77 ปี วันสันติภาพไทย เราอยู่ตรงไหนของความขัดแย้งโลก?

แค่เป็นกลางอย่างเดียวไม่พอ ต้องส่งต่อแนวคิดสันติภาพ และสิทธิมนุษยชน ‘ทูตรัศมิ์’ แนะ เลิกแก้ต่างให้เมียนมา

วันนี้ (16 ส.ค. 2565) ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดเวทีเสวนาทางวิชาการ เนื่องใน “วันสันติภาพไทย” PRIDI Talks #17 : 77 ปี วันสันติภาพไทย “ความคิดสันติภาพของปรีดี พนมยงค์ กับ สันติภาพของโลกในปัจจุบัน” วิเคราะห์ความเป็นไปของสังคมโลก ท่ามกลางความขัดแย้งรุนแรงของหลายประเทศ ว่าแนวโน้มสงครามโลกครั้งที่ 3 จะเกิดขึ้นหรือไม่ ในแง่มุมของการต่างประเทศ ความมั่นคงทางด้านการทหาร มุมมองด้านสิทธิมนุษยชนและผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ รวมถึงแนวคิดสันติภาพของ ปรีดี พนมยงค์ อีกทั้งเพื่อรำลึกถึงคุณูปการของ “สมาชิกขบวนการเสรีไทย” เหล่าวีรชนผู้ยอมเสี่ยงชีวิตเพื่อรักษาไว้ซึ่งเอกราชและอธิปไตยของชาติไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

ปัญญาชนสยาม ยก “วันสันติภาพ” สำคัญที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งกรุงฯ

สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม เล่าวว่า วันที่ 16 สิงหาคม 2488 หรือ 77 ปีที่แล้ว คือ วันที่นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในรัชกาลที่ 8 ได้ออกประกาศสันติภาพในพระปรมาภิไธยฯ ให้การประกาศสงครามเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2485 เป็นโมฆะ เนื่องจากเป็นการกระทำอันขัดต่อเจตจำนงของประชาชนและขัดต่อรัฐธรรมนูญ ถือเป็นผลงานชิ้น “โบว์แดง” ที่นายปรีดี ทิ้งเอาไว้ ยังประโยชน์มาสู่ประเทศชาติ และมนุษยชาติ

“ผมกล่าวได้เลย ว่าวันสันติภาพ เป็นวันสำคัญที่สุดของกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นวันประกาศอิสรภาพ ไม่น้อยไปกว่าช่วงสมเด็จพระนเรศวรฯ หรือช่วงที่พระเจ้ากรุงธนบุรี ขับไล่พม่าออกจากประเทศ แต่เหตุใดคนไทยสมัยนี้ไม่เข้าใจ เพราะรัฐบาลไม่ให้ความสำคัญ ไม่เห็นว่าสันติภาพ จะนำมาซึ่งความผาสุกของราษฎร…”

สุลักษณ์ กล่าวต่อว่า ผลงานโบว์แดงชิ้นแรกของนายปรีดี คือ การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข สถาปนาอำนาจอธิปไตยให้เป็นของปวงชนชาวไทย ทำให้คนไทยทุกคน ไม่ว่าไพร่ หรือเจ้า เสมอภาคกันเบื้องหน้ากฎหมาย ผ่านธรรมนูญการปกครองที่ดีที่สุด สั้น และกระชับมากที่สุดของประเทศไทย

ชิ้นที่ 2 นายปรีดี เล็งเห็นว่าความเสมอภาคไม่เพียงมีแค่กฎหมายเท่านั้น แต่หมายถึงความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจด้วย จึงได้เสนอเค้าโครงเศรษฐกิจฯ เพื่อนำไปสู่การสร้างรัฐสวัสดิการ แต่กลับถูกกล่าวหาว่าเป็นแนวคิดคอมมิวนิสต์ เสนอเค้าโครงเศรษฐกิจ จนทำให้ถูกหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ หากในวันนั้นประเทศไทยมีสวัสดิการที่ดี เท่าเทียมกันทุกคน ปากท้องของคนไทยจะดีกว่านี้มาก

ก่อนจะปิดท้ายว่า วันสันติภาพนี้ มาจากขบวนการเสรีไทย ที่มีผู้คนร่วมอุดมการณ์กันทั้งประเทศ ต่อสู้เพื่อเอกราชของชาติ เอาชนะญี่ปุ่นที่เข้ามายึดครองประเทศ เพราะ ตระหนักดีแล้ว ว่า สันติภาพดีกว่าสงคราม เนื่องจาก สงครามนั้นเกิดจากผู้นำทางการเมือง โดยที่ประชาชนไม่เกี่ยวข้องด้วย การที่เราจะเดินไปข้างหน้า เราต้องรู้จักอดีต วันสันติภาพ เป็นวันสำคัญที่สุดของกรุงรัตนโกสินทร์ ที่อยากให้คนไทยทุกคนจดจำ

