ตรวจการบ้าน 1 ปี กรุงเทพฯ ในยุค ‘ชัชชาติ’

นักวิชาการ ชี้ นโยบายเส้นเลือดฝอยโดดเด่น แต่สังคมคาดหวังการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน ‘ทวิดา’ สะท้อนข้อจำกัดเชิงโครงสร้างอำนาจมีข้อจำกัด

2 มิ.ย. 2566 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดเสวนา “ตรวจการบ้าน 1 ปี
แรก กรุงเทพมหานครในยุค ผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” โดยมีตัวแทนจากกรุงเทพมหานคร นักวิชาการเข้าร่วมเสวนา

รศ.วสันต์ เหลืองประภัสร์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า กทม. เป็นหน่วยงานที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงปฏิรูประบบภายในของ กทม. 2 เรื่องใหญ่ คือ 1. การทำงานพัฒนาที่เป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละเขตทั้ง 50 เขต หรือ แนวโน้มการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ เขต 2. งานบริการสาธารณะ ที่หลากหลายมากขึ้น และรูปแบบใหม่ ๆ ของงานสาธารณะที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ใช่ภารกิจทั่วไปที่ กทม. ทำอยู่แล้ว

ซึ่งภาพรวม 1 ปีการทำงาน ได้เห็น กทม. พยายามก้าวข้ามอุปสรรค เพื่อไปสู่การเปลี่ยนแปลง โดยการพยายามใช้เทคโนโลยีเข้ามาดำเนินการร่วมกับนโยบายใหม่ ๆ แตกต่างไปจากภาพจำเดิม ๆ ของระบบราชการ แม้ว่าจะมีผู้ว่าฯ กทม. ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ยังต้องต่อสู้กับระบบเดิม ที่เป็นระบบราชการ มีหลายประเด็นที่พบว่า ติดขัดระเบียบ หรือ การหาทางออก ต่อประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงการแจ้งต่อประชาชนหรือสังคม เพื่อให้เรื่องเหล่านี้ เป็นประเด็นสาธารณะ เพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจที่แท้จริง และทำให้เมือง ท้องถิ่น หรือ มหานครอย่างกรุงเทพฯ ได้มีศักยภาพพัฒนาเมืองได้เต็มที่

“การแก้กฎหมายง่ายกว่าเปลี่ยนนายกฯ หรือ เปลี่ยนรัฐบาล แต่ทำไมกฎหมายหลายตัวถึงไม่แก้ไข ซึ่งมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประเด็นต่าง ๆ ซึ่งระยะยาวการแก้กฎหมายกระจายอำนาจ เป็นเรื่องสำคัญ ในระยะยาวอยากให้ กทม. เป็นต้นแบบของการริเริ่มเรื่องใหญ่ ๆ ไปพร้อมกัน อย่างเรื่องโครงสร้างและการบริหารจัดการส่วนท้องถิ่นของตัวเอง เช่น ระบบการจ้างงาน เพราะการจ้างงานภายใต้ระบบราชการเป็นการจ้างแบบผูกขาด แต่การจ้างงานภาครัฐมีอีกหลายวิธี ให้มีเงื่อนไขการจ้างงานหลายแบบที่สอดรับกับการทำงานในวิชาชีพอื่น ๆ ได้ ไม่ว่าจะจ้างระยะสั้น จ้างระยะยาว ถ้าสามารถพัฒนาระบบนี้ได้ ก็จะได้ดึงดูดคนเก่ง ๆ เข้ามาร่วมทำงาน ถ้า กทม. ขยับก่อน ในเรื่องการกระจายอำนาจ การบริหารท้องถิ่นก็จะเป็นตัวอย่าง การสร้างความเปลี่ยนแปลง และจะช่วยจุดประกายสร้างกระแส ให้ท้องถิ่นอื่น ๆ หรือภาครัฐอื่น ๆ ได้”

