“พิธา” ยัน ดันร่างแก้ไข พ.ร.ก.ประมงที่ค้างสภาฯ ต่อทันทีที่เป็นรัฐบาล

เดินหน้าฟื้นฟูอุตสาหกรรมประมง ที่ได้รับผลกระทบจากการทำกฎหมาย IUU ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ตามข้อเรียกร้องเครือข่ายประมง 22 จังหวัด และธุรกิจต่อเนื่อง ย้ำหาสมดุลระหว่างการใช้ กับการรักษาทรัพยากรให้เกิดความยั่งยืน ด้านประธานสมาคมประมงฯ ย้ำ สนับสนุนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง  ประกาศเชิญชวนชาวประมงเดินทางให้กำลังใจ พิธา ในวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี 

เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.66  ที่ตลาดทะเลไทย มหาชัย จ.สมุทรสาคร  เวลา 13.00 น.กลุ่มชาวประมง และธุรกิจต่อเนื่อง นำโดยสมาคมประมงแห่งประเทศไทย สมาคมการประมงสมุทรสาคร และภาคีเครือข่ายประมง 22 จังหวัด ร่วมกันติดป้ายสะท้อนปัญหาผลกระทบที่ชาวประมงได้รับความเดือดร้อน จากการออกกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาไอยูยู ตามพ.ร.ก.ประมง ปี 2558 รวมถึงคำสั่ง กฎหมายลูก เช่นกฎทรวงต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคและส่งผลกระทบต่อการทำประมง เช่น การห้ามอวนรุนกุ้ง , โทษปรับต่างๆที่สูงกว่าอาชีพอื่น ปรับมากถึงหลักแสนหลักล้าน พร้อมทั้งตั้งคำถามว่าการเดินหน้าแก้ IUU ทำเพื่อใคร เพราะยิ่งทำให้ชาวประมงเดือดร้อน ก่อนจะมีการประชุมรับฟังเสียงสะท้อนและข้อเสนอของตัวแทนประมงกลุ่มต่างๆ 

ด้าน มงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมประมงแห่งประเทศไทย เปิดเผยก่อนการประชุมหารือกับตัวแทนชาวประมง และธุรกิจต่อเนื่อง ว่า ปัญหาสำคัญตอนนี้ที่เกิดขึ้นกับชาวประมง สืบเนื่องจากการแก้ IUU ซึ่งมีปัญหามา 8 ปี  โดยเฉพาะการออกกฎหมายประมงมีปัญหามาก  สิ่งที่สำคัญที่สุดที่รัฐบาลใหม่ควรจะทำเร่งด่วน คือแก้ไขการกฎหมายประมงทันที ซึ่งได้มีการผลักดันในเรื่องการแก้ไขกฎหมายประมงไว้แล้ว เมื่อปลายสมัยสภาฯที่แล้ว และผ่านวาระ 1 ไปแล้ว  คิดว่าอยากจะฝากว่าที่นายกรัฐมนตรีให้ช่วยเร่งแก้ปัญหาให้ชาวประมงโดยเร็วที่สุด ไม่เช่นนั้นธุรกิจประมงในประเทศจะพังทั้งหมด เพราะตอนนี้เสียหายอย่างหนัก

“ความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว แต่ประชาชนอาจจะไม่รู้ว่า ภาคประมงเราเสียหายปีละ 1.5 แสนล้านบาท  คิดดู 8-9 ปีแล้ว เศรษฐกิจถึงไม่ฟื้น และอย่าเข้าใจว่าเสียหายแค่ประมง ประมงเป็นแค่ต้นน้ำ แต่ส่วนต่างในภาคประมงทั้งหมดเสียหายด้วย ธุรกิจต่อเนื่องจากประมง ท่องเที่ยว เกษตร เพราะชาวประมงซื้อข้าว สินค้าอุปโภคบริโภคต่าง ๆ  จึงเกี่ยวเนื่องถึงพ่อค้าแม่ค้า  ประมงเป็นเศรษฐกิจฐานรากทั้งระบบ อยากให้รัฐบาลใหม่เข้ามาทำหน้าที่ เร่งแก้ไขตรงนี้ “ 

มงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมประมงแห่งประเทศไทย 

จากนั้นในเวลา 15.00 น.  พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี  พร้อมด้วย ส.ส.เขต ทั้ง 3 คน ที่ได้รับเลือกในทั้ง 3 เขตของจังหวัดสมุทรสาคร รวมทั้ง ส.ส.ที่ติดตามการแก้ไขปัญหาประมงอย่างต่อเนื่อง อาทิ  ศักดินัย นุ่มหนู ส.ส.จังหวัดตราด  , วรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ได้เดินทางมาที่ตลาดไทย เพื่อพบกับตัวแทนภาคีเครือข่ายประมง และธุรกิจต่อเนื่อง  ซึ่งได้เตรียมกาแฟส้ม และน้ำพริกปลาทูบรรจุในเข่ง มอบเพื่อเป็นการต้อนรับ พิธา ท่ามกลางบรรยากาศตัวแทนชาวประมงมาต้อนรับอย่างหนาแน่น พร้อมประกาศสนับสนุนให้นายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30  

โดย พิธาได้กล่าวขอบคุณที่ได้มอบคะแนนเสียงให้พรรคกาวไกลในทั้ง 3 เขต ของจังหวัดสมุทรสาคร  และแม้ว่าเขตจังหวัดชายฝั่งทะเลทางใต้ พรรคก้าวไกลจะได้ ส.ส.เขตน้อย แต่คะแนนที่เลือกพรรคก็มีจำนวนมาก จึงตั้งใจที่จะเดินหน้าไขปัญหาให้กับภาคประมงทุกภาคส่วน จากนั้นได้มีการหารือกัน โดยไม่เปิดให้สื่อมวลชนเข้ารับฟัง 

พิธา ยัน ดันร่างแก้ไข พ.ร.ก.ประมงที่ค้างสภาต่อทันทีที่เป็นรัฐบาล เดินหน้าฟื้นฟูอุตสาหกรรมประมงทั้งระบบ

พิธา เปิดเผยภยาหลังการหารือกับตัวแทนประมง ว่า เป็นแนวทางในการทำงานร่วมกันในการฟื้นฟูอุตสาหกรรมประมงที่ได้รับผลกระทบมาจากการทำกฎหมาย IUU  ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีการพูดคุยถึงสิ่งที่ได้มาในสภาที่แล้ว เรื่องเกี่ยวกับกฎหมายประมงหลาย ๆเรื่อง ที่มีโอกาสได้ทำงานร่วมกัน รวมถึงตั้งกรรมาธิการร่วมกัน 

และตอนนี้คิดเรื่องการวางแผนร่วมกัน ในการบริหารจัดการประมงให้ครบวงจร คือ ในระดับจังหวัด จะกระจายอำนาจการตัดสินใจในเรื่องของกำหนดเรื่องทะเลชายฝั่ง 

2.ในเรื่องระดับประเทศ ไม่ว่าเป็นแรงงานข้ามชาติที่ขาดไม่เพียงพอ  กฎหมายให้ได้สัดส่วน การอำนวยความสะดวกไม่ให้มีความซ้ำซ้อนในเรื่องการขออนุญาต การหาดุลระหว่างประมงพื้นบ้าน กับประมงพาณิชย์ การหาดุลระหว่างใช้ทรัพยากร กับการรักษาทรัพยากรไปด้วยกัน  

รวมไปถึงปัญหาระดับนานานาชาติ ในการหาน่านน้ำใหม่ๆทั่วโลก เพื่อให้ผู้ประกอบการประมงไทย สามารถที่จะใชีความรู้ความสามารถและโอกาสนี้ในน่านน้ำทั่วโลกได้ เพราะฉะนั้นก็คุยกันเป็นขยักแบบนี้ว่าระดับท้องถิ่นเป็นยังไง ระดับประเทศเป็นยังไง ระดับสากลเป็นยังไงก็วางแผนร่วมกัน 

