แก้รัฐธรรมนูญ ปลดล็อกท้องถิ่น เข้าสภาฯ พรุ่งนี้!

‘ไอติม’ ชวนสมาชิกทิ้งทวน รับหลักการวาระแรก ยืนยันเจตนารมณ์กระจายอำนาจ ชี้ต้องแก้ รธน. เป็นหลักประกัน ‘นักวิชาการ’ สะท้อนรัฐบาลไม่จริงจังผลักดันท้องถิ่น กังวลได้เสียงสนับสนุนไม่พอ

วันพรุ่งนี้(29 พ.ย. 2565) จะมีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2) โดยมีวาระสำคัญ เป็นเรื่องเร่งด่วน คือ การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม หมวดที่ 14 ว่าด้วยการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมี ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ร่วมกับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 76,591 คน เป็นผู้เสนอ ภายใต้แคมเพน “ปลดล็อกท้องถิ่น” ซึ่งโดยรายละเอียดได้มีการเพิ่มเติมมาตราในหมวดดังกล่าวหลายมาตรา ครอบคลุมอุปสรรคที่ผู้เสนอมองว่าขัดต่อหลักการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

พริษฐ์ วัชรสินธุ Policy Campaign Manager พรรคก้าวไกล หนึ่งในผู้เข้าร่วมชี้แจงร่างกฎหมายในวันพรุ่งนี้ เปิดเผยกับ The Active ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ถือเป็นความพยายามแก้ไขเป็นร่างที่ 25 ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะ ที่ผ่านมานั้นมีเพียงร่างเดียวเท่านั้น ที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา คือ ระบบการเลือกตั้งที่เปลี่ยนมาเป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เนื่องจาก ต้องอาศัยเสียงของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จำนวน 1 ใน 3 ด้วย แม้หลายคนจะรู้สึกหมดหวัง แต่โดยส่วนตัวแล้ว พริษฐ์ มองว่าประเด็นเรื่องการกระจายอำนาจนั้น อาจจะไม่ได้เชื่อมโยงกับกลไกการสืบทอดอำนาจโดยตรง และสำคัญต่ออนาคตทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศด้วย จึงเห็นว่าสมาชิกน่าจะเห็นด้วยต่อเจตนาในการแก้ไขครั้งนี้

“วาระการกระจายอำนาจ หัวใจสำคัญ คือ ประชาชนทุกพื้นที่จะต้องมีสิทธิในการกำหนดอนาคตของตนเองได้มากขึ้น และมีทรัพยากรเพียงพอที่จะใช้ในการพัฒนาแต่ละพื้นที่ตามความต้องการของประชาชน นี่เป็นความพยายามอีกครั้งของการผลักดันเรื่องนี้ หลังจากถดถอยลงไปตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2557”

ในขณะที่ ผศ.วสันต์ เหลืองประภัสร์ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มีหลายเรื่องที่น่าสนใจภายในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่พยายามผนวกประเด็นปัญหาที่พูดกันมายาวนาน ว่าการกระจายอำนาจติดขัดที่ตรงไหน ในความสำคัญกับอำนาจหน้าที่ และความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น รวมถึงการบริหารงานบุคคล และการเงิน การคลังของท้องถิ่นด้วย แต่ ผศ.วสันต์ มองว่าโอกาสจะไปได้แค่ไหนนั้น ยังน่าหนักใจ

“ความพยายามแก้กฎหมายท้องถิ่นให้เดินหน้านั้น เงียบเหงา ซบเซา และดูไม่มีทิศทาง แม้จะมีหลายพรรคการเมืองสนับสนุนก็ตาม ความยาก ความง่าย จึงเป็นเรื่องของการเมือง เพราะ ที่ผ่านมาความพยายามผลักดันกฎหมายท้องถิ่นสำคัญ ๆ ในสภา ก็ไม่คืบหน้า สะท้อนให้เห็นว่าการเมืองในยุคปัจจุบัน และผู้บริหารประเทศ อาจจะไม่ค่อยสนับสนุนผลักดันเพื่อยกระดับท้องถิ่นจริง ๆ”