ธีรพัฒน์ อังศุชวาล อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ม.มหิดล กล่าวว่า การทำให้เมืองน่าอยู่ ไม่ใช่แค่โครงสร้างกายภาพ แต่รวมถึงอารมณ์ของผู้คนด้วย แต่สิ่งที่ กทม. ต้องไปต่อคือ ความยั่งยืนในการแก้ปัญหาโครงสร้างด้วยความยืดหยุ่นและเป็นธรรม มีกระบวนการที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมหลาย ๆ รูปแบบ และต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งจะทำให้ความเป็นเมืองน่าอยู่มากขึ้น ซึ่งการบริหาร กทม. ในยุคนี้ มองเห็นนโยบายที่ชัดเจนมากขึ้น ตั้งแต่การหาเสียงเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. ที่ชูนโยบายเป็นหลัก

“นโยบายหนึ่งจะสำเร็จหรือไม่ มันมีความซับซ้อน ไม่ใช่แค่เรื่องที่จับต้องได้ชัด ๆ แต่มันมีมิติอื่น ๆ ด้วย เช่น มิติเชิงกระบวนการ มิติเชิงการเมือง ที่สังคมต้องเรียนรู้ด้วยว่ามันกว้างกว่านั้น ซึ่งภาพใหญ่ คนอาจไม่เข้าใจว่านโยบายเส้นเลือดฝอยสำเร็จได้อย่างไร แต่ กทม. อาจต้องทำการบ้านและสื่อสารให้ชัดเจนขึ้น ทำให้เห็นได้ชัดว่า เมืองเริ่มมีชีวิต การส่งเสริมโอกาสให้กลุ่มคนต่าง ๆ การวางเครือข่ายการทำงาน สร้างภาวะผู้นำที่มีความฉลาด เห็นอกเห็นใจ การให้ประชาชนเข้าถึงการมีส่วนร่วม กิจกรรม หรือ ส่งเสียงสะท้อนต่าง ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สำคัญ ที่ กทม. กำลังเปลี่ยนแปลงชัดเจนในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา มันจับต้องไม่ได้แต่มันคือนโยบายที่มีชีวิต”

ธีรพัฒน์ กล่าวต่อว่า ระบบราชการ กทม. มีความซับซ้อนท้าทายและน่าตื่นเต้น เรื่องนี้ผู้บริหาร กทม. จะทำอย่างไรให้อำนาจการบริหารสอดคล้องกับความเป็น กทม. ที่เป็นองค์กรปกครองพิเศษ รวมถึง กฎ ระเบียบต่าง ๆ งบประมาณที่ กทม. สามารถใช้ได้จริง และภารกิจของ ผู้ว่าฯ กทม. ยุคใหม่ ที่เข้าไปจัดการเมืองในมิติต่าง ๆ ที่ต้องร่วมกับหลายหน่วยงานที่ทับซ้อน เช่น เรื่อง ฟุตบาธ ไฟส่องสว่าง การจัดระเบียบสายไฟ ซึ่งการแก้โครงสร้างหรือการบริหารความคาดหวังเป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน

“ปัญหาสังคม กระบวนการเชิงนโยบายเปลี่ยนไปมากแล้ว แต่ พ.ร.บ.กทม. จะให้แบกรับโครงสร้างแบบเก่ามารับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ เป็นเรื่องที่ยากมาก ผู้ว่าฯ ไม่ใช่พ่อเมืองแบบเจ้าพ่อ พ่อทุกสถาบัน แต่คือการที่ทำงานกับคนเก่ง ๆ อีกมากมาย ประสานงาน อำนวยการเพื่อสร้างบรรยกาศการชนคนมาสร้างเมือง พัฒนาเมืองของเรา ต้องพยายามทำเรื่องนี้อย่างมาก ซึ่งความยั่งยืนทางการเมืองคือต้องแก้กฎหมาย สร้างสมดุลความสำเร็จจากการออกแบบเชิงนโยบาย ทำเส้นเลือดฝอยแล้ว ทำเรื่องเส้นเลือดใหญ่ให้มากขึ้นให้คนได้เห็นว่าเราทำอะไรอยู่ ความสำเร็จปลายทางไม่พอ ต้องเชื่อในความก้าวหน้าร่วมกัน”

