เปิดสภาเมืองคนรุ่นใหม่ เสนอนโยบายพัฒนาเมืองอย่างมีส่วนร่วม

กทม. Kick off เปิดสภาเมืองคนรุ่นใหม่ ฟังเสียงและความต้องการ รับ 3 นโยบาย การศึกษา พื้นที่สาธารณะ และสวัสดิการเรื่องเพศ  กทม.หวังสร้างการทำงานร่วมกับคนรุ่นใหม่ ขณะที่เครือข่ายคาดขยายผลต่อไปทั่วประเทศ

13 มี.ค. 2566 กรุงเทพมหานคร เปิดสภาเมืองคนรุ่นใหม่ ที่ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง) โดยสภาเมืองคนรุ่นใหม่เป็นพื้นที่สำหรับเยาวชนทุกคนใน กทม. อายุ 15-35 ปี ไม่จำกัดภูมิลำเนา และสนใจอยากมีส่วนร่วมในการพัฒนากรุงเทพมหานคร ซึ่งแนวทางการทำงานของสภาเมืองคนรุ่นใหม่จะสร้างการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายของคนรุ่นใหม่ เปิดพื้นที่เมืองให้ลงมือทำ ทดลองแก้ปัญหาเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง และผลักดันข้อเสนอสู่การรับนโยบายและการปฏิบัติจริง

ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีคนรุ่นใหม่ที่อยากจะเข้ามามีส่วนร่วม มีความรู้ ไอเดีย และลงมือทำ แต่ยังไม่สามารถทำเป็นในระดับนโยบายได้ กทม. ร่วมกับสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร จึงได้ระดมความคิดออกแบบสภาเมืองคนรุ่นใหม่ เกิดไอเดียให้มีพื้นที่สำหรับเด็กและเยาวชนทุกคนที่อาจจะไม่ได้สังกัดอยู่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ให้สามารถเข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ทั้งพื้นที่ออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อจะสามารถรวบรวมคนในวงกว้างมากขึ้น

โดยวันนี้เป็นการเปิดประชุมสภาเมืองคนรุ่นใหม่ครั้งที่ 1/2566 มีการนำเสนอช่องทางการสื่อสารเพื่อการมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง สำหรับสภาเมืองคนรุ่นใหม่ (Better Bangkok Discord) มีการนำเสนอนโยบายจาก 3 ทีม

ทีมแรก เสนอนโยบายการเพิ่มการมีส่วนร่วมของนักเรียนในโรงเรียน โดยทีม Student Reflect  ตั้งต้นจากที่ว่าโรงเรียนไม่ใช่ที่โปรดปรานของเด็กหลายคน  Student Reflect จึงตั้งต้นว่า อยากเห็นโรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชนทุกคน 

จากการรายงานข่าวที่ผ่านมา พบข่าวเด็กล่วงละเมิด เด็กซึมเศร้า หรือกระทั่งความรุนแรง และปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นต่อเนื่องและยังไม่สามรถแก้ไขได้ จึงได้ทำการสำรวจในพื้นที่นนทบุรีและพบข้อมูลว่า เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ มีปัญหาเรื่องการไม่มีพื้นที่ปลอดภัยและเสรีภาพมากพอ  อีกทั้งไม่ได้มีส่วนร่วมในการออกกฎ และเมื่อเวลามีปัญหาเขาเหล่านี้ไม่รู้จะไปเล่าให้ใครฟัง สุดท้าย เมื่อช่องทางมีปัญหาและความคิดเห็นของเด็กหลายคนถูกละเลย ส่งผลกระทบต่อชีวิตและการเรียนรู้โดยรวม  ดังนั้นปัญหาในโรงเรียนเป็นปัญหาที่เร่งด่วนและต้องได้รับการแก้ไข