ผู้นำครองตำแหน่งนานเกินไป เสี่ยงสงคราม เพราะสร้างฝันเพื่อตัวเอง

พล.ท. พงศกร รอดชมภู อดีตประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า สงครามส่วนใหญ่ เกิดจากผู้นำทางการเมืองทั้งสิ้น ที่ชอบคิดถึงแต่เรื่องตัวเอง แล้วสร้างความฝันที่ยิ่งใหญ่ เงื่อนไขสำคัญ คือ ความยุติธรรมในการกระจายผลประโยชน์ ทรัพยากรที่ขาดแคลน สร้างความเชื่อที่จะสนับสนุนให้เกิดสงคราม มักเป็นจุดยืนหลังจากที่เจรจาไม่ได้

“ที่ผ่านมาเวลาเกิดสงคราม คนในประเทศที่มีสงคราม ไม่เคยทะเลาะกันเลย แต่ผู้นำสร้างความแตกต่างระหว่างกัน นำไปสู่ความรุนแรง และการทำสงคราม ถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายในทางการเมือง เรื่องแรก ที่ควรคำนึงถึงคือไม่ควรให้ผู้นำครองตำแหน่งนานจนเกินไป ไม่ให้เขามีความฝันว่าตอบสนองความต้องการของตัวเอง…”

พล.ท. พงศกร กล่าวถึงสงครามและความขัดแย้งระหว่างประเทศ ทั้ง สงครามรัสเซีย – ยูเครน และความขัดแย้งระหว่างจีน ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา นั้นล้วนเกิดจากการแบ่งปันทรัพยากร และความพยายามของประเทศมหาอำนาจ ที่ต้องการกลับไปสู่ความยิ่งใหญ่อย่างในอดีต เกิดการแบ่งขั้ว แบ่งข้าง แต่หากถามว่าสงครามโลกครั้งที่ 3 จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ย่อมไม่สามารถตอบได้อย่างชัดเจน แต่ตัวบ่งชี้ขีดความสามารถของแต่ละประเทศ คือ ถ้าปิดประเทศ แล้วทำสงครามอย่างเดียว ทรัพยากรภายในประเทศสามารถอยู่ได้กี่เดือน นั่น คือสิ่งที่แต่ละประเทศใช้ตัดสินใจ

แต่คำถามที่สำคัญไปกว่านั้น คือ ท่าทีของประเทศไทย ควรอยู่ตรงไหนของโลก แน่นอนว่า ควรอยู่ในจุดที่เป็นกลาง แต่ไม่ใช่การนิ่งเฉย จำเป็นต้องสร้างบทบาทในการเป็นผู้เจรจา ภายใต้หลักการสันติภาพ และความสงบด้วย

เป็นกลางอย่างเดียวไม่ได้ ต้องส่งออกแนวคิดสันติภาพด้วย

รศ.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวว่า กอ่นสงครามโลกครั้งที่ 2 ปรีดี พนมยงค์ มองเห็นถึงการขยายตัวของลัทธิเผด็จการทหาร ที่กำลังจะจุดชนวนสงครามโลก จึงอำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” เพื่อสื่อถึงอุดมการณ์สันติภาพ สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตย รวมทั้งคัดค้านสงครามไปยังนานาประเทศ ไม่เห็นด้วยกับการรุกราน และยึดครองที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งสิ่งนี้เป็นการประกาศเจตนารมณ์ ว่าประเทศไทย “รักสันติภาพ” และเป็นบทเรียนที่มีต่อสังคมไทยในเวลานี้ด้วย

“ไทยแค่วางตัวเป็นกลางอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องส่งออกความคิดสันติภาพ ที่ยึดมั่นในสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย การส่งออกไม่ได้หมายถึงการสร้างปัญหา แต่ใช้ข้อมูลข่าวสาร และความรู้ ว่าสิ่งนี้จะทำให้เราอยู่ร่วมกันอย่างสันติและมีเสรีภาพ เราจะปล่อยให้รัฐบาลทหารพม่า ไล่ยิงผู้คนของเขาต่อไปไม่ได้ เราต้องบอกเพื่อนเรา ว่าอย่าทำแบบนี้ เส้นทางที่ถูกต้อง คือ การคืนอำนาจให้ประชาชน จัดให้มีการเลือกตั้ง แล้วฟื้นฟูประชาธิปไตยกลับมา…”