Sandbox โมเดลทดลองทำเรื่องใหม่ แต่ข้อจำกัดใหญ่คือโครงสร้างอำนาจ

รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า กทม. ได้จัดโครงสร้างการทำงาน ประกอบด้วย 20 สำนัก และสำนักงานเขต 50 เขต ซึ่งหากเลือกตั้ง ผอ.เขต ทั้ง 50 เขตในอนาคต ไม่ปฏิเสธไอเดียนี้ ส่วนการใช้ระบบร้องเรียนผ่าน “ทราฟฟี่ ฟองดูว์” เป็นระบบที่แก้ปัญหา เช่น ระบบไฟฟ้าขัดข้อง ภายใน 24 ชั่วโมง ต้องเริ่มดำเนินการ และแก้ให้เสร็จใน 72 ชั่วโมง ปัญหาที่แก้ช้าสุดที่เคยเกิดคือ 1 เดือนครึ่ง กทม. พยายามทำให้เรื่องการปัญหาของประชาชน ทำให้ถูกแก้ได้ทันที โดยไม่ต้องมีระบบหนังสือร้องเรียน หรือ ระบบราชการ

“การใข้ระบบทราฟฟี่ฟองดูว์ เป็นการตอบโจทย์ประชาชน ที่ได้รับการตอบสนองและการติดตามเรื่อง โดยที่ผู้ว่าฯ กทม. รองผู้ว่าฯ และผู้บริหารเขตทุกคนเห็นพร้อมกันหมด ซึ่งภายใน 1 ปีที่ผ่านมา มีเรื่องเข้ามากว่า 3 แสนเรื่อง เป็นเรื่องที่ กทม. สามารถแก้ไขปัญหาได้เอง และการส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องข้ามหน่วยงาน ภายใน และข้ามหน่วยงานภายนอก ที่สำคัญ คือ การกระจายอำนาจในมิติประชาธิปไตย ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมแท้จริง”

รศ.ทวิดา กล่าวด้วยว่า การทำแซนด์บ็อกซ์ เปิดพื้นที่ให้ กทม. เคลื่อนไหวเรื่องใหม่ ๆ เช่น บ้านหนังสือ และอยู่ระหว่างการยกสำนักดิจิทัล ออกจากสำนักยุทธศาสตร์ กทม. เพื่อผลักดันไปเป็น “มหาชน” ซึ่งมีบุคลากร 200 คน โดยต้องใช้เวลาอีกระยะ และต้องหารือร่วมกับ บ.กรุงเทพธนาคม ถึงแนวทางที่เป็นไปได้ ขณะเดียวกันยังได้ทำ “ดาต้า ซิสเต็ม” เพื่อบริหารเขตต่าง ๆ ตามความเหมาะสมของพื้นที่ หากมีรัฐบาลใหม่ใหม่ จะมี พ.ร.บ. ของ กทม. หลายตัวที่ถูกเสนอแก้

“สิ่งที่ กทม. ทำ กำลังถูกตรวจสอบจากประชาชน จากเสียงสะท้อนต่าง ๆ หรือ เสียงสะท้อนจากในโซเชียลมีเดีย ซึ่งนโยบายเส้นเลือดฝอย ที่ กทม. กำลังเดินหน้า แต่นโยบายเส้นเลือดใหญ่ กทม. ก็ทำเช่นกัน ซี่ง 3 ปีที่เหลือจากนี้ เรามีทั้งนโยบายเส้นเลือดฝอย และเส้นเลือดใหญ่ ที่ไม่ได้ละเลย หรือเน้นเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่เสียงสะท้อนของประชาชน จะเป็นสิ่งดีที่ทำให้เราทีมผู้บริหาร หันกลับมามองว่าเราต้องคิดและทำอะไรต่อ นอกจากที่เราทำกันอยู่แล้ว เราก็ตั้งคำถามกันเองว่าการทำนโยบายเส้นเลือดฝอยมันดีจริงไหม เพราะเราทำงานกับคนทุกมุมเมือง ทำให้มันมี noise กระจายอยู่ทั่วเมือง แต่เพราะคนเหล่านั้นอาจจะไม่ได้มี voice ที่ดังพอ คนไม่ได้รู้สึกว่าต้องพูดต่อกัน บางคนก็เลยไม่รู้ว่าเรากำลังทำงานเพื่อเมืององค์รวมกันอยู่”

