คณะทำงานฯ ย้ำ แก้ปัญหาชายแดนใต้ ยึดตามรัฐธรรมนูญ

ตัวแทนคณะทำงานแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ หนึ่งในคณะทำงานเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ยืนยัน ไทยเป็นรัฐเดี่ยว แบ่งแยกดินแดนไม่ใช่ทางเลือกเดียว แต่ต้องรับฟังคนเห็นต่าง เปิดพื้นที่พูดคุย เชื่อกระจายอำนาจ เดินสู่สันติภาพได้จริง ด้าน รองแม่ทัพภาคที่ 4 ระบุแถลงการณ์ ‘ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ’ หมิ่นเหม่ เล็งสร้างความเข้าใจ มากกว่าใช้กฎหมาย

จากกรณี ‘องค์กรขบวนนักศึกษาแห่งชาติ’ จัดงานเปิดตัวองค์กร เปลาจาร์ บังซา (Pelajar Bangsa) พร้อมทั้งมีปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “การกำหนดอนาคตตนเอง” ซึ่งจัดขึ้นที่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา

นำโดย อิรฟาน อูมา ประธานขบวนนักศึกษาแห่งชาติ โดยมีรายงานว่า กลุ่มดังกล่าวเป็นการกลับมารวมกลุ่มกันทำกิจกรรมของนักศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งแรก หลังจาก สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี หรือ เปอร์มาส (PerMAS) ยุติบทบาทองค์กรไปเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564

ภายในงานพบว่ามีการแจกบัตรกระดาษ ระบุ หัวข้อว่า “คุณเห็นด้วยกับ สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง หรือไม่ ที่จะให้ประชาชนปาตานีสามารถออกเสียงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชได้อย่างถูกกฎหมาย” โดยมีช่องลงคะแนนให้เลือกระหว่าง เห็นด้วย และ ไม่เห็นด้วย โดยระบุข้อความด้านล่างว่า “ให้กับชาวปาตานี : ผู้ที่ลงทะเบียน ว่า อาศัยอยู่ถาวรในพื้นที่ปาตานีหรือ จ.นราธิวาส, จ.ปัตตานี, จ.ยะลา และ จ.สงขลา (เฉพาะ อ.จะนะ, อ.นาทวี, อ.เทพา และ อ.สะบ้าย้อย)” นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมอย่างกว้างขวาง แน่นอนว่า ประเด็นนี้กลายเป็นจุดสนใจของฝ่ายความมั่นคง และ ผู้สังเกตการณ์สถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ล่าสุด วันนี้ (9 มิ.ย.66) การประชุมครั้งแรกของ คณะทำงานแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ หนึ่งในคณะทำงานประสานงานช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ที่มีตัวแทนจาก 8 พรรคการเมือง ซึ่งมีทั้งบุคคลสำคัญ และผู้ที่มีบทบาทในพื้นที่ชายแดนใต้ เข้าร่วม

คณะทำงานฯ ยืนยัน ‘สันติภาพชายแดนใต้’ ยึดกรอบรัฐธรรมนูญ

รอมฎอน ปันจอร์ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะคณะทำงานแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ แถลงหลังการประชุม ระบุถึงกรณีการเปิดตัวของขบวนนักศึกษาแห่งชาติ ว่า สัมผัสได้ถึงความห่วง กังวล ของสังคม ซึ่งในนามของว่าที่รัฐบาลใหม่ ยืนยันว่า การทำงานแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ ยังคงยึดหลักการภายใต้รัฐธรรมนูญ ด้วยสถานภาพของรัฐเดี่ยว แต่เป็นรัฐเดี่ยวที่ต้องกระจายอำนาจ เพื่อให้ประชาชนสามารถกำหนดแนวทางของตัวเองได้ภายใต้กรอบกฎหมาย พร้อมทั้งเชื่อว่า การแก้ไขปัญหาความไม่สงบชายแดนใต้ ทุกฝ่ายต้องร่วมกันแสวงหาฉันทามติ เปิดโอกาสให้ได้พูดคุยกันอย่างสาธารณะ เปิดพื้นที่แสดงความคิดเห็น และการแก้ปัญหาในประเด็นที่ละเอียดอ่อนต้องค่อยเป็นค่อยไป

“เรายืนอยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ แน่นอนว่ากำลังพูดถึงสถานภาพรัฐเดี่ยว แต่เป็นรัฐเดี่ยวที่มองไปข้างหน้า เน้นไปที่การกระจายอำนาจ แชร์อำนาจไปสู่ท้องถิ่น ซึ่งรัฐบาลเราอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญไทย แต่ทั้งหมดนี้ต้องอยู่ภายใต้พื้นที่การรับฟัง การแสดงความคิดเห็น สามารถพูดคุยถกเถียงกันได้ ถ้าพูดถึงเรื่องนี้เรามีทางเลือกเยอะแยะ ทั้งในเฉดความคิดที่แตกต่างกันสุดขั้ว ก็ต้องพุดคุยกัน ถกเถียงกัน อย่างมีสติ อดทนอดกลัน เราน่าจะเห็นทางเลือกที่ดีกว่านี้ได้

