นายกสมาคมฯ ถ.ข้าวสาร เห็นด้วยคุมช่อดอกกัญชา ป้องกันตั้งขายข้างถนน

เผยกัญชาสร้างรายได้ 20 -30 ล้านบาทต่อเดือน แนะรัฐเห็นความสำคัญ ออกกฎหมาย ‘ควบคุม-ส่งเสริม’ แต่หากพบฝ่าฝืนขายให้เด็กหรือเยาวชน เจ้าหน้าที่ต้องสืบสาวให้ถึงต้นตอ

27 พ.ย. 2565 หลังจากมีการประกาศ เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ. ) เรื่อง สมุนไพรควบคุม(กัญชา) พ.ศ.2565 ที่มีผลบังคับใช้ในวันที่ 24 พ.ย. 2565 ระบุว่า ให้กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุมที่มีค่าต่อการศึกษาหรือวิจัย หรือมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน ประกอบกับได้มีการปรับเปลี่ยนระบบการกำกับดูแล กัญชาจากยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 เป็นสมุนไพรควบคุมซึ่งในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว ควรมีการควบคุมไม่ให้นำกัญชาเฉพาะส่วนที่เป็นช่อดอกไปใช้ในทางที่ผิดวัตถุประสงค์ของการคุ้มครองและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากสมุนไพร

อีกทั้งหนึ่งในเนื้อหาของประกาศ ข้อที่ 3 วงเล็บ 5 ระบุว่า ห้ามจําหน่ายสมุนไพรควบคุมเพื่อการสูบในสถานที่ประกอบการ เว้นแต่การจําหน่าย โดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้านที่ได้รับการรับรองตามระเบียบกระทรวง สาธารณสุข ว่าด้วยการรับรองหมอพื้นบ้าน พ.ศ. 2562 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพ การแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีน ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะและผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพทันตกรรม ที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยของตน หรือผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการสัตวแพทย์ ที่ใช้ในการรักษาสัตว์   นั่นหมายถึงว่าอนุญาตให้ใช้ในทางการแพทย์เป็นหลัก 

ในมุมของการนันทนาการ สง่า เรืองวัฒนกุล นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร ระบุว่า ประกาศของกระทรวงที่ ประกาศออกมาผู้ประกอบการคาดการณ์ไว้อยู่แล้วว่าจะต้องออกมาในทิศทางนี้ ซึ่งได้มีการเตรียมรับโดยการให้ผู้ประกอบการที่ประสงค์จะทำธุรกิจเกี่ยวกับกัญชาทำใบขออนุญาตก่อนหน้านี้แล้ว  ซึ่ง ณ เวลานี้มีประมาณ 15 ราย ใน ถนนข้าวสาร 

เมื่อถามถึง ความเห็นเกี่ยวกับประกาศของกระทรวง นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร กล่าวว่า ไม่มีผลกระทบเพราะประกาศนี้จะสามารถจัดการร้านต่าง ๆ ที่เปิดขายตามข้างถนน ซึ่งไม่สามารถระบุที่ไปที่มาได้ชัดเจน มีหลายคน ที่เอารถไปจอดข้างทางแล้วเปิดขาย ซึ่งไม่รู้ว่าเอามาจากที่ไหน แล้วไม่รู้ว่าขายให้ใครบ้างอาจส่งผลกระทบได้

นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนมาตรการที่ใช้ในถนนข้าวสาร คือหากต้องขายให้กับนักท่องเที่ยวจะต้องมีการระบุที่มาของกัญชาอย่างชัดเจน กรณีเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติต้องมีเลขพาสปอร์ตหรือเลขหนังสือเดินทางระบุชัดเจน 

พร้อมทั้งเปิดเผยตัวเลขรายได้คร่าว ๆ ที่ได้จากการจำหน่ายกัญชาว่าสามารถสร้างรายได้ต่อเดือนประมาณ 20 ถึง 30 ล้านบาท ซึ่งกว่า 80% ของคนที่ซื้อเป็นนักท่องเที่ยวชาวยุโรป และคิดว่าเป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องส่งเสริมและมีมาตรการควบคุม มาตรการหรือกฎหมายที่เกี่ยวกับกัญชาอันไหนดีก็ให้นำมาประกาศใช้ก่อน

“วันนี้เราเสรีกัญชาเราควรที่จะมีกฎหมายหรือมาตรการออกมาควบคุมไม่ใช่ดึงกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดแต่เราควรที่จะพัฒนา แต่สิ่งที่ยังไม่ชัดเจนคือร้านที่ขายกัญชา ถ้าทำห้องสูบแบบเดิมคงไม่ได้แล้ว อาจจะต้องวางแผนกันใหม่ เป็นการแยกพื้นที่สูบออกจากร้านเหล้าเลยไหม แล้วมีพื้นที่เฉพาะอย่างชัดเจน คิดว่าทำได้ คล้าย ๆ  กับห้องสูบบุหรี่ ตามสนามบิน ซึ่งมีหลายที่หลายประเทศที่มีการทำHub ลักษณะนี้”

พร้อมทั้งระบุถึงข้อกังวล ว่าตอนแรกที่มีการประกาศเรื่องของกัญชา ระบุว่าทางการแพทย์เพราะในกรณีทางการแพทย์ที่ผลวิจัยชี้ชัดเจนอยู่แล้ว แต่ในเรื่องนันทนาการจะเห็นว่ากระแสสังคมจะชี้โทษเรื่องของการนันทนาการ ว่ามีผลเสีย

“วันนี้สิ่งที่เราเห็นตามข่าวตามสื่อในเรื่องของเด็ก ที่เข้าถึงกัญชาได้ อันนั้นมองว่าเป็นเรื่องของการสร้างความรู้พื้นฐาน ซึ่งกฎกระทรวงที่ประกาศออกมาก็ระบุชัดเจนอยู่แล้วเรื่องของการจำหน่ายให้กับเด็กและเยาวชน ฉะนั้นหากเกิดกรณีที่เยาวชนอายุต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดสูบเจ้าหน้าที่จะต้องไปหาที่ต้นตอว่าได้มาจากไหน  แนะว่าวันนี้ภาครัฐต้องหาวิธีส่งเสริมเพิ่มรายได้ให้ประเทศและผู้ประกอบการ กฎหมายควรจะส่งเสริมผู้ประกอบการรัฐบาลควรจะเห็นความสำคัญตรงนี้”

สำหรับประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่ออกมาควบคุมช่อดอกกัญชา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุก่อนหน้านี้ว่า เป็นการออกประกาศเพื่อนำกฎหมายมาควบคุมข้อห่วงใยต่าง ๆ ระหว่างรอร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ซึ่งล่าสุดคาดการณ์ว่า จะมีการพิจารณาในที่ประชุมสภาฯ ต้นเดือนธันวาคมนี้

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active