รศ.ทวิดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของโครงสร้างก็มีปัญหา เพราะ พ.ร.บ.การกระจายอำนาจเป็นแค่กรอบหลักการ แต่ในรายละเอียดหน่วยงานราชการต่าง ๆ ยังติดอยู่กับ พ.ร.บ.ที่กำกับตัวเองอยู่ จะทำอะไรต้องอิงกับข้อบัญญัติต่าง ๆ ที่มี ทำให้ติดข้อจำกัดเยอะมาก แต่เราก็พยายามจะก้าวข้าม อย่างการไฟฟ้า หรือประปาเราก็ไม่สามารถไปสั่งเขาได้ เราทำได้เพียงแต่สร้างความร่วมมือกัน เพื่อแชร์ข้อมูลบูรณาการทำงาน หรือในเรื่องสาธารณสุข มีโรงพยาบาลในสังกัด 12 โรงพยาบาล 2,600 เตียง 5.4 ล้านคน ในทะเบียนบ้าน ประชากรนอกทะเบียน 10 ล้านคน บางครั้งก็ยอมรับว่าล้มเหลวในการจัดการทรัพยากรที่มีจำกัด กับความต้องการที่เกินกว่า เรื่องนี้ต้องหารือกับรัฐส่วนกลางต่อไปว่าจะทำอย่างไรเพื่อแก้ไขข้อจำกัดในเชิงโครงสร้างผ่านการแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ที่มีอยู่เดิม

ในส่วนของการดูแลเจ้าหน้าที่ข้าราชการในสังกัด ทีมบริหารพยายามปรับโทนความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ เราพยายามบอกเขาว่ามีอะไรให้บอก ในที่ประชุมสามารถที่จะถกเถียงกันได้ สร้างบรรยากาศให้เหมือนกับว่าทุกคนเป็นเพื่อนร่วมงานกัน แต่ต้องบอกว่าระบบการบริหารทำให้ผู้บริหารถูกยกระดับ และเปลืองทรัพยากรมาก เช่น ที่ทำงานผู้บริหารแบ่งกันคนละหนึ่งชั้น

“ตอนนี้เริ่มปรับปรุงเรื่องบ้านพักข้าราชการ สวัสดิการครู สวัสดิการเจ้าหน้าที่ กำลังทำเรื่องการพัฒนาทรัพยากรบุคคลในเรื่องตำแหน่งงาน เราพยายามทำหลักสูตร 5 นักจัดการ ด้านต่าง ๆ สามารถปรับกลุ่มงานที่สอดคล้องกันได้ ให้เรียนรู้งานของเพื่อนได้ สามารถเติบโตเชิงทำตำแหน่งแบบทแยงมุมได้ มีนโยบายเรื่องความยืดหยุ่นในช่วงเวลาทำงาน และเปิดโอกาสให้บางตำแหน่งสามารถทำงานที่บ้าน ก็จะช่วยสร้างบรรยากาศใหม่ ๆ ในการทำงาน ช่วยทำให้ความเครียดจากที่ทำงานลดน้อยลง”

รศ.ทวิดา กล่าวในช่วงท้ายว่า นอกจากนี้เราพยายามศึกษาเรื่องเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม เพื่อทำความเข้าใจเรื่องยาก ๆ ที่จัดการไม่ได้ เช่น เรื่องของการแยกขยะของประชาชน ทำความเข้าใจ และแก้ปัญหาแต่ละจุด ก็พบว่าช่วยทำให้คนสามารถแยะขยะได้ง่ายขึ้น และเป็นส่วนช่วยในการลดภาระเจ้าหน้าที่ 

“ประเมินให้ตัวเอง C+ B เรารู้ว่า เราอาจจะทำได้ไม่ทันใจแต่เราก็สู้ต่อ ที่ต่อว่าทุกช่องทาง เราก็รับไว้ และกลับมาทบทวนตัวเอง เพื่อทำใหม่ หวังว่าจะได้รับความร่วมมือต่อไป เพื่อหวังว่าจะทำให้ความสำเร็จเกิดขึ้นในเร็ววัน”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active