ครั้งแรก “เครือข่ายเสียงประชาชน” เปิดลงมติ “ไว้วางใจ – ไม่ไว้วางใจรัฐบาล” คู่ขนานในสภาฯ โทรศัพท์ 1 เครื่อง เท่ากับ 1 เสียง สแกนคิวอาร์โค้ดหน้าจอทีวีดิจิทัล 4 ช่อง เริ่มวันนี้ 18.00 น. ถึง 11.00 น. พรุ่งนี้ (23 ก.ค.) ‘ผศ.ปริญญา’ ย้ำ เสียงประชาชนแม้ไม่มีผลทางกฎหมาย แต่ถูกรับฟัง
วันนี้ (22 ก.ค. 2565) ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยกับ The Active ระบุ ที่ผ่านมาสังคมเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบรัฐสภาของไทย ทำให้เสียงของประชาชนไม่ได้ถูกใช้อย่างแท้จริง ส่วนหนึ่งเพราะการเป็นประชาธิปไตยแบบตัวแทน ทำได้แค่เพียงเลือกผู้แทน ส.ส. ในระบบ และให้ ส.ส. เลือกนายกรัฐมนตรีแทนประชาชน หากถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจก็ควรจะเปลี่ยนรัฐบาล
“ในสภาฯ มีปัญหาเรื่องการเจรจาต่อรอง การล็อบบี้ หรือ ถ้าพูดสุภาพกว่านั้น คือ การดูแลกันมากจนเกินไป ถ้าหลักฐานฝ่ายค้านมาก ก็ต้องดูแลกันมาก ขณะที่ประชาชนเกิดคำถามว่า จะมีทางไหมที่ฟังอภิปรายแล้ว สามารถโหวตได้? ซึ่งไทยยังไปไม่ถึงระบบนั้น…”
ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล
ครั้งแรกประเทศไทย “ลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล-ออนไลน์”
ผศ.ปริญญา ย้ำว่า การอภิปรายครั้งนี้แตกต่างไปจากทุกครั้ง เพราะประชาชนสามารถใช้โทรศัพท์มือถือของตัวเอง 1 เครื่อง 1 หนึ่งเสียง เพื่อโหวตนายกฯ และรัฐมนตรีทั้ง 11 คน ว่าจะไว้วางใจหรือไม่ได้ทันที คู่ขนานกับการ ลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี จากในสภาฯ ที่จะลงมติในวันพรุ่งนี้ (23 ก.ค. 2565) ผ่านโครงการ “เสียงประชาชนลงมติ-ไว้วางใจไม่ไว้วางใจรัฐบาล”
เป็นความร่วมมือระหว่างกลุ่มนักวิชาการจาก 4 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และมหาวิทยาลัยรังสิต และเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนที่ร่วมกันจัดงาน 30 ปีพฤษภาประชาธรรม ร่วมกับสื่อ โทรทัศน์ดิจิทัล 4 ช่อง ได้แก่ เนชั่น ไทยรัฐทีวี ข่าวเวิร์คพอยท์ และพีพีทีวี ร่วมกันทำโครงการเสียงประชาชนลงมติไว้วางใจ-ไม่ไว้วางใจรัฐบาล เปิดให้ประชาชนได้ลงมติไว้วางใจ หรือไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายทางออนไลน์คู่ขนานกับการลงมติของสภาผู้แทนราษฎร
โดย การลงมติออนไลน์ จะดำเนินการโดยสื่อโทรทัศน์ดิจิทัลที่ร่วมโครงการ จะนำคิวอาร์โค้ดขึ้นหน้าจอให้ประชาชนได้ร่วมลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้ใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทั้ง 11 คน แยกเป็นรายบุคคลเช่นเดียวกับสภาผู้แทนราษฎร โดยมีกติกาในการลงมติ คือ
- โทรศัพท์มือถือหนึ่งเครื่อง หรือ คอมพิวเตอร์หนึ่งเครื่องจะลงมติได้เพียงหนึ่งครั้ง
- การลงมติจะเริ่มต้นในวันสุดท้ายของการอภิปราย คือ วันศุกร์ที่ 22 ก.ค. เวลา 18.00 น. โดยจะปิดการลงมติในวันที่ 23 ก.ค. 2565 เวลาเดียวกับการปิดลงมติของสภาผู้แทนราษฎร คือประมาณ 11.00 น. จากนั้น จะมีการสรุปผล และรายงานผลไปพร้อมกับผลการลงมติของสภาผู้แทนราษฎร
ผศ.ปริญญา ย้ำว่า ไม่ได้มีความมุ่งหมายที่จะไว้วางใจ หรือไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่ถูกอภิปราย แต่ประสงค์จะส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ ได้แสดงออกซึ่ง “เสียงประชาชน” แม้ว่าจะไม่มีผลทางกฎหมาย และไม่ว่าผลการลงมติในสภาผู้แทนราษฏรจะเป็นเช่นไร แต่ผลที่ออกมาคือ “เสียงประชาชน” ที่ทุกฝ่ายจะได้รับฟัง ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่มีการดำเนินการให้ประชาชนได้ลงมติไว้วางใจ-ไม่ไว้วางใจ คู่ขนานกับ สภาผู้แทนราษฎรโดยใช้ช่องทางออนไลน์ ที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมได้โดยสะดวก จัดการได้ง่าย และทราบผลได้รวดเร็ว ซึ่งควรจะได้มีการใช้ในการส่งเสริม “เสียงประชาชน” ให้ดังยิ่งขึ้นในวาระอื่น ๆ และนำไปสู่ประชาธิปไตยทางตรงได้มากขึ้น
ฟันธง ผลโหวตรอบนี้มีรัฐมนตรีหลายคนเสี่ยงสอบตก
ผศ.ปริญญา วิเคราะห์ไปถึงโหวตในสภาฯ รอบนี้ว่า ต่างฝ่ายต่างเตรียมตัวมาอย่างดี เช่น ฝ่ายค้านที่วางกลยุทธ์แบบไม่แผ่วปลาย พุ่งตรงไปที่หัวขบวนในวันสุดท้าย และข้อมูลในการอภิปรายก็เป็นข้อมูลเชิงลึกที่ไม่เคยปรากฏเป็นข่าวมาก่อน เรียกเสียงฮือฮา และสร้างปัญหาให้กับ รัฐมนตรีหลายคนที่ถูกอภิปราย ส่วนตัวจึงมองว่า อาจมีผลทำให้รอบนี้ต้องปรับรัฐมนตรีอย่างแน่นอน เมื่อลองนับคะแนนจากฝ่ายค้าน ที่ต้องเกินกึ่งหนึ่งของเสียงทั้งหมดในสภาฯ คือ 239 เสียงจาก 477 เสียง มองว่าเวลานี้รวมกันเสียงของรัฐบาลยังได้เปรียบ เพราะฝ่ายค้านรวมกับพรรคเศรษฐกิจไทย ของ รอ.ธรรมนัส ยังไม่พอ เพราะมีเพียง 224 เสียง แต่หากกลุ่ม 16 มาโหวตฝ่ายค้านเมื่อไหร่ รัฐบาลจะเหลือแค่ 237 เสียง ผศ.ปริญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า “กลุ่ม 16 ให้สัมภาษณ์ว่า ท่านนายกฯ เชิญไปปรับความเข้าใจกัน ไปคุยให้สอบผ่านทุกคน… ผมคิดว่ามีลุ้น เรียกว่าข้อมูลประเด็นอภิปรายสร้างความหนักใจแน่นอน”
แม้ที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ทุกรัฐบาลจะไม่สามารถ ล้มรัฐมนตรีกลางสภาฯ แต่รอบนี้มีบางคนถึงขึ้นหวาดเสียวแน่นอน แต่หากรัฐบาลเพลี่ยงพล้ำมาก จะเกิดการต่อรองกัน ผศ.ปริญญา ยังยกตัวอย่างกรณียุคของบรรหาร ศิลปอาชา ถึงขนาดจะไม่ไว้วางใจ มีการประชุมต่อรองให้ผ่านแล้วจะลาออก ปรากฏว่าไม่ลาออก แต่ยุบสภาฯ แทน แม้จะมีการต่อรองให้ผ่าน
“ผมมันใจว่า รอบนี้ต้องสะเทือนถึงปรับ ครม. แน่นอน… แต่ไม่ว่าผลโหวตในสภาฯ นอกสภาฯ จะเป็นอย่างไร สุดท้ายข้อมูลที่รัฐบาลถูกเปิดแผล และคะแนนโหวตจากภาคประชาชนที่เพิ่งเคยเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกจากนอกสภาฯ น่าจะเป็นจุดเริ่มสำคัญของการสร้างการมีส่วนร่วมทางประชาธิปไตยของภาคประชาชนได้ไม่น้อย…”
ติดตามบทสัมภาษณ์ และรายละเอียดบทวิเคราะห์เต็ม ๆ ได้ผ่านช่องทางชมย้อนหลังรายการตรงประเด็น 22 ก.ค. 2565