99 วัน #ทีมชัชชาติ ส่งการบ้านคนกรุง 9 ด้าน 9 ดี

4 รองผู้ว่าฯ กทม. แถลงผลการทำงาน ในโอกาสครอบรอบการทำงานครบ 100 วัน หลังเปลี่ยนมือผู้บริหารกรุงเทพฯ ย้ำทำดีที่สุด ภายใต้ข้อจำกัดด้านงบประมาณ มีแผนอีกมากพร้อมเดินหน้าต่อ

ผศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ดูแลนโยบายด้าน ปลอดภัยดี สุขภาพดี บริหารจัดการดี โดยระบุว่าในด้านปลอดภัยดี มีการจัดทำฐานข้อมูลดิจิทัลพื้นที่จุดเสี่ยงความปลอดภัย (BKK RISK MAP) มีข้อมูลหัวจ่ายดับเพลิง ข้อมูลบัญชีวัสดุอุปกรณ์ เครื่อมือเครื่องใช้ในการเผชิญเหตุ ด้านทรัพยากรมีการพัฒนาระบบป้องกันสาธารณภัย เพิ่มประปาหัวแดงโดยเฉพาะพื้นที่เขตประชากรหนาแน่น พัฒนาบัญชีอุปกรณ์ในการเผชิญเหตุ

ในด้านนโยบายสุขภาพดี แบ่งเป็น 4 เรื่อง ได้แก่ 1.ระบบการจัดการโรคติดต่อ (โควิด-19) เปิดคลินิกวันเสาร์ จัดทีมวัคซีน 608 เชิงรุก ดูแลแล้ว 16,961 ราย คลินิค long covid 9 โรงพยาบาล 2. ศูนย์บริการบัตรคนพิการแบบเบ็ดเสร็จ 9 ที่ เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงสิทธิของคนพิการได้สะดวก รวดเร็ว 3. คลินิกความหลากหลายทางเพศ (bangkok pride clinic) ให้บริการ 6 แห่ง 6 และ 5 โรงพยาบาล 4.ระบบแซนด์บ็อกซ์สุขภาพ สุขภาพปฐมภูมิ เริ่มที่ดุสิตโมเดล ราชพิพัฒนาแซนด์บ็อกซ์ เพื่อให้ประชาชนสามารถรักษาพยาบาลได้สะดวกใกล้บ้าน เชื่อมโยงข้อมูลถึงกันระหว่างหน่วยงานทุกเกี่ยวข้อง

บริหารจัดการดี สร้างระบบบริการ smart service รับบริการงานทะเบียนแบบออนไลน์ มีหลักเกณฑ์กำหนดการรับคนพิการเข้าจ้างงานราชการ ทบทวนจัดทำร่างข้อบัญญัติเงินรางวัลประจำปีสำหรับสวัสดิการครู พนักงานทำความสะอาด พร้อมประกาศจุดยืนไม่ล่วงละเมิดทางเพศ สนับสนุนการไม่เลือกปฏิบัติในการทำงาน

“99 วันต่อจากนี้ ในแง่ปลอดภัยดี เก็บข้อมูลนำเข้าข้อมูล สร้างระบบข้อมูลชุมชน ระบบบริหารจัดการความปลอดภัยด้วยระบบข้อมูล และบูรณาการ bkk risk map จุดวิกฤตอัคคีภัย น้ำท่วม สารเคมีอันตราย ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล เพื่อเตรียมความพร้อมได้ ด้านสุขภาพดี เตรียมตั้งศูนย์บริหารสาธารณสุข 16 แห่ง เตียงพักคอยใน 6 โซนเขต ขยายแซนด์บ็อกซ์สุขภาพ เชื่อมเขตให้มากขึ้น ด้านบริหารจัดการดี พยายามจัดทำดิจิทัลแพลน 216 เป้าหมาย ติดตามได้ตาม bangkok digital plan พร้อมปรับโครงสร้างการทำงานใหม่ อัตรากำลังไปอยู่ในสำนักงานเขต และการประเมินการผฏิบัติงานราชการโดยมุ่งผลสัมฤทธิ์”

รศ.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า ในด้านการบริหารจัดการน้ำท่วมในปัจจุบัน ได้มีการปรับปรุงสถานีสูบน้ำ บ่อสูบน้ำ ปั๊มน้ำ มีการล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ 3,358 กม. ขุดลอกคลองเปิดทางน้ำไหล 32 คลอง 1,665 กม.​

“ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะติดขัดเรื่องงบประมาณ แต่เราพยายามเปิดทางน้ำไหล ทำให้ร่องน้ำลึกขึ้น เพื่อรับน้ำที่ตกในน้าฝน แต่ปีหน้าจะจัดสรรงบเพื่อทำอย่างจริงจัง”

นอกจากนี้ ยังได้วางแนวทางป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา จัดเรียงกระสอบทรายแนวฟันหลอ 3.12 กม. วางแผนการก่อสร้างเขื่อนถาวร 1.5 กม. จาก 3.1 กม. และอยู่ระหว่างขอความร่วมมืออีก 1.41 กม.