แม้ ผศ.วสันต์ จะเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ แต่ยังกังวลว่าการสนับสนุนจะมีมากน้อยเพียงใด หนึ่งในอุปสรรคสำคัญ คือการบริหารราชการแผ่นดิน ที่ยังยึดติดกับโครงสร้างแบบดั้งเดิม ในขณะที่สมาชิกรัฐสภาจำนวนไม่น้อย ล้วนเป็นตัวแทนของฝ่ายราชการเดิมด้วย โอกาสจะได้รับการสนับสนุนจึงน่าหนักใจ และตนเองมองว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โดยตัวของมันเอง ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการกระจายอำนาจ และการปกครองท้องถิ่น แต่ปรัชญาในการร่างรัฐธรรมนูญนี้มุ่งเน้นการวางกรอบไว้กว้าง ๆ ไม่ลงรายละเอียด ทำให้เมื่อต้องไปแก้ไขกฎหมายลำดับรอง และไม่มีความตั้งใจมากพอ จึงทำให้เรื่องนี้ไม่คืบหน้า

เหตุผลที่ต้องแก้ รธน. ไม่มีสักคำเดียวพูดถึง “กระจายอำนาจ”

พริษฐ์ กล่าวต่อว่า เหตุผลที่ต้องมีการเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น มีอยู่ 2 เหตุผล เนื่องจาก ความคืบหน้าในการกระจายอำนาจของไทยล่าช้ามาก การแก้ไขรัฐธรรมนูญน่าจะเป็นหลักประกันให้การแก้ปัญหาเรื่องนี้ไปได้รวดเร็วมากขึ้น ถึงแม้เนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ในหมวดที่ 14 จะไม่ได้มีอุปสรรคในตัวมันเองขนาดนั้น แต่เมื่อเทียบกับสิ่งที่ถูกเขียนในรัฐธรรมนูญปี 2540 จะเห็นว่ามีหลายอย่างที่ถดถอยลงไป ทั้งหลักประกันเรื่องความเป็นอิสระของท้องถิ่น และการไม่ได้เปิดโอกาสให้ผู้บริหารท้องถิ่นรูปแบบพิเศษมาจากการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม

“ถ้าเราค้นหาคำว่า กระจายอำนาจ ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะไม่เจอเลยสักคำ แต่ในปี 2540 จะมีคำนี้อยู่บ้าง นี่เป็นเหตุผลที่เรามุ่งไปแก้ที่รัฐธรรมนูญ เพื่อวางหลักประกันว่าต้องผลักดันเรื่องนี้อย่างชัดเจน”

พริษฐ์ กล่าวว่า เนื้อหาของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ จะมีด้วยกัน 4 ประเด็นหลัก คือ 1. ประชาชนในจังหวัดมีสิทธิ เลือกผู้บริหารสูงสุดของทุกจังหวัด ที่เรียกว่า “นายกฯ จังหวัด” 2. จัดสรรงบประมาณลงสู่ท้องถิ่น ในสัดส่วน 50:50 และประชาชนในจังหวัดจะได้ตัดสินใจว่าจะใช้ทำอะไร 3. บริการสาธารณะที่มีคุณภาพมากขึ้น โดยขยายอำนาจให้ครอบคลุมมากกว่าที่เป็น และ 4. ประชาชนมีจะมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานของท้องถิ่นมากขึ้น

โดยยกตัวอย่างในเรื่องแรกว่า ปัจจุบันการเลือกผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดจะอยู่ในตำแหน่ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) โดยให้เหลือผู้บริหารคนเดียว และต้องไม่มาจากการเลือกตั้งอย่าง ผู้ว่าราชการจังหวัด เพราะ ต้องยอมรับว่าตำแหน่งผู้ว่าฯ นั้นมีอำนาจเหนือกว่า นายก อบจ. ซึ่งเราคิดว่าไม่ควรเป็นเช่นนั้น ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าผู้ว่าฯ แต่งตั้ง ไร้ความสามารถ แต่ต้องยึดโยงกับประชาชน

“จำเป็นไหมที่ต้องมีราชการส่วนภูมิภาค หลายประเทศที่เป็นรัฐเดี่ยวก็ไม่มีส่วนนี้ ถ้าท้ายที่สุดผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดเหลือคนเดียว ก็ควรมีบทสนทนาเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยเราจำกำหนดให้จัดทำประชามติภายใน 5 ปี และไม่ได้หมายความว่าหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการตามภูมิภาคจะตกงาน ท่านยังคงมีงาน มีผลประโยชน์เช่นเดิม แค่เปลี่ยนสังกัด เปลี่ยนเจ้านายเท่านั้น…”

