กป.อพช. เรียกร้อง สส.-สว. ฟังเสียงประชาชน เลือกประธานสภาฯ

สร้างทางออกให้กับการเมืองไทยตามครรลองประชาธิปไตย ห่วงพาสังคมเดินหน้าสู่ความวุ่นวายไม่สิ้นสุดชี้ หากไม่ตรงตามหวังประชาชน ไม่เคารพรัฐธรรมนูญ

วันนี้ (3 ก.ค. 66) คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ออกแถลงการณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร และสมาชิกวุฒิสภา ต้องเคารพเสียงประชาชนและเคารพรัฐธรรมนูญไทย 

โดยมีเนื้อหาว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 114 ได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงำใด ๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ขอเรียกร้องอีกครั้ง ผ่านแถลงการณ์ดังกล่าว ขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรและสมาชิกวุฒิสภา โปรดเคารพเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนที่มีฉันทามติผ่านการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่เพิ่งผ่านมา โดยการยอมรับให้พรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมาก และกำลังเป็นแกนนำหลักในการจัดตั้งรัฐบาลผสมกับพรรคการเมืองอื่น ๆอีก 8 พรรค ได้สามารถเข้าไปทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในอีก 4 ปีข้างหน้าต่อไป และที่สำคัญทั้ง สส. และ สว. จะต้องเคารพต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ตามมาตรา 114 ที่ระบุบทบาทหน้าที่ของพวกท่านเอาไว้อย่างชัดเจน

“ทั้งนี้หวังว่า การตัดสินใจทางการเมืองของสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรและสมาชิกวุฒิสภา ที่จะมีการประชุมเพื่อเลือกประธานรัฐสภาในวันที่ 4 กรกฏาคม 2566 นี้ จะเป็นการสร้างทางออกให้กับการเมืองไทย ที่เป็นไปตามครรลองของระบบประชาธิปไตย มิเช่นนั้นแล้วอาจจะนำไปสู่หนทางอันตีบตัน และนำไปสู่ความวุ่นวายทางสังคมการเมืองได้ ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นพวกท่านคงไม่สามารถรับผิดชอบต่อผลพวงที่จะตามมาได้อย่างแน่นอน“ 

แถลงการณ์ระบุ

ด้าน สมบูรณ์ คำแหง ประธาน คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) เปิดเผยกับThe Active ว่า การเลือกประธานรัฐสภามีความสำคัญ เชื่อมโยงไปถึงการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งหากไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน เชื่อว่าจะเกิดความวุ่นวายขึ้นอย่างแน่นอน ทางออกทางเดียวคือ ต้องเป็นไปตามระบบประชาธิปไตย และเสียงข้างมากของประชาชน 

“อำนาจที่เป็นตัวแปรสำคัญ คือ สว. การที่จะออกมาอ้างว่า  สว.ไม่จำเป็นต้องฟังเสียงประชาชน เป็นการย้อนแย้งต่อรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน ซึ่งสังคมกำลังจับตาเรื่องนี้ จับตาพฤติกรรมของ สว.รวมถึงพรรคการเมือง ที่กำลังรวมตัวกันและไม่ยอมรับฉันทามติของประชาชน หรือกำลังออกแบบให้กลุ่มอำนาจเก่ากลับมา  ซึ่งมีโอกาสที่จะเป็นแบบนั้น อันนี้แหละจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดความวุ่นวายแน่นอน จึงเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องคิดให้รอบคอบ“

สมบูรณ์ คำแหง ปธ.คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) 

สมบูรณ์ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า การที่ไม่ดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา และจัดตั้งรัฐบาลได้ล่าช้า ยังนำมาสู่ความเสียหายต่อเศรษฐกิจสังคมประเทศ และปัญหาอีกหลายเรื่องที่รอความชัดเจนทางนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา จึงไม่อยากให้มีการยื้อไม่ฟังเสียงประชาชนเพราะยิ่งทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสต่าง ๆ 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active