นายกฯ ลงนามตั้ง คกก.ตรวจสอบข้อพิพาทที่ดินเกาะหลีเป๊ะ

เครือข่ายชาวเลอันดามัน เรียกร้องปรับสัดส่วนกรรมการฯ ชี้ ขาดตัวแทนประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ และภาคประชาชนที่ติดตามปัญหาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ กมธ.ที่ดินฯ ตั้ง คณะทำงานแก้ไขปัญหาการออกเอกสารสิทธิ์ เร่งจัดทำข้อเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใน 30 วัน 

ล่าสุดมีการเผยแพร่คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 339/2565  ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา  เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงกรณีปัญหาข้อพิพาทที่ดินที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะจ.สตูล  เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 ( 6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จึงให้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงกรณีปัญหาข้อพิพาทในที่ดินที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล โดยมีองค์ประกอบให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธาน และมีกรรมการจากภาคส่วนต่าง ๆ อีก 20 คน รวม 21 คน 

โดยมีอำนาจหน้าที่ 1. รวบรวมปัญหาตรวจสอบสิทธิในที่ดิน กระบวนการครอบครองหรือออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน ข้อมูล ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล 

2. พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยความยุติธรรมกับชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ 

3. เร่งรัดติดตาม การดำเนินการของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ 

4. รายงานผลการดำเนินการ ปัญหา อุปสรรค และนำเสนอแนวทาง หรือมาตรการ รวมทั้งข้อเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรี 

5. เชิญตัวแทนส่วนราชการ หรือหน่วยงานรัฐและบุคคล เข้าร่วมประชุมชี้แจงข้อเท็จจริง ให้ข้อมูล รวมทั้งจัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ประกอบการพิจารณา 

6. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานเพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานได้ตามความเหมาะสม

7. ปฏิบัติงานอื่นใดตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย 

ทั้งนี้ ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้น 

ด้าน วิทวัส เทพสง ผู้ประสานงานเครือข่ายชาวเลอันดามัน แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ ว่าอยากเห็นความจริงจังจริงใจในการแก้ไขปัญหา เบื้องต้นคณะกรรมการชุดดังกล่าว ต้องหยุดเกมเอกชนที่ทำให้ชาวเลตกเป็นผู้ต้องหาทางสังคมทางเรื่องกฎหมายก่อน ขณะที่สัดส่วนของคณะกรรมการที่กำหนดมานั้น เห็นว่า ควรวางให้เกิดความเหมาะสม เพราะแม้จะบอกว่า ‘บิ๊กโจ๊ก’ ทำงานได้ดี แต่สัดส่วนผู้ให้ข้อมูลที่จะครบถ้วนสมบูรณ์อันนี้ยังไม่แน่ใจ เพราะส่วนใหญ่เป็นตัวแทนจากหน่วยงานรัฐ ที่บางส่วนถูกตั้งข้อสังเกตความเอนเอียง และที่สำคัญยังไม่มีตัวแทนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

“ถ้าไปดูตัวของคณะทำงานที่กำหนดไว้  มีกรมที่ดินซึ่งเป็นฝ่ายที่ถูกมองว่าเป็นคู่ความขัดแย้ง ถูกมองเข้าข้างเอกชน ดังนั้นสัดส่วนของคณะทำงาน เราคิดว่ามันมีน้ำหนักไม่เพียงพอ เพราะที่ผ่านมาแม้กระทั่งศาลมีคำสั่งเพิกถอนที่ดิน กรมที่ดินก็จะยังไม่ทำงานเลย  มันจะไปได้แค่ครึ่งทาง แต่ถ้าฝั่งประชาชนเข้าไปอยู่ด้วย ก็จะทำให้เห็นว่าข้อมูลที่มาจากฝ่ายภาคประชาชน นักวิชาการที่ติดตามปัญหามาต่อเนื่อง ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด “ 

วิทวัส เทพสง ผู้ประสานงานเครือข่ายชาวเลอันดามัน

วิทวัส ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า การตรวจสอบของคณะกรรมการชุดนี้ ไม่ใช่มุ่งหมายแค่จะไปแก้ไขพื้นที่ธารณะยังไง แต่ต้องตรวจสอบด้วยว่าพื้นที่ทั้งหมดเป็นการได้มาของเอกสารสิทธิ์ที่ไม่ชอบใช่หรือไม่ พอมันไม่ชอบ ก็ต้องเพิกถอน จัดการแก้ปัญหาให้ได้จริง ๆ เสียที

ขณะที่วันนี้ ( 4 ม.ค.65 ) แหล่งข่าวในคณะกรรมการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ที่ประชุมกมธ.ที่ดินฯ  ได้แต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาการออกเอกสารสิทธิที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะ โดยคณะทำงานชุดนี้มีทั้งหมด 7 คน มี สมชาย ฝั่งชลจิตร รองประธานกมธ.ที่ดินฯ เป็นประธานคณะทำงาน มีที่ปรึกษา 3 คน หนึ่งในนั้นคือ สมนึก จงมีวศิน และมีคณะทำงานบุคคลภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญด้านที่ดิน 3 คน ประกอบด้วย พรพนา ก๊วยเจริญ  , ประยงค์ ดอกลำใย  และ ไมตรี จงไกรจักร  โดยมุ่งเน้นการศึกษาจัดทำข้อเสนอแนะการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ากรณีการปิดทางสาธารณะ รวมถึงศึกษาตรวจสอบที่มาที่ไปของเอกสารสิทธิ์ที่ดิน ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน เพื่อให้ได้รายงานข้อสรุปเสนอต่อ กมธ.ที่ดินฯ เพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แก้ไขปัญหาทันที 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active