกัน ดังนั้นหาก รพ.สต. ที่ถูกถ่ายโอนจากกระทรวงสาธารณสุข ไปอยู่กับ อบจ. แล้วอนุทิน ในฐานะรัฐมนตรีมหาดไทย ก็ถือว่ามีฐานที่ยังสามารถเดินหน้านโยบายกัญชาต่อไปได้

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active