ย้อนความจำนโยบาย “กระจายอำนาจท้องถิ่น”

พบประชาธิปัตย์ชูเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด พลังประชารัฐกระจายความเจริญผ่าน EEC พรรคร่วมหลายพรรคเอาด้วยเพิ่มอิสระท้องถิ่น ชี้วัดโหวตวาระแรกร่างปลดล็อกท้องถิ่น

ทันทีที่ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมหมวดที่ 14 ว่าด้านการปกครองท้องถิ่น ที่เสนอโดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พร้อมด้วยประชาชนผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายกว่า 76,000 คน ภายใต้แคมเพน “ปลดล็อกท้องถิ่น” นอกเหนือจากการจับตาความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่หลายคนเฝ้ารอการอภิปรายในสภาครั้งแรกของ ธนาธรแล้ว เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะเป็นการยืนยันในหลักการการกระจายอำนาจ และความเป็นอิสระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งในด้านอำนาจหน้าที่ งบประมาณ บุคลากร และสิทธิของประชาชนในการเลือกผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดตนเองด้วย

การผลักดันวาระการกระจายอำนาจ และการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ถูกตั้งข้อสังเกตว่าดำเนินไปอย่างล่าช้า ทั้งที่หากย้อนไปในการเลือกตั้งทั่วไป ปี 2562 แทบทุกพรรคการเมืองล้วนชูนโยบายกระจายอำนาจในการหาเสียงเลือกตั้งไว้ด้วย The Active ชวนย้อนความทรงจำว่าแต่ละพรรคการเมือง ได้สนับสนุนแนวทางนี้เอาไว้อย่างไรบ้าง

ในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล ส่วนใหญ่ประกาศแนวทางนี้ไว้อย่างชัดเจน เป็นรูปธรรม ดังนี้

  • พรรคชาติไทยพัฒนา : กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นตัดสินใจ และจัดสรรงบประมาณเองได้, เพิ่มงบประมาณ ลงทุนในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง 10 ล้านบาท และจัดตั้งศูนย์บริหารราชการครบวงจรในพื้นที่ด้วย
  • พรรคชาติพัฒนา : เพิ่มงบประมาณอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็น 35% ภายใน 1 ปี (ปัจจุบันอยู่ที่ 29%) และยังมีนโยบายเพิ่มค่าครองชีพให้กับ กำนัน/ผู้ใหญ่บ้านจำนวน 2,000 บาท/เดือน
  • พรรคประชาธิปัตย์ : นโยบายผลักดันจังหวัดจัดการตนเอง ให้ประชาชนเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด, ยกระดับบริการ E-Governance ลดอำนาจรัฐส่วนกลาง, ส่งเสริมความคล่องตัวของท้องถิ่น โดยกำหนดให้โอนภารกิจ งบประมาณ และบุคลากร มาสังกัดท้องถิ่น รวมถึงการจัดทำกฎหมายเพิ่มรายได้ให้แก่ท้องถิ่น เพื่อความอิสระทางการเงินการคลัง
  • พรรคพลังประชารัฐ : มีนโยบายกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 ได้แก่ อีสาน 4.0 ล้านนา 4.0 และด้ามขวาน 4.0, พัฒนา 15 เมืองหลัก 15 เมืองรอง
  • พรรคภูมิใจไทย : ชูนโยบายต้นแบบ “บุรีรัมย์โมเดล” หาจุดเด่นพัฒนาเมืองทั่วประเทศ เพื่อการสร้างงาน สร้างอาชีพ

ในขณะที่พรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้มีการนำเสนอนโยบายการกระจายอำนาจไว้ดังนี้

  • พรรคเพื่อไทย : ส่งเสริมให้ท้องถิ่นมีอิสระ สามารถจัดเก็บรายได้ และบริหารงบประมาณได้ด้วยตนเอง, เปลี่ยนบทบาทภาครัฐจากผู้ปฏิบัติ – ควบคุม มาสนับสนุน และอำนวยความสะดวก
  • พรรคอนาคตใหม่(พรรคก้าวไกล) : จัดสรรงบประมาณแผ่นดิน อย่างเท่าเทียม โดยมีสัดส่วนของงบฯ ส่วนกลางและท้องถิ่น ร้อยละ 50:50, เพิ่มรายได้ท้องถิ่นจากภาษี และค่าธรรมเนียม ประกาศยุติรัฐราชการรวมศูนย์ ให้อิสระท้องถิ่นตัดสินใจใช้งบประมาณ และบุคลากรเองได้

จึงน่าสนใจว่าการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีหลักการพื้นฐานเป็นการกระจายอำนาจ และเสริมศักยภาพในท้องถิ่นนั้น พรรคการเมืองซึ่งยังมีที่นั่งในสภาตอนนี้ จะยังคงยึดมั่นในเจตนารมณ์เดิม และสิ่งที่ตัวเองได้ประกาศเอาไว้หรือไม่ แต่อย่างไรก็ตามมีการวิเคราะห์ถึงความยากของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องอาศัยเสียงสมาชิกวุฒิสภา 1 ใน 3 ด้วย ซึ่ง ส.ว. จำนวนไม่น้อยเป็นตัวแทนของข้าราชการ และโครงสร้างการบริหารเดิม ว่าจะเห็นด้วยกับร่างฯ ดังกล่าวหรือไม่

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active