กลุ่ม Student Reflect  ได้ออกแบบกระบวนการเป็นสามขั้นตอน 1. CREATING เราสร้าง พื้นที่ปลอดภัยและเข้าถึงได้ให้แก่นักเรียน  2. COOPERATING เราร่วมมือ ระหว่างนักเรียนครูผู้ปกครองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแบ่งปันความคิดเห็นของเยาวชนสร้างผลที่ยั่งยืนและเป็นธรรมสำหรับนักเรียนในโรงเรียนไทย 3. SUPPORTING เราสนับสนุน ผลักดันความร่วมมือจากเยาวชนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเยาวชนต่าง ๆ ในโรงเรียนและชุมชนโดยการสร้างเครือข่ายเยาวชนพิทักษ์ และ ปัจจุบันกลุ่มนี้ได้ทำความร่วมมือกับโรงเรียนต่าง ๆ ทั้งเครือข่ายสภาเด็กในปริมณฑลและโรงเรียนต่างๆรวมถึงองค์กรยูนิเซฟประเทศไทย และอยู่ในระหว่างการขยายพื้นที่ไปในที่ต่าง ๆของประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูนโยบายของการเรียนในเว็บไซต์ “ชัชชาติ” พบว่ามี 31 นโยบายเรียนดี  ที่ครอบคลุมทั้งครูและผู้ที่มีส่วนได้เสียอื่น ๆ  แต่ พบว่ายังขาดนโยบายจากนักเรียน  จึงมีแนวคิดว่า จะต้องทำนโยบาย นักเรียนโดยนักเรียน มีนโยบายที่เสนอต่อ กทม. เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงาน คือ The Policy Journey คือแนวทางการทำงานร่วมกับ กทม. โดยเริ่มต้นการทำงานจากนักเรียนเพื่อรวบรวมข้อมูลและสะท้อนปัญหาที่เจอในโรงเรียน และอาจมีการเสนอ แนวทางแก้ไขปัญหา ซึ่งเด็กและเยาวชนถือเป็นต้นน้ำในการขับเคลื่อนนโยบายนี้ 

หลังจากนี้จะส่งข้อมูลไปให้คุณครูและโรงเรียน  บางปัญหาโรงเรียนอาจจะแก้ไขได้เลยใน ข้อจำกัดที่โรงเรียนมีแต่บางปัญหาอาจจะไม่สามารถแก้ไขได้ จึงเป็นที่มาว่าทำไมจะต้องผลักดัน ปัญหาที่มีในโรงเรียนให้ไปถึง กทม. เพื่อที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา บางครั้งการแก้ปัญหาที่ส่งต่อ อาจจะไม่สะดวกและใช้เวลานานจึงมีข้อเสนอว่า ให้ กทม. เพิ่มช่องทางรายงานปัญหาโดยตรง โดยการเชื่อมต่อระหว่างนักเรียนและ กทม. จึงอยากให้ กทม. เข้ามามีบทบาท สนับสนุนเรื่องของงบประมาณ การประเมินผล การจัดหาเครือข่าย การเชื่อมต่อกับโรงเรียน และการเชื่อมต่อกับนักเรียนโดยตรง  ทั้งนี้ ในส่วนของ กทม.กล่าวว่าจะแต่งตั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนนโยบายดังกล่าว

นโยบายพื้นที่สาธารณะ “เรียน รู้ ร่วม” แบบ Inclusion สำหรับทุกคน โดยทีม Playgrow  ซึ่งเสนอภายใต้ชื่อนโยบาย “ลานเล่น เรียน รู้ ร่วม ” Inclusive Playground  ตั้งต้นจากการอยากทำให้สังคม เป็น Social Inclusive ทุกคนสามารถเข้าถึงพื้นที่ได้ตามสิทธิของตัวเอง หวังการจะสร้างการมีส่วนร่วม โดยในสังคมจะต้องประกอบด้วยคนทั่วไปและบุคคลที่มีข้อจำกัดทางด้านร่างกาย และจุดเริ่มต้นไม่ได้สร้างตอนโตแต่ต้องสร้างจากพื้นที่ ที่ดีให้กับเยาวชนตั้งแต่เด็ก และพอคนเหล่านั้นโตขึ้น เขาจะเข้าใจว่าความแตกต่างด้านสภาพ เพื่อให้เข้าถึงและเรียนรู้ร่วมกันกับบุคคลอื่นได้

Playgrow มองว่า สวนสาธารณะเป็นพื้นจุดเริ่มต้นแรก ที่มีความสำคัญ ที่จะสร้าง Playground  ให้กลายเป็น Playgrow  พบว่าพื้นที่สาธารณะในกรุงเทพมหานครมีจำนวนมากแต่ว่า   Playground ที่เห็น เด็กหรือครอบครัวที่มีข้อจำกัดทางด้านร่างกาย ไม่สามารถที่จะเข้าถึงหรือเล่นได้ จึงอยากสร้างพื้นที่เพื่อที่จะให้กลุ่มคนเหล่านี้เข้าถึงได้มากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันเรายังขาดพื้นที่สังคมที่จะร่วม เรียนรู้ข้อจำกัด ด้านสภาพร่างกาย  เป้าหมายคืออยากที่จะสร้างพื้นที่สาธารณะ ที่ปลอดภัยและทุกคนสามารถเข้าถึงได้  แต่ถ้าเรามีความเข้าใจ ซึ่งกันและกันเราจะมีทัศนคติที่ดีต่อสังคมในอนาคต 

ทั้งนี้ได้ เสนอโยบาย ลานเล่น เรียน รู้ ร่วม Playgrow  โดยจะทำสนามเด็กเล่นเพื่อที่จะให้เด็กทุกคนทั้งผู้ที่มีข้อจำกัดทางด้านร่างกายและคนปกติได้มีพื้นที่เล่นร่วมกัน ซึ่งการขับเคลื่อนไปในอนาคตคาดว่าจะต้องปรับปรุงสนามเด็กเล่นเดิมที่มีอยู่แล้ว และจะเน้นไปในพื้นที่ชุมชน โดยใช้พื้นที่ลานกว้างชุมชนหรือ สวน 15 นาทีที่กำลังขับเคลื่อนอยู่  

“คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้หลังจากได้งบประมาณจากทางกรุงเทพมหานครและกรุงเทพมานครเปิดโอกาสให้ ระดมทุนจากเอกชนในพื้นที่ และจะต่อยอดนโยบายโครงการจากโครงการสนามเด็กเล่น สร้างปัญญา ของ สสส. โดยปรับปรุงบนจุดยืนที่ว่าเด็กทุกคนสามารถเล่นร่วมกันได้  และมองว่าผู้ที่มีส่วนได้เสียกับการขับเคลื่อนครั้งนี้คือผู้ปกครองเยาวชนและสังคม 

Playgrow  

ด้าน ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่ากรุงเทพมหานครกล่าวว่า ไม่เคยคิดถึงประเด็นเรื่องการออกแบบสนามเด็กเล่นเพื่อให้เด็กที่มีข้อจำกัดเรื่องของร่างกายเล่น แต่จะไปโฟกัสเรื่องของทางเดินร่วมมากกว่า อย่างไรก็ตาม มีหลายครั้งที่กรุงเทพมานครพยายามที่จะทำเรื่องนี้แต่ก็ไม่ได้มีการสอบถามไปยังผู้ที่ใช้งานจริง ๆ บางครั้งก็เสียเปล่า 

ศานนท์ กล่าวว่า เพื่อให้ไปสู่ขั้นตอนต่อไปอาจจะมอบหมายให้กับสำนักวัฒนธรรมที่ดูแลเรื่องลานกีฬาอยู่แล้วอาจจะมีการขอความร่วมมือจากกลุ่ม playgrow เพื่อทำงานร่วมกันต่อไป

ด้าน นโยบายการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STIs) ด้วยตัวเองฟรีที่บ้าน โดยทีม The Young Vision  ที่ว่าด้วยเรื่องการผลักดันให้การตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วยตัวเองฟรีเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้  ซึ่งระบุว่า ระบบการศึกษาไทยไม่นำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องเรื่องเพศ ที่ใช้ได้จริง และไม่ได้มีการฝึกอบรมให้กับบุคลากรที่ให้การศึกษาเข้าใจในความละเอียดอ่อนเรื่องเพศ สิ่งเหล่านี้นำไปสู่ทัศนคติของสังคมที่ ปิดกั้นเรื่องเพศ เพราะการศึกษาที่ใช้ไม่ได้จริงทำให้สังคมไม่เกิดการพูดคุย และทำให้ประชาชนไม่สามารถหลุดพ้นจากกรอบความเชื่อและค่านิยมที่ ขัดกับความเชื่อด้านความหลากหลายและความเท่าเทียมความเท่าเทียม นำไปสู่โครงสร้างระบบสาธารณสุขของประเทศไทย

แม้ว่า เราจะเข้าใจกันว่าระบบสาธารณสุขประเทศไทยดีกว่าหลายประเทศ ในบางเรื่องแต่พอเป็นเรื่องเพศ ต้องยอมรับว่ายังเป็นระบบที่เข้าถึงได้ยาก และไม่ให้ความรู้สึกสบายใจ และปลอดภัยที่จะเข้ารับการรักษา อีกทั้งไม่มีสวัสดิการทางเพศที่ครอบคลุมมากพอ เมื่อทัศนคติในสังคมไทยมองว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องที่ต่ำ ไม่ดีและหลีกเลี่ยงการพูดถึง ทำให้การออกแบบระบบสาธารณสุขถูกละเลย รวมไปถึงการละเลยการออกแบบสวัสดิการที่ครอบคลุม ในเรื่องเพศจึงมีนโยบาย ที่อยากให้เกิดขึ้น คือ อยากให้เกิดสวัสดิการ การตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้เองฟรีที่บ้าน 5 โรค ประกอบด้วยหนองในแท้ หนองในเทียม ซิฟิลิส HIV และไวรัสตับอักเสบ 

โดยวิธีการคือลงทะเบียนออนไลน์เพื่อรับชุดตรวจทางไปรษณีย์หรือรับที่ สถาบันสุขภาพใกล้บ้านที่ปลอดภัยต่อข้อมูลส่วนตัว เก็บเชื้อตัวอย่างด้วยตัวเองที่บ้านและส่งชุดตรวจไปให้แลบ แจ้งผลตรวจออนไลน์หรือทาง เอสเอ็มเอส พร้อมทั้งต้องได้รับคำแนะนำและการรักษาฟรีกรณีที่ตรวจพบเชื้อ

“โดยภาพในอนาคต ที่ควรเกิดขึ้น ระบุว่าอยากจะเห็นทุกคนสามารถเข้าถึงการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ซึ่งประกอบด้วยห้าโรคที่กล่าวมา รวมถึงสามารถเข้าถึงคำแนะนำและการรักษาฟรี และมีสิ่งที่คาดหวังอยากจะให้เกิดขึ้นคือการตรวจและการพูดถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จะต้องเป็นเรื่องที่เป็นปกติมากขึ้นและสถิติการส่งต่อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีจำนวนลดน้อยลง”

The Young Vision  

สำหรับข้อเสนอนโยบายคือ การจัดทำระบบรับอุปกรณ์ตรวจฟรีประชาชนสามารถ ลงทะเบียนรับอุปกรณ์ออนไลน์หรือสถานพยาบาลใกล้บ้าน โดยเบื้องต้นอาจจะเริ่มทดลองแจกกลับบ้านเขตในพื้นที่กรุงเทพมหานคร การเข้ารับคำปรึกษาแล้วรักษาฟรี สามารถเข้ารับยาและคำปรึกษาจากหน่วยงานที่ให้ความร่วมมือ ซึ่งเบื้องต้นอาจจะสำรวจหาหน่วยงานที่มีทรัพยากรหรือพร้อมให้บริการหากได้รับการสนับสนุน สิ่งที่ต้องการคืองบประมาณในชุดตรวจ และเครือข่ายทำงานหลังบ้านให้เป็นนโยบายได้ มีเครือข่ายที่ทำงานเกี่ยวข้องมารับรู้และเสนอแนะเพิ่มเติมถึงความเป็นไปได้ของนโยบาย ในส่วนของ กทม. ยืนยันให้ความร่วมมือเต็มที่

ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ กล่าวในช่วงท้ายว่า การที่มีสภาเมืองคนรุ่นใหม่เป็นการทำเพื่อเด็กและเยาวชน เพราะเมืองต้องส่งต่อให้คนรุ่นต่อไป และการเปิดสภาเป็นวิธีที่ทำให้มีช่องทางการสื่อสารมากขึ้น เชื่อว่าอนาคตจะขยายพื้นที่สภาเมืองคนรุ่นใหม่ไปได้ในหลาย ๆ ที่ เช่น ระดับเขต ซึ่งวันนี้ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เป็นก้าวแรกของการเดินทางอีกยาวไกล ขอให้สั่งสมประสบการณ์เพื่อทำให้เมืองนี้เป็นเมืองที่น่าอยู่ของทุกคนจริง ๆ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active