“เราทำดีที่สุดแล้วไม่ว่าจะเป็นการระบายน้ำ การบริหารจัดการน้ำในคลอง แต่เมื่อมีปริมาณน้ำฝนตกลงมาจำนวนมากเราก็พยายามหาแนวทางแก้ไข จัดรถบริการรับส่งประชาชน มีหน่วยซ่อมรถ ยกรถ ลากรถ ณ จุดน้ำท่วม เมื่อวานซ่อมมอเตอร์ไซค์กว่า 150 คันใน คืนเดียว”

อีกด้านหนึ่งยังมีการปรับปรุงทางม้าลายทางสีใหม่ 1,286 จุด จาก 2,788 จุด การตั้งระบบขอภาพ CCTV เชื่อมโยงข้อมูล 1,168 ราย การคืนพื้นผิวจราจรในโครงการที่มีผลกระทบกับจราจร คืนแล้ว 2 จาก 14 โครงการ จะเสร็จเพิ่มอีก 5 โครงการปลายปีนี้ และอีก 7 โครงการในปีหน้า สำหรับในส่วนคลัสเตอร์จุดอุบัติเหตุ แก้ไขจุดเสี่ยง 100 จุด ดำเนินการแล้ว 2 จุด ที่เหลืออยู่ระหว่างวิเคราะห์และวางแผนแก้ไข ส่วนการเอาสายสื่อสารลงดิน ประสานงานร่วมกับหลายหน่วยงานทั้งการไฟฟ้านครหลวง กสทช. แล้วเสร็จ 62 กม. จะแล้วเสร็จปลายปีอีก 74 กม. และ 174 กม. ในปี 2568 งานจัดระเบียบสายสื่อสาร แล้วเสร็จ 79.62 กม. จาก 1,000 กม.

จักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า มีเรื่องที่ดูแล 3 เรื่องหลัก คือ จุดทำการค้า สวน 15 นาที และนโยบายการจัดการขยะ โดยจุดทำการค้า หาบเร่แผงลอย ได้มีการหาสถานที่ให้ผู้ค้ามีจุดค้าขายเพิ่มมากขึ้น สถานที่ราชการ 125 แห่ง รองรับผู้ค้าได้ 8,300 ราย ทางเท้ารวม 198 แห่ง รองรับผู้ค้า 27,627 ราย

“หลักเกณฑ์ให้ผู้ค้าทำการค้าอย่างถูกระเบียบ หลายคนสะท้อนว่ากระบวนการยังล้าสมัย ก็อยากให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม รวมถึงผู้ค้าเพื่อให้มีโอกาสใช้ทางเท้าร่วมกันได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด กทม.เป็นสถานที่ท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาเป็นจำนวนมาก ถ้าทำให้เกิด street food จะสามารถร้างรายได้ในอนาคต ขณะนี้มีพื้นที่ทำการค้าทั้งหมด 95 จุด มีผู้ค้า 6,048 ราย ต้องมีการจัดระเบียบ ยกตัวอย่าง เขตราชเทวี ซอยรางน้ำ สะพานหัวช้าง ความยาวจุด 45 เมตร ผู้ค้า 20 ราย ที่จัดเวลาทำการค้า 6.00-16.00 น. ได้รับความร่วมมือจากเอกชนเป็นอย่างดี”

ในอนาคตตามแผนที่ตั้งไว้ ภายในเดือน พ.ย.56 เพิ่มพื้นที่การค้าอีก 17 จุด ภายในเดือน ก.พ.66 เพิ่มอีก 29 จุด และในเดือน พ.ค.66 เพิ่มอีก 26 จุด

“สำหรับนโยบาย สวน 15 นาที เราจะมีสวนขนาดเล็ก ประมาน 200 ตร.ว. มีพื้นที่เป้าหมาย 140 แห่ง ใช้สอยได้ในระยะ 800 เมตร แต่มีพื้นที่นำร่อง กำลังเริ่มดำเนินงาน 30 แห่ง รวม 21 สำนักงานเขต มีการพูดคุยร่วมกันเพื่อพัฒนา หลังจากประชาชนยินยอม ก็จะปรับปรุงพื้นที่ ที่ใช้งบฯ ของกทม. และส่วนที่ภาคเอกชนทำการปรับปรุงเองและให้ กทม.ใช้ดูแล เริ่มดำเนินการแล้วในบางส่วน เช่น เขตคลองสาน จะมีการหารือร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่าจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร จะใช้งบฯ น้อยที่สุด หรือกรณีสวนใดอยู่ในสภาพที่ดีอยู่แล้วจะใช้งบฯ ไม่มาก เป็นการใช้งบฯ ตามสมควรไม่ได้ใช้งบฯ เยอะเกินไป”

เรื่องการจัดการขยะ ปัจจุบัน กทม. มีขยะที่ต้องกำจัดจำนวนมากราว 9,000 ตันต่อวัน ใช้งบประมาณ 17 ล้านบาทต่อวัน รวมเป็น 6.3 หมื่นล้านบาทต่อปี การลดปริมาณขยะตั้งแต่ต้นทางจึงสำคัญ กทม. มีแนวทางลดและคัดแยกขยะ ในพื้นที่ต่าง ๆ มีความร่วมมือ 998 ชุมชน องค์กรที่เข้าร่วม ดำเนินการแล้ว 925 แห่ง ขยะลดลงและช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย 85,400 ต่อวัน ในปี 2566 มีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ลดขยะอีก 3,600 แห่ง และครบ 100% ในปี 2569

“เมื่อชาวบ้านแยกขยะแล้ว กทม.แยกหรือเปล่า เราก็มีโครงการไม่เทรวม เป็นต้นแบบการแยกขยะของ 3 เขต ปทุมวัน พญาไท หนองแขม ปลายปีนี้ทั้ง 3 เขต จะทำดำเนินการครบทุกพื้นที่ อีก 47 เขตจะทำได้ในปี 2566”

ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคนต้องทำในหลายมิติ และคนในเมืองมีส่วนร่วมกัน ที่ผ่านมา กทม. ส่งเสริมกิจกรรมให้เมืองมีชีวิต จัดดนตรีในสวน 60 ครั้ง หน่วยงานอื่นๆ จัดต่อเนื่องอีกมากกว่า 100 ครั้ง ทำให้สวนเป็นมากกว่าที่ออกกำลังกาย เช่น หนังสือในสวน บอร์ดเกมในสวน และมีเทศกาล 12 เดือน bangkok festival ทำให้เกิดนโยบายใหม่ ๆ ต่อยอดอีก เช่น เดือนมิถุนายน มีงาน pride month นโยบายเกี่ยวกับ LGBTQ เพิ่มเติมขึ้นมา เดือนกรกฏาคมมีการจัดกรุงเทพกลางแปลง ซึ่งจะดึงศักยภาพของหนังกลางแปลงกลับมา ดังจะเห็นว่าหลายจังหวัดเอาแนวคิดนี้ไปใช้ สำหรับเดือนสิงหาคมมีเทศกาลบางกอกวิทยา ทำให้เห็นมิติใหม่ของกรุงเทพฯ เปิดพื้นที่เรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ทำให้ กทม.เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ ส่วนเดือนนี้กันยายน เป็นเทศกาล BKK เรนเจอร์ ทำให้เดือนนี้มีกิจกรรมเกี่ยวกับเด็ก ในพื้นที่เกือบทุกเขตที่มีศูนย์เยาวชน

“นอกจากนี้มีการดึงอัตลักษณ์ย่านกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น ถนนคนเดิน 39 แห่ง ใน 50 เขต งานส่งเสริมคนไร้บ้าน ไม่ไร้สิทธิ ไม่ไร้งาน ร่วมกับมูลนิธิต่าง ๆ เปิดจุดให้บริการเฉพาะกิจ 4 จุด ให้คนไร้บ้านมาใช้บริการ สำหรับเรื่องสวัสดิการคนพิการ จากเดิมมีจ้างงานคนพิการ 212 คน ตอนนี้เพิ่มเป็น 324 คน”

เรื่องนโยบาย OPEN Bangkok แสดงความโปร่งใส และการมีส่วนรวม โดยเปิดร่างงบประมาณ ทุกหน่วยงาน ผ่านกราฟิก และปัจจุบันมีคณะทำงานจัดตั้งเกิด 10 ทีม ที่เข้ามาช่วยทำงานเป็นการสร้างพื้นที่ทำงานร่วมกับภาคประชาชน ในเรื่องส่งเสริมการศึกษา มีการทำพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาให้โรงเรียนสังกัด กทม. ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ต่าง ๆ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active