ส่วนที่มีคำถามว่าการมาพบกลุ่มประมงในวันนี้ยังไม่ครอบคลุมทุกกลุ่ม  พิธา ยืนยันว่า  ต้องไปพบกลุ่มอื่น ๆด้วย แต่ครั้งนี้ ถึงแม้ว่าจะมีแค่ตัวแทน 22 จังหวัด แต่ก็มีตัวแทนประมงพื้นบ้าน ตัวแทนคนต่อเรือ มีตัวแทนห้องเย็น และตัวแทนแรงงาน เพราะฉะนั้นคิดว่าไม่ใช่แค่เรื่องตัวแทน 22 จังหวัด หรือประมงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่มีความครบถ้วนในเรื่องห่วงโซ่มูลค่าพอสมควร ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นต้องแก้ไขยังไง ติดกระดุมเม็ดแรกที่ไหน 

สำหรับเรื่องที่มีเครือข่ายประมงเรียกร้องให้ออกประกาศกำหนดชนิดและขนาดสัตว์น้ำวัยอ่อน ตามมาตรา 58 ซึ่งยังไม่มีการบังคับใช้ ทั้งที่เป็นมาตราที่จะเป็นการปกป้องรักษาทรัพยากรทางทะเล  นายพิธาบอกว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราต้องมาพูดคุยกัน 

“แน่นอนว่า ทั้งสมาคมประมงและพรรคก้าวไกล ก็เห็นร่วมกันอยู่แล้ว พรรคร่วมรัฐบาลก็เห็นร่วมกัน ว่าการที่จะหาสมดุลระหว่างการใช้ทรัพยากร กับการรักษาทรัพยากรให้เกิดความยั่งยืนเป็นสิ่งสำคัญ“ 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล

ทั้งนี้ยังยืนยันว่าจะผลักดันกฎหมายที่ค้างในสภาทั้ง 7 ฉบับทันที  โดยดูกระบวนการทางกฎหมายที่จะไม่ต้องมาเริ่มต้นกันใหม่ เพราะที่ผ่านมาน่าจะโหวตสภาแรกไปแล้ว และเท่าที่จำได้ คือสภาฯ ล่ม ทำให้การพิจารณาไม่ต่อเนื่อง 

ส่วนยังมีข้อถกเถียงข้อกังวลในร่างแก้ไขร่าง พ.ร.ก.ประมง  ที่ยังเห็นไม่ตรงกันอยู่หลายเรื่อง และอาจทำให้เกิดความขัดแย้ง  พิธาบอกว่าไม่กังวล เรื่องที่เห็นต่างยิ่งต้องเอาเข้าสภา เพราะสภาเป็นพื้นที่แก้ไขความขัดแย้ง คนที่เห็นด้วยไม่เห็นด้วย มีโอกาสจะพูดเท่ากันหมด มีประธานสภาในการควบคุม  มีการตั้งกรรมาธิการ มีการโหวต เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะมีความขัดแย้งแบบไหนเนี่ย เราควรจะใช้สภาและกระบวนการพิจารณาในการพูดคุยกัน ไม่มีใครสามารถผูกขาดวิธีการ ผูกขาดความจริงได้ 

และเท่าที่คุยกับ ประธานสมาคมประมงแห่งประเทศไทย ประมงพื้นบ้านและพาณิชย์ เขาคิดการแก้ปัญหาเป็นระบบ 3 เดือนแรก, 1 ปีแรก และ 3 ปีแรก ต้องทำอะไรบ้าง อะไรทำได้เลย อะไรต้องรอกฎหมายก่อน ก็ได้นำเสนอ ต้องขอเวลากลับไปหารือว่าอะไรทำได้ ทำไม่ได้ ส่วนตัวคิดว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องมีการทำงานของรัฐบาลกับเอกชนจริง ๆ 

“รัฐบาลจะคิดเองเออเองทั้งหมดไม่ได้ ขณะเดียวกันเอกชนก็ต้องนึกถึง วิธีการทำงาน คนที่มีส่วนได้เสียในอุตสาหกรรมทั้งหมด ที่วันนี้นั่งในห้องประชุม ผมก็เห็นว่า คนมีส่วนได้ส่วนเสียเยอะมาก ถ้าขาดเหลืออะไรก็ต้องเพิ่ม หรือถ้าให้ดีสุดคือทุกคนอยู่ในระบบประชาธิปไตย ก็ใช้ตัวแทนเข้ามาพูดคุยได้อยู่แล้ว“ 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล

เมื่อถามว่าจะมีการพบรับฟังเสียงกลุ่มประมง และภาคประชาชนสายอนุรักษ์ทรัพยากรหรือไม่  พิธาตอบว่า แน่นอนว่าติดต่อมาหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเขตทะเลชายฝั่ง ที่ตอนนี้กำหนด 3 ไมล์ทะเลทั้งหมด ทำให้ประมงพื้นบ้านทำงานไม่ได้ บางพื้นที่เหมาะ เป็น 12 ไมล์ทะเล อย่างเมื่อกี้ได้ฟังพี่น้องชาวระนองเล่าให้ฟังว่า ทางเหนือก็ติดชายแดนพม่าแล้ว ลงมาข้างล่างก็ติดเขตอุทยาน ทำให้พื้นที่ทำมาหากินของเขามันต่างจากการทำประมงทั่วไป ฟังดูแล้ว จะตัดเสื้อโหลใส่ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ต้องกระจายอำนาจให้ประมงจังหวัด เร่องนี้มีความสำคัญ

รวมถึงเรื่องประกันภัย โดยประมงพื้นบ้านบอกว่า ภัยพิบัติรุนแรงขึ้น ช่วงนี้ก็ทำประมงได้ยาก เรือล่มเยอะก็ทำประมงลำบาก ดังนั้นการเสนอทำประกันภัยโดยรัฐบาลออกให้ ทำให้พี่น้องประมง ที่อยู่ในกลุ่มอนุรักษ์ไปต่อได้  โดยเชื่อว่าทุกคนก็จะพอใจในสิ่งที่เรานำเสนอ แต่แน่นอนยังสามารถคุยกันได้ในชั้นสภา 

หวังโอกาส เสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาล เดินหน้าแก้ กม.ประมงทันที พร้อมแก้ปัญหาประมงทั้งระบบ

มงคล กล่าวภายหลังหารือและยื่นข้อเสนอต่อพิธาว่า  อยากให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณากฎหมายลูกที่เป็นปัญหา ภายใน 90 วัน เห็นภาพชัดเจน กฎหมายแม่ก็มีการเสนอให้ออกเป็น พ.ร.ก. ประมงไปเลย แต่ต้องดูรัฐบาล เพราะอาจจะไปหยิบไปออกเป็นพ.ร.บ.หรือไม่ก็ทำได้  ซึ่งสามารถแก้ได้ทันที ร่างกม.ที่ทำไว้แล้ว เสนอ 7 ฉบับ ตอนนี้รวมเป็นร่างสมบูรณ์แล้วตนเห็นว่าเดินหน้าได้เลย 

“ทำเสร็จแล้ววาระที่ 1 เห็นพ้องต้องกัน ตัวนี้เราสามารถหยิบขึ้นมาประกาศเป็น พ.ร.ก.ได้ หรือ พ.ร.บ.ก็ได้ อันนี้คือแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เป็นผลพวงจาก คสช.ก่อน”

มงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมประมงแห่งประเทศไทย

อีกส่วน คือการแก้ปัญหาทั้งระบบ โดยตั้ง กมธ.วิสามัญสภาฯ มาพิจารณาปัญหานี้ทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายประมง เจ้าท่า แรงงาน ที่เกี่ยวข้องให้แก้ทั้งระบบ ทำให้ปัญหาได้รับการแก้ไขที่ตรงประเด็นครอบคลุม

มงคล ยังมองถึงความหวังหากพรรคก้าวไกลได้จัดตั้งรัฐบาล เพราะตัวแทนประมงไม่ได้เพิ่งจะพบกับ พิธา แต่ก่อนเลือกตั้ง ทางนายพิธาก็มาพบชาวประมงทั้ง 22 จังหวัด และรู้ปัญหาอยู่แล้ว และหวังเห็นโอกาสที่พรรคประชาธิปไตยจะเป็นรัฐบาล ตรงนี้สะท้อนว่า ถ้าได้เป็นรัฐบาล เร่งดำเนินการแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชน 22 จังหวัดทันที มีความคาดหวังสูงมาก พี่น้องประมงรอไม่ได้ จึงจะเดินทางไปให้กำลังใจนายพิธาในวันที่ 13 ที่จะมีการโหวตนายกรัฐมนตรีด้วย ทั้งนี้อยากให้ทุกฝ่ายเคารพเสียงและเจตจำนงของประชาชน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active