ภาคประชาชน ฝากพรรคการเมือง ยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง หยุดสนับสนุนนโยบายอบายมุข เปิดผลสำรวจ ชี้ชัดไม่เห็นด้วยกัญชา-เหล้าเสรี ปล่อยผีพนันออนไลน์ บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย ย้ำรัฐบาลใหม่ เร่งสร้างกลไกรับมืออบายมุข มอมเมาประชาชน ขอนโยบายรัฐ – นักการเมืองเป็นมิตร ปกป้องเด็ก เยาวชน
วันนี้ (14 มี.ค.66) เครือข่ายนักวิชาการ องค์กรด้านเด็ก เยาวชน ครอบครัว แรงงาน และกลุ่มเปราะบางหลายองค์กร ร่วมกันจัดเวทีเสวนา “เสียงประชาชน กับอบายมุขถูกกฎหมาย : มองนโยบายเลือกตั้ง 66” พร้อมเปิดผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน ต่อ “เหล้า – กัญชาเสรี – บุหรี่ไฟฟ้า – กาสิโน – พนันออนไลน์ถูกกฎหมาย”
ประชาชน เมิน ‘อบายมุข’ ถูกกฎหมาย
ศ.พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) ระบุถึงผลการสำรวจความเห็นประชาชนต่อนโยบายของพรรคการเมืองต่าง ๆ เช่น กัญชาเสรี, สุราเสรี, การปลดล็อกบุหรี่ไฟฟ้า, บ่อนคาสิโนถูกกฎหมาย หรือ เปิดเว็บไซต์พนันออนไลน์ถูกกฎหมาย พบว่า ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายเหล่านี้
โดยเฉพาะ กัญชาเสรีนั้น ประชาชน 56.1% ไม่เห็นด้วยกับการปลดออกจากยาเสพติด และ 53.9% ไม่เห็นด้วยที่อนุญาตให้ประชาชนปลูก และนำมาใช้ในครัวเรือน
ส่วนเรื่องแอลกอฮอล์ ผลสำรวจพบว่า ประชาชน 55.5% ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอยกเลิกมาตรการควบคุมเวลาห้ามขาย ในขณะที่ 69.5% ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอให้ยกเลิกการห้ามขายเหล้า/เบียร์ ในวันสำคัญทางพุทธศาสนา อีก 78.1% ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอยกเลิกการห้ามขายห้ามดื่มในสถานศึกษา และ 61.7% ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอให้โฆษณาได้อย่างเสรี
สำหรับการพนัน พบว่า 70.7% ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอให้มีบ่อนกาสิโนถูกกฎหมาย และ 73.3% ไม่เห็นด้วยให้การพนันออนไลน์ถูกกฎหมาย
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา จึงมีข้อเสนอในประเด็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คือ 1. มีมาตรการควบคุมวัน เวลาการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จำกัดสถานที่จำหน่าย สถานที่บริโภค และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด 2. การกำหนดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขการควบคุมการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย ควรจะแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงการขอใบอนุญาตการผลิต ช่วงการผลิต และช่วงการชำระค่าธรรมเนียมการผลิตและการต่ออายุ โดยการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องขอใบอนุญาตทุกกรณี และการกำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตควรแบ่งตามประเภทของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และตามจำนวนแรงงานในการผลิต
ย้ำ! ‘ไม่เลือก’ พรรคการเมือง ออกตัวหนุนอบายมุขเสรี
ผศ.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) บอกว่า ผลการสำรวจความคิดเห็นต่อนโยบายของพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมและปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาวะของประชาชนและสังคม พ.ศ. 2566 พบว่า มีประชาชนเพียง 2.1% จะเลือกพรรคการเมืองที่เสนอนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนอบายมุขในรูปแบบต่าง ๆ ให้ถูกกฎหมายอย่างแน่นอน และ 5% ที่เห็นว่า นโยบายดังกล่าว มีผลให้น่าเลือกมากขึ้น ในขณะที่ 24.3% เห็นว่า จะไม่เลือกพรรคการเมืองที่เสนอนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนอบายมุขถูกกฎหมายอย่างแน่นอน และอีก 16.1% เห็นว่า นโยบายดังกล่าว มีผลให้น่าเลือกน้อยลง โดยระบุความคิดเห็นต่อนโยบายปลดล็อคบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย ว่า จะส่งผลเสียมากกว่าสร้างประโยชน์ถึง 47% และมีประชาชนเพียง 6.5% เท่านั้นที่เห็นว่านโยบายดังกล่าว สร้างประโยชน์มากกว่าผลเสีย
“ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ ขอสนับสนุนการคงกฎหมายห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า เพราะบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายต่อการพัฒนาสมองของเยาวชน และจะทำให้เป็นผู้เสพติดนิโคตินไปตลอดชีวิต”