รศ.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ช่วงเวลาไหน ที่โลกมีสันติ เศรษฐกิจจะรุ่งเรือง ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี หากมีสงคราม จะตรงกันข้าม สุดท้ายจะเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ ในประเทศที่สามารถดำรงรักษาการปกครองให้มีเสถียรภาพ และเป็นประชาธิปไตย ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจจะไม่ลุกลาม อย่าง วิกฤตการณ์ Great Depression ในปี ค.ศ. 1929 เพราะ เมื่อลำบากมาก ๆ จะทำให้กลุ่มลัทธิที่สร้างความเชื่อให้คนต้องเลือกเพื่อความอยู่รอด และนำไปสู่สงคราม

ก่อนจะปิดท้ายที่แนวคิดสันติภาพของปรีดี ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในปัจจุบันได้ ทั้ง พุทธปรัชญา และมนุษยชธรรม สันติภาพ แนวคิดภราดรภาพนิยม รวมถึงสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ ประชาธิปไตย หมายถึงการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ความเหลื่อมล้ำทางศรษฐกิจน้อย เฉลี่ยทรัพยากรอย่างเท่าเทียมให้ทุกคนในสังคม

แนวคิดสันติภาพไทย ‘ถดถอย’ แนะเลิกแก้ต่าง ‘เมียนมา’

รัศม์ ชาลีจันทร์ อดีตเอกอัครราชทูต และเจ้าของเพจทูตนอกแถว กล่าวถึงแนวคิดของปรีดี พนมยงค์ ว่าเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ในการช่วยให้ไม่เป็นประเทศที่แพ้สงคราม ถือเป็นความสามารถในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ และต่อมาได้ถูกวางรากฐานเป็นแนวนโยบายต่างประเทศของไทยใน 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่ การวางตัวเป็นกลาง มีบทบาทอย่างสร้างสรรค์ในเวทีประชาคมโลก และพยายามรวมกลุ่มในภูมิภาค จนนำมาสู่ประชาคมอาเซียนได้ แม้จะมีข้อบกพร่องมากมาย แต่ถือเป็นแนวคิดตกทอดของท่านอาจารย์ปรีดี

“แต่ย้อนกลับมาดูในปัจจุบัน เราทำหลายอย่างที่ไม่ได้เป็นไปตามแนวคิดที่ท่านปรีดีวางไว้ โดยเฉพาะ ปัญหาที่น่าหนักใจคือนโยบายที่มีต่อพม่า ถือเป็นเรื่องที่แย่มาก คือ รัฐบาลไทยในปัจจุบันที่มีปัญหาเรื่องความชอบธรรมในตัวเอง และพยายามยึดโยงความสัมพันธ์ คอยแก้ต่างให้เมียนมาตลอดเวลา ทำให้เรายืนอยู่ตรงข้ามกับประชาคมโลก ถูกผลักออกมาจากโลกเสรีประชาธิปไตย…”

รัศมิ์ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันโลกกำลังก้าวเข้าสู่ความขัดแย้งใหม่ เป็นการสู้กันของอุดมการณ์ระหว่างประชาธิปไตย และอำนาจนิยม และค่านิยมอุดมการณ์ประชาธิปไตยถดถอยลงอย่างมาก แทบทุกพื้นที่ทั่วโลก แม้แต่ประเทศสหรัฐอเมริกาเอง รวมถึงรอบข้างเราแทบจะไม่มีประเทศไหน ที่เป็นประชาธิปไตยเลย อย่างมาก คือ อินโดนีเซีย หรือมาเลเซียเท่านั้น ทั้งในขณะที่ไทยเรา ซึ่งเคยเป็นแนวหน้าของประชาคม ตอนนี้ของเราถดถอยลงมาเช่นกันจากเหตุรัฐประหาร ที่ยังมีประชาชนจำนวนไม่น้อย สนับสนุนความคิดเช่นนี้

ทั้งหมดนี้ จึงนำไปสู่แนวโน้มของการเกิดสงครามที่จะทำลายสันติภาพ เพราะ มีโอกาสเกิดขึ้นในประเทศที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับประชาธิปไตยมากนัก รัศมิ์ มองว่า การเรียกคืนแนวคิดสันติภาพมีความจำเป็นในช่วงเวลานี้ โดยเฉพาะในประเทศไทย

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้