ต้องจัดวางบทบาท – หน้าที่ ส่วนกลางและภูมิภาคใหม่

ผศ.วสันต์ มองว่าที่ผ่านมาเมื่อต้องพูดถึงเรื่องการกระจายอำนาจ เรามักพูดแยกขาดจากกลไกรัฐอื่น เสมือนว่าเป็น “คนละบ้าน” กัน ทั้งที่ทั้งหมดนั้นเป็นกลไกของรัฐ เพื่อทำหน้าที่จัดทำบริการสาธารณะ และดูแลทุกข์สุขของพี่น้องประชาชน ทั้ง ราชการส่วนกลางที่มี 19 กระทรวง 1 สำนักนายกฯ และประกอบด้วยกรมอีกประมาณ 150 กรม รวมถึงราชการส่วนภูมิภาค ที่มีทั้งผู้ว่าฯ นายอำเภอ และข้าราชการ ทั้งหมด คือ พี่น้อง 3 คนร่วมบ้านเดียวกัน

“นั่นหมายความว่าเวลาจะปรับให้คนใดคนหนึ่ง มีอำนาจมากขึ้น โดดเด่นมากขึ้น จะกระทบส่วนอื่นเสมอ เราจึงไม่สามารถพูดเรื่องการกระจายอำนาจ แยกขาดจากส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคได้ เราจึงต้องพูดกันทั้งระบบก่อน ว่าจะจัดบทบาทให้เหมาะสมอย่างไร จึงจะพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน…”

ผศ.วสันต์ กล่าวต่อว่า เมื่อแบ่งบทบาทหน้าที่กันได้แล้ว จึงมาแบ่งทรัพยากรในการขับเคลื่อนงาน ทั้ง งบประมาณ แหล่งรายได้และภาษี ที่ผ่านมาจึงเกิดการปะทะกันมาโดยตลอด ประเด็นสำคัญ คือ เราไม่มีกลไกตรงกลางในการดูทั้งระบบ ที่ไม่ใช่แค่การศึกษา และวางข้อเสนอ แต่ต้องตัดสินใจได้ด้วย ตอนนี้การตัดสินใจของท้องถิ่น ศูนย์กลางการตัดสินใจเพื่อขับเคลื่อนการกระจายอำนาจอยู่ตรงไหนยังไม่แน่ชัด เพราะ เรามีทั้งสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจ และมีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นด้วย เวลาจะแก้ไขเรื่องท้องถิ่น ก็ต้องปลดล็อกข้อติดขัดเหล่านี้ด้วย

ในขณะที่ พริษฐ์ ทิ้งท้ายว่า ที่ผ่านม่าสมาชิกรัฐสภา ทั้ง ส.ส. และส.ว. พูดมาตลอดว่าให้ความสำคัญกับประเด็นการกระจายอำนาจ การรับหลักการในวาระแรก คือ ข้อพิสูจน์ว่าคิดอย่างนั้นจริงหรือไม่ หากมีประเด็นที่ยังไม่เห็นด้วย ยินดีที่จะพูดคุย และปรับแก้ได้ในวาระที่ 2 เพราะ กุญแจของการกระจายอำนาจนี้ จะไปไขล็อกหลายส่วนที่ยังเป็นปัญหาของประเทศ เพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจ และระเบิดพลังการพัฒนา ควรส่งเสริมวัฒนธรรมนี้ และไว้ใจประชาชน ให้อำนาจประชาชนในการตัดสินใจพัฒนาท้องถิ่นของเขา

สำหรับวาระการพิจารณาในวันพรุ่งนี้ ถูกบรรจุไว้ในเรื่องด่วนที่ 4 โดยคณะก้าวไกล เปิดเผยว่าการอภิปรายนำเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปลดล็อกท้องถิ่น นั้นจะมีตัวแทนเข้าร่วมดังนี้ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า, ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า, พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์และสื่อสารนโยบาย พรรคก้าวไกล, พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศบาลนครยะลา และ รศ.วีระศักดิ์ เครือเทพ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active