รอมฎอน ปันจอร์

คณะทำงานแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ ไม่ห่วงกรณีที่เกิดขึ้น จะยิ่งสร้างความขัดแย้ง เพราะมองว่า ยิ่งต้องการความกล้าหาญทางการเมืองของรัฐบาลใหม่ เพื่อเผชิญโจทย์ยาก ด้วยการใช้แนวทางพูดคุยกับคนที่คิดแตกต่างหลากหลายได้ ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ

ส่วนการประชุมครั้งแรกของคณะทำงานแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ วันนี้ มีบุคคลสำคัญที่มีบทบาทในพื้นที่ และการแก้ปัญหาความไม่สงบ ซึ่งเป็นตัวแทนของทั้ง 8 พรรคเข้าร่วม สาระของการประชุม เน้นไปที่การวางกรอบทำงานกว้าง ๆ และมุมมองต่อแนวทางการแก้ปัญหาความไม่สงบ โดยการคิดใหม่ ต่อแนวทางสร้างสันติภาพ ที่ต้องสร้างความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน และสันติภาพต้องมาพร้อมกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องด้วย โดยการประชุมครั้งต่อไป จะจัดขึ้นที่พรรคประชาชาติ ในวันที่ 19 มิถุนายนนี้

พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 4

กอ.รมน.ภาค 4 สน. เล็งทำความเข้าใจ มากกว่าใช้กฎหมาย

ก่อนหน้านี้ ผู้สื่อข่าว Thai PBS รายงานว่า พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 และ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ชี้แจงว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก ขณะที่แถลงการณ์จาก กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ชี้ถึงสิ่งที่ขบวนนักศึกษาแห่งชาติสื่อสารออกมา มีหลายประเด็นที่ล่อแหลม หมิ่นเหม่ และอาจเข้าข่ายการละเมิดหลักกฏหมาย ซึ่งการลงประชามติเพื่อแยกตัวเป็นเอกราชไม่สามารถทำได้ และเป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งรัฐ ซึ่งกฎหมายรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้

“โดยมาตรการขั้นต่อไป ไม่ใช่การเอากฎหมายไปหว่านครอบทันที แต่จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนของการพูดคุยทำความเข้าใจกับประชาชนทั่วไป และอีกส่วน คือการสื่อสารทำความเข้าใจวิธีคิดของนักกิจกรรมกลุ่มนี้”

พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์

ขณะที่ แต่ตัวแทนกลุ่มขบวนนักศึกษาแห่งชาติ ให้ข้อมูลอีกด้านกับผู้สื่อข่าว Thai PBS ว่า เจตนารมณ์คือการเปิดตัวกลุ่มเยาวชนที่รวมตัวกันได้ประมาณ 1 ปี หลังในช่วง 2-3 ปี แทบไม่มีการเคลื่อนไหว พร้อมยืนยันว่า ไม่ได้มีเจตนาแบ่งแยกดินแดน เพราะหากดูรายละเอียดการจัดงานทั้งหมด จะเห็นถึงความพยายามแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เพื่อหาทางออกสร้างสันติภาพ ส่วนการแจกบัตรกระดาษ คือ การลงประชามติจำลอง ว่าเห็นด้วยกับการทำประชามติ เรื่องการเป็นเอกราชหรือไม่ ไม่ได้ถามว่าต้องการแบ่งแยกดินแดนเพื่อเป็นเอกราชหรือไม่ และส่วนท้ายของบัตร เน้นย้ำว่า ทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้กฎหมายไทย

ด้าน ผศ.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มองว่า ภายในงานมีทั้งนักวิชาการ นักการเมือง และเยาวชน ที่ได้แสดงออกทางวิชาการเป็นหลัก ซึ่งการแจกบัตรประชามติจำลอง ไม่อาจพูดได้ว่าเป็นการทำประชามติ แต่เป็นเพียงการสอบถามคนที่ร่วมงาน จึงอยากให้สังคมเปิดใจให้กว้างพอ ที่จะเปิดรับความคิดต่าง เพราะแม้แต่หน่วยงานของรัฐ อย่างสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) รวมทั้ง ภาควิชาการหลายแห่ง ก็เคยทำวิจัยเรื่องนี้มาก่อน ส่วนข้อกังวลว่า จะนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน ก็เป็นเรื่องยาก ยังห่างไกลและซับซ้อนมาก

“ท่าทีของ กอ.รมน. ต้องระมัดระวัง เพื่อไม่ให้กระทบกับการพูดคุยสันติสุข ระหว่างรัฐไทย และบีอาร์เอ็น เพราะการปรึกษาหารือกับประชาชนเพื่อนำไปสู่การแสวงหาทางออกทางการเมือง เป็นหนึ่งในหัวข้อ ที่ถูกบรรจุระหว่างการจัดทำแผนปฎิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม หรือ JCPP”   

ผศ.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active