ผศ.นพ.วิชช์ ยังเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรณรงค์เรื่องพิษภัยสูบบุหรี่ไฟฟ้าอย่างจริงจัง ดังนี้ 1. การบรรจุเข้าเป็นหลักสูตรการเรียนสำหรับนักเรียนประถม มัธยม รวมทั้งอุดมศึกษา ด้วยการใช้ช่องทางออนไลน์ปลูกฝังให้เกิดค่านิยมไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชนคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะเยาวชนหญิงที่เป็นเป้าหมายสำคัญของผู้ขายบุหรี่ไฟฟ้า 2. เร่งสร้างความเข้มแข็งให้กับกระบวนการควบคุมการเสพบุหรี่ไฟฟ้าในทุกระดับ โดยกำชับให้หน่วยงานที่รับผิดชอบตามกฎหมายปราบปรามการโฆษณา การลักลอบนำเข้าและขายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างผิดกฎหมาย 3. การเฝ้าระวังกลยุทธ์การตลาดและกลยุทธ์การแทรกแซงนโยบายการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าของกลุ่มผู้ขายและกลุ่มผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้าผ่านตัวแทนที่เข้ามาให้ข้อมูล ให้การสนับสนุน และเสนอให้มีการยกเลิกกฎหมายที่ใช้ในการควบคุม ทั้งนี้ เพราะบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าทำลายสุขภาพ รวมถึงผู้ผลิตและผู้ขายพยายามล่อลวงเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้เข้าไปเสพติดนิโคตีนในบุหรี่ไฟฟ้า จะได้เป็นลูกค้าไปตลอดชีวิต
ชี้คนรุ่นใหม่ ตกหลุมดำการพนันออนไลน์เพียบ
ทางด้าน นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน กล่าวว่า ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนันได้ศึกษาพฤติกรรมการเล่นพนันออนไลน์ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ อายุ 15-25 ปี จาก 19 จังหวัด รวม 5,010 คน ระหว่างวันที่ 20 มกราคม – 24 กุมภาพันธ์ 2566 พบว่า 42.1% หรือประมาณ 3.9 ล้านคน เล่นการพนัน ในจำนวนนี้มีคนเล่นพนันออนไลน์ ประมาณ 3 ล้านคน มากกว่า 10% เล่นสลอตแมชชีน/ตู้พนัน หวยใต้ดิน และสลากกินแบ่งรัฐบาล ในด้านผลกระทบ พบว่า ประมาณ 1 ใน 3 หรือ 33.5% มีปัญหาขาดเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน มีปัญหาความเครียด/เสียสุขภาพจิต เสียเวลาทำงาน เสียการเรียน สุขภาพเสื่อมโทรม ที่น่าสนใจคือกว่า 8 หมื่นกว่าคน หรือ 2.7% ติดหนี้พนัน
จี้รัฐบาลใหม่เร่งสร้างกลไกคุ้มครองเด็ก เยาวชน ลดเสี่ยงอบายมุข
อัรฟาน ดอเลาะ รองเลขาธิการสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย บอกว่า ปัญหา เหล้า กัญชาเสรี บุหรี่ไฟฟ้า กาสิโน พนันออนไลน์ถูกกฎหมาย เป็นอบายมุขที่กระทบกับสุขภาพกาย และจิตใจของเด็ก เยาวชน และส่งผลกระทบต่อสังคมตามมา มีเด็ก เยาวชนจำนวนมากตกเป็นเหยื่อ เสียการเรียน หลุดจากระบบการศึกษา ต้องเผชิญความรุนแรงหรือถูกกระทำด้วยความรุนแรง รวมไปถึงเพิ่มโอกาสในการก่ออาชญากรรมทำผิดกฎหมายในหลายรูปแบบ ประเทศชาติเสียโอกาสในการพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจ
“ที่จริงเรื่องนี้สามารถป้องกัน จัดการได้ โดยที่รัฐหรือพรรคการเมือง จะต้องมีกลไกที่ดีมารองรับ เริ่มตั้งแต่นโยบายที่คำนึงถึงเด็ก เยาวชน มีกฎหมายคุ้มครองเด็ก เยาวชนโดยเฉพาะ มีการจัดนโยบายหลักประกันด้านสุขภาพเด็กและเยาวชน ส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจและตระหนักรู้ถึงพิษภัยของสิ่งอบายมุขทั้งหลาย สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็ก เยาวชน ห่างไกลสิ่งอบายมุข และมีกลไกลรองรับไม่ให้เกิดการการมั่วสุม หรือใช้เสพติด เป็นต้น”
ขณะที่ นัยนา ยลจอหอ ประธานชุมชนวัดสวัสดิ์วารีสีมาราม ฝากถึงพรรคการเมืองและรัฐบาลใหม่ ว่า นโยบายต่าง ๆ ที่ทำ หรือกำลังจะเสนอให้อบายมุขเหล่านี้ถูกกฎหมาย ล้วนสร้างผลกระทบมากกว่าเกิดประโยชน์ ขอให้ยึดเอาประชาชนเป็นที่ตั้งจริง ๆ อย่ามองแต่ประโยชน์ทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว
“ไม่ควรเอาอบายมุขมามอมเมาประชาชน เพราะเราคือคนปลายน้ำที่รับผลกระทบที่เกิดขึ้น ทุกวันนี้กล่าวได้เลยว่าชาวบ้านเราแทบจะรับมือไม่ไหวแล้ว”
สำหรับภาคีเครือข่ายที่ร่วมเสวนาเปิดผลสำรวจครั้งนี้ มีอย่างน้อย 12 องค์กร เช่น มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล, มูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว, มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก, เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง กลุ่มเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย และสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย