การศึกษาไทยอยู่ตรงไหน? ในการหาเสียง ก่อนเลือกตั้ง 66

8 พรรคการเมืองประกาศชัด! พร้อมเคลื่อนนโยบายการศึกษารับ 5 โจทย์ใหญ่ภาคีเพื่อการศึกษาไทย

5 มี.ค.2566 ภาคีเพื่อการศึกษาไทย ร่วมกับ Thai PBS จัดเวที “ชวนพรรคร่วมคิด ฟื้นชีวิตเรียนรู้ใหม่ หนุนเด็กไทยก้าวทันโลก” โดยมีตัวแทนจาก 8 พรรคการเมือง ที่ตอบรับคำเชิญร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น“นโยบายแบบไหนเปลี่ยนการศึกษาได้จริง” พร้อมตอบคำถามจากตัวแทนภาคส่วนต่างๆ ภายหลังได้รับโจทย์จากภาคีเพื่อการศึกษาไทย 5 ประเด็น ประกอบด้วย 

1.การปรับหลักสูตรแกนกลางครั้งใหญ่ให้เอื้อต่อการเรียนรู้สมรรถนะ

2.การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กและบุคลากรครูเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ

3.ทบทวนยกเลิกโครงการที่ไม่ตอบโจทย์การเรียนรู้ กระจายงบประมาณสู่โรงเรียนและนักเรียน

4.การปรับวัฒนธรรมการทำงานให้กล้าทำสิ่งใหม่

5.การป้องกันการละเมิดสิทธิเสรีภาพและการใช้ความรุนแรงในสถานศึกษา

โดยในแต่ละครั้งตัวแทนพรรคการเมืองต้องเลือก 3 ประเด็นที่ต้องการแสดงวิสัยทัศน์ เจตจำนงในการเข้าไปแก้ปัญหารอบละ 3 นาที

พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการรณรงค์นโยบายพรรคก้าวไกล เปิดเวทีด้วยการตอบคำถามในประเด็น การปรับหลักสูตรแกนกลางครั้งใหญ่ให้เอื้อต่อการเรียนรู้สมรรถนะ โดยกล่าวว่า ข้อเสนอทั้ง 5 ข้อที่ภาคีเพื่อการศึกษาไทยเสนอมา ทางพรรคได้นำมาใช้เพื่อประกอบในการออกนโยบายการศึกษาที่ทางพรรคประกาศไปเมื่อวันที่ 14 ม.ค.2566 ซึ่งเห็นตรงกันในหลายส่วน โดยในด้านหลักสูตร ยืนยันว่าพรรคก้าวไกลเห็นตรงกันถึงความจำเป็นที่ต้องมีหลักสูตรใหม่ที่เน้นทักษะที่ใช้ได้จริง เน้นสมรรถนะ และต้องเสร็จภายใน 1 ปีหากได้เป็นรัฐบาล สรุปเป็น 2 ปรับ 2 ลด 2 เพิ่ม 

ปรับ วิชาและเป้าหมายของวิชาที่มีอยู่ เน้นการใช้งาน ถกเถึยงวิเคราะห์เป็นหลัก และปรับวิธีการสอน จากบทบาทครูหน้าห้องเป็นครูหลังห้อง จัดกิจกรรมให้เด็กได้แลกเปลี่ยนความเห็น

ลด จำนวนชั่วโมงเรียนตามหลักสากลเหลือ 800-1,000 ชม. และลดการบ้าน การสอบแข่งขัน หาวิธีอื่นในการประเมิน

เพิ่ม เสรีภาพทางการเรียนรู้ เลือกวิชาที่ตัวเองสนใจ และเพิ่มการตรวจสอบในหนังสือเรียน ข้อสอบย้อนหลัง สามารถยืดหยุ่นปรับแก้ให้เข้ากับยุคสมัยและความสนใจของผู้เรียนได้

“ผมคิดว่าหลักฐานที่ชัดเจนที่สุดว่าทำไมเราต้องปรับหลักสูตร คือสถิติที่บอกว่าเด็กไทยเราเรียนหนักเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่กลับมีทักษะที่ตามหลายประเทศทั่วโลก ดังนั้นปัญหาไม่ได้อยู่ที่เด็กไทยไม่ขยันแต่หลักสูตรไม่สามารถแปลความขยันของนักเรียนออกมาเป็นทักษะที่แข่งกับนานาชาติได้”

พริษฐ์ วัชรสินธุ

นันทพร ดำรงค์พงษ์ รองเลขาธิการพรรคและกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนากล่าวว่า นโยบายการศึกษาของพรรคชาติไทยพัฒนา ระบุชัดเจนว่า เรียนในสิ่งที่ใช่ ใช้ในสิ่งที่เรียนหมายถึง ต้องไม่ฝืนการเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่ต้องการรวยเร็ว ชอบโซเชียลมีเดีย อารมณ์อ่อนไหว ความอดทนน้อย ไม่ชอบเป็นลูกน้องใคร ต้องการเป็นเจ้านายตัวเอง จะทำอย่างไรให้ระบบการศึกษาที่ระบุว่า 55% เป็นเรื่องเรียน 45% เป็นเรี่องของผลลัพธ์การเรียนรู้ ดังนั้นก็ต้องนำผลลัพท์ 45%  นั้นมาปรับให้เข้ากับการเรียนการสอนให้ได้ ครู ผู้ปกครอง ต้องบูรณาการให้เกิดขึ้นจริง เหมาะกับวิถีชีวิต เศรษฐกิจในท้องถิ่น 

“เราอยากให้เด็กมีความคิดว่า ล้มแล้วลุกได้ เพราะฉะนั้นต้องเริ่มจากการทำให้เด็กรู้สึกถึงความภาคภูมิใจในตัวเอง เริ่มจากการสอนเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างชั่วโมงค้าขาย คำนวณกำไร วิชาที่เข้าไปทำงานกับอาสาสมัครด้านสาธาณสุขในการช่วยเหลือคน เด็กๆ ก็จะเห็นคุณค่าในตัวเองในการได้ช่วยเหลือคนอื่นๆ”

นันทพร ดำรงค์พงษ์

ภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ผอ.คณะกรรมการประสานงานองค์กรเครือข่ายภายนอกพรรคและกรรมการด้านเทคโนโลยี พรรคประชาธิปัตย์ ระว่า ทางพรรคให้ความสำคัญกับพื้นที่นวัตกรรม เพียงแต่ภาครัฐต้องเปิดโอกาสให้คนกลุ่มนี้ได้เข้าไปทำ ซึ่งที่ผ่านมาทราบว่ามีความพยายามยุบ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ที่ถึงขณะนี้ยังไม่มีการประกาศออกมา ซึ่งมีความสำคัญที่จะนำไปสู่การปรับโครงสร้างทางการศึกษา และหลักสูตรการเรียนการสอน 

พร้อมย้ำว่าที่ผ่านมาโรงเรียนนำร่องนวัตกรรมทางการศึกษาได้รับการยอมรับจากนานาชาติ แต่ปัญหาคือยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่มาก เนื่องจากเริ่มต้น 9 แห่ง และเพิ่มเติมได้แค่ 19 แห่งเท่านั้น เนื่องจากยังมีข้อจำกัดในการได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ

“ถ้ากฎหมายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งดีอยู่แล้วแต่ไปติดที่ ส.ส.และ ส.ว. ไม่เปิดทางให้ผ่าน ภายหลังการเลือกตั้งถ้าพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ จะเปิดไฟเขียวตรงนี้ให้หมด ”

ภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา

สำหรับประเด็น การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กและบุคลากรครูเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ณหทัย ทิวไผ่งาม กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ทางพรรคให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งโรงเรียนขนาดเล็กถือเป็นวิถีชีวิต วิถีชุมชน นโยบาย one family one soft power ของพรรคเพื่อไทย จะเชื่อมโยงกับโรงเรียนขนาดเล็ก 14,000 กว่าแห่ง และเพิ่มเติมอีก 2,000 แห่ง หลายโรงเรียนมีความเข้มแข็ง สิ่งที่จะทำต่อไปคือการส่งครูที่ดีที่สุดลงไป ที่เครื่องมือ เทคโนโลยีที่ทันสมัย เท่าเทียมกับโรงเรียนขนาดใหญ่ พร้อมเอาชุมชนมาร่วมเรียนรู้ไปด้วยกัน

พร้อมกันนี้ยังต้องการสร้างให้เกิดการเรียนรู้แบบ LEARN TO EARN ให้พ่อแม่ตั้งแต่ทราบว่าตัวเองมีลูกจนถึงวัยชราได้เรียนเพิ่มความรู้ยกระดับรายได้ตลอดเวลา ไม่ต้องพึ่งแค่เงินสงเคราะห์จากรัฐบาลเพียงอย่าเดียว

“พรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญกับโรงเรียนขนาดเล็ก คิดว่าต้องคงไว้ด้วยการส่งครูและนวัตกรรมที่ดีที่สุดลงไป มีระบบที่ทำให้เกิดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสุขภาพ รายได้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตครัวเรือน เพราะฉะนั้นโรงเรียนขนาดเล็ก 14,000 กว่าแห่ง หลังจากนี้ไม่ต้องทอดผ้าป่าหาเงินให้กับโรงเรียนอีกต่อไป เราจะช่วยกันนำความรู้ที่ทันสมัยที่สุดลงไปสร้างชุมชนให้เขาสร้างอาชีพเลี้ยงตัวเองได้”

ณหทัย ทิวไผ่งาม 

พรชัย มาระเนตร์ คณะทำงานร่างนโยบายพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวว่า จะเข้าไปดูแลโรงเรียนขนาดเล็กด้วยการนำเอา Digital Transformation มาใช้ ผสมกับเทคโนโลยีต่างๆ รวมถึงการดึงกลุ่ม Start Up ให้เข้ามาเชื่อมโยงการทำงานกับรัฐบาลเพื่อพัฒนาระบบการศึกษาให้โรงเรียนทุกขนาดมีข้อมูลที่เท่ากัน  ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนา ไปสู่โจทย์ที่ชัดเจนขึ้น หรือคือสิ่งที่เรียกว่า Super Sandbox นอกจากนี้การสร้างให้เกิด Big Data ของเด็กทุกคนตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยเรียน เพื่อติดตามข้อมูลเมื่อเด็กหายไปจากระบบการศึกษา 

“เมื่อเรามี Big Data ของเด็กทุกคน หากพบความผิดปกติ เรามีระบบครูพี่เลี้ยงวิ่งเข้าประกบอย่างทันท่วงที โดยเฉพาะในครอบครัวแหว่งกลางเด็กไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ เด็กมีอำนาจต่อรองต่ำ เราจะต้องมีคนคอยช่วยเหลือเป็นพิเศษ”

พรชัย มาระเนตร์

ประเด็น ทบทวนยกเลิกโครงการที่ไม่ตอบโจทย์การเรียนรู้ กระจายงบประมาณสู่โรงเรียนและนักเรียน น.ต.ศิธา ทิวารี เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า 1 ใน 4 ของงบประมาณทั้งหมดขึ้นอยู่กับกระทรวงศึกษาธิการ แต่การศึกษาไทยยังไม่ไปไหนเหตุผลมาจากกระบวนการในการคัดเลือกคนเข้าไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมาจากโควตาทางการเมือง ในเมื่อระบบการเมือง และระบบราชการเป็นแบบนี้ ระบบการศึกษาจึงพัฒนาไปต่อไม่ได้เพราะยังมุ่งเน้นตอบโจทย์การเมือง 

“รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ไม่ควรเลือกมาจากนักการเมืองแต่ให้องค์กรด้านการศึกษาร่วมกันโหวตและลงมติโหวตปลดได้ ไม่เกี่ยวกับการเมือง ถ้าเราทำแบบนี้ได้ก็จะสามารถแก้ปัญหาข้อหนึ่งเรื่องปรับหลักสูตรแกนกลางได้ด้วย”

น.ต.ศิธา ทิวารี

กมล รอดคล้าย กรรมการยุทธศาสตร์ด้านการศึกษา พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า โครงการที่ลงไปถึงโรงเรียน ปัญหาคือยังมีโครงการของหน่วยงานนอกกระทรวงฯ อยู่ด้วย โดยเฉพาะเรื่องของการฝึกสอนเด็กเน้นไปที่การจัดการที่ตัวเด็กทั้งหมด ซึ่งในความจริงโครงการเหล่านี้สามารถลงไปที่บุคลากรส่วนอื่นๆได้ จึงเสนอว่า กำหนดให้ชัดว่าโรงเรียนต้องจัดกิจกรรมเหลืออย่างน้อย 10% หรือ 7-10 โครงการ เหลือเพียงนโยบายหลักที่ต้องทำตามแผนภาพรวมของประเทศ เป็นกิจกรรมที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต บริบทของพื้นที่ โครงการที่มีจุดเน้นชอบและสนใจของโรงเรียนแต่ละแห่งด้วยตัวเอง 

ซึ่งการจะทำให้โครงการต่างๆ ลดลง ตัวรัฐมนตรีต้องกล้าประกาศห้ามเอาโครงการไปลงที่โรงเรียนโดยตรง แต่ให้ผ่านหน่วยงานกลางอย่างน้อยระดับเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อคัดกรองก่อนว่าโครงการไหนเหมาะสมที่สุด รวมถึงปรับการให้งบประมาณกับโครงการต่างๆ ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น

“สิ่งที่หน่วยงานต่างๆ ส่งลงไปที่โรงเรียนเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยว สำคัญกับเด็กเลย ขอให้เด็กได้เรียนหนังสือจริงๆ ตามสมรรถนะ หลักสูตรที่มีอยู่ ผมคิดว่าโรงเรียนเขาสามารถคิดและตัดสินใจเองได้”

กมล รอดคล้าย

ประเด็น การปรับวัฒนธรรมการทำงานให้กล้าทำสิ่งใหม่ บุญส่ง ชเลธร จากพรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่า สิ่งที่ต้องทำคือการปฏิรูปกระทรวงศึกษาธิการ เพราะผลลัพธ์ทางการศึกษามีงานวิจัยชัดเจนว่าการศึกษาของเด็กไทยถดถอยลง การวัดผลสำเร็จทางการศึกษาควรให้ความสำคัญกับการนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตงานในโลกอนาคต ในขณะที่น่าเห็นใจว่าครูในปัจจุบันก้าวไม่ทันโลก พอที่จะทำให้การศึกษาไทยก้าวทันโลก จึงต้องย้อนกลับไปตั้งแต่การผลิตครูให้มีคุณภาพเข้ามารับใช้ในระบบการศึกษา 

พร้อมเสนอให้ลดเวลาเรียนลง ด้วยระบบ 5-4-3 (ประถมศึกษา 5 ปี ,มัธยมศึกษา 4 ปี ,มหาวิทยาลัย  3 ปี) จบการศึกษาในวัย 18 ปี เพื่อออกมาใช้ชีวิตกับความเป็นจริง เพราะความรู้ในปัจจุบันสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเอง

ทั้งนี้ ภายหลังการแสดงวิสัยทัศน์ของพรรคการเมืองต่างๆ ยังเปิดโอกาสให้ตัวแทนองค์ทางการศึกษานักเรียน และประชาชน ตั้งคำถามถึงตัวแทนพรรคการเมืองในการเปลี่ยนการศึกษาไทยให้ทันโลก โดยมี นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ประธานยุทธศาสตร์ภาคีเพื่อการศึกษาไทย ฝากข้อเสนอไปถึงพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อให้นโยบายด้านการศึกษาถูกพูดถึงในการเลือกตั้ง ที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างจริงจัง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active