“จุติ” โต้ ฝ่ายค้านใช้ข้อมูลเท็จ ปมตั้งคนปั่นหุ้นนั่งคกก.เคหะฯ

ท้ายื่น ป.ป.ช.ตรวจสอบ โอดต้องสู้กับกลุ่มผู้มีอิทธิพลหากินกับโครงการกว่า 10 ปี จนได้ที่อยู่อาศัยให้คนรายได้น้อย  ด้าน “ณัฐชา” บอกแจงเท่านี้ เก็บของออกจากกระทรวงดีกว่า

วันนี้ (20 ก.ค.65) การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 13 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1) เป็นพิเศษ ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลวันที่สอง ช่วงบ่าย จุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  ชี้แจงกรณีที่ ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจเกี่ยวกับการทำหน้าที่ไม่เหมาะสมและไม่เกิดประโยชน์ต่อการเคหะแห่งชาติฯ​

โดยระบุ ว่า การบอกว่าตนเองทำงานมา 3 ปียังไม่เห็นการพัฒนาด้านที่อยู่อาศัย อยากชี้แจงว่า เมื่อตนเองมารับภาระกำกับ ดูแลการเคหะฯ นั้น สถานะทางการเงินของการเคหะฯ ที่ไม่ค่อยที่ไม่ค่อยมีใครทราบเท่าไหร่ มีหนี้สินรวม 35,419 ล้านบาท มีทรัพย์สิน 53,746 ล้านบาท แต่ปัญหาคือมีภาระจากโครงการเอื้ออาทร ที่ขาดทุนสะสมถึง 38,843 ล้านบาท นอกจากนั้นต้นทุนที่กล่าวมาทำให้การเคหะฯ ต้องจ่ายดอกเบี้ยประจำ ปีละไม่ต่ำกว่า 600 ล้านบาท ซึ่งในช่วงที่ตนเข้ามาดำรงตำแหน่ง คณะกรรมการฯ ได้รายงานว่าได้รับข้อสังเกตจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่มีไปถึงการเคหะก่อนหน้านี้แล้ว และได้สั่งการให้การเคหะฯ สำรวจ ตรวจสอบ ความผิดปกติของการจัดทำบัญชีที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน และเน้นว่าการเคหะฯ นั้น มีระบบควบคุมภายในที่ไม่ดีเพียงพอ มีระบบการบริหารจัดการทรัพย์สินที่ไม่ครอบคลุมภารกิจที่ดำเนินธุรกิจอยู่ และเสนอให้แก้ไขระเบียบ ข้อบังคับ

สตง. ได้ตรวจสอบแล้วพบปัญหาความผิดปกติเกี่ยวกับบริษัทลูก และผลประโยชน์ทับซ้อนในบริษัทลูกคือ  บริษัท จัดการทรัพย์สินและชุมชน จำกัด (เซ็มโก้)  ซึ่ง ส.ส.ฝ่ายค้านได้อภิปรายถึงปัญหาเมื่อวานนี้ นอกจากนั้นการตรวจสอบของ สตง. ยังพบว่ามีการตั้งญาติของอดีตผู้บริหารการเคหะฯ มาเป็นผู้จัดการบริษัทเซ็มโก้ และแนะนำทรัพย์สินบางส่วนของการเคหะฯ ไปให้เช่าและรายได้นั้นก็ไม่ได้ส่งถึงการเคหะแห่งชาติ โดยให้คณะกรรมการนั้นสอบข้อเท็จจริงหลายเรื่องเหล่านี้และให้ดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทำผิด

จุติ กล่าวต่อว่า สิ่งที่คณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) ได้ทำงานมาสองปีเศษ ทำด้วยความเหนื่อยยากเพราะว่าต้องเปลี่ยนแปลงสู้กับระบบนายทุนผูกขาดที่หากินกับการเคหะฯ มายาวนาน จนออกระเบียบข้อบังคับการจัดการทรัพย์สินให้ชัดเจน มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดูแลเรื่องนี้ไปตรวจสอบข้อเท็จจริง และรายงานเรื่องผิดปกติไปยัง ป.ป.ช. ถึงสามเรื่องด้วยกัน มีการเร่งคืนเงินประกันซึ่งเก็บไว้นานมากเกือบ 10 ปีเงินสูงถึง 1,400 ล้านบาท ที่บริษัทหลายแห่งมาวางค้ำประกันไว้ ซึ่งผู้บริหารการเคหะฯ ได้นำเงินเหล่านั้นคืนให้กับบริษัทต่างๆ ภายในสามเดือน หรือคิดเป็นร้อยละ 90 ของบฯ ที่มีทั้งหมด นอกจากนั้นยังได้ปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจภายในของบริษัทเซ็มโก้ เพื่อให้ฐานะทางการเงินนั้นเข้มแข็งตามข้อเสนอและคำแนะนำของสตง. รวมถึงให้ปรับปรุงสถานะทางการเงินให้ฟื้นตัวจากผลขาดทุนให้มาเป็นกำไรให้ได้

นอกจากนั้นยังได้ตั้งคณะกรรมการปิดบัญชีเอื้ออาทร ซึ่งเป็นภาระให้กับรัฐบาลมานานกว่า 17 ปี และได้พบว่ามีนักธุรกิจที่มาหากินกับการเคหะฯ นั้นได้ติดคุกไปถึง 4 คนตั้งแต่ 3 ปี – 40 ปี นำทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของการเคหะฯ มาพัฒนาให้เป็นมูลค่ามากขึ้น จัดระบบการเช่าใหม่โดยนำอาคารเช่าเหมาที่หมดสัญญาแล้ว กลับมาทำเอง จึงอยากจะชี้แจงข้อกล่าวหาต่างๆ เป็นข้อๆ ดังนี้

ข้อกล่าวหาว่าตนได้ตั้งนักปั่นหุ้นมาเป็นกรรมการเคหะฯ ขอปฏิเสธว่าไม่จริง และเป็นการกล่าวหาที่ไม่เป็นธรรม เพราะการที่จะเลือกคณะกรรมการแต่ละคนสู่รัฐวิสาหกิจนั้นต้องผ่านการตรวจสอบถึง4 ชั้นและมีกฎหมายชัดเจนว่าคนมีคดีไม่สามารถเป็นคณะกรรมการได้ นอกจากนั้นข้อกล่าวหาที่ว่ามีการตั้งคนสนิท มาเป็นที่ปรึกษาไม่เป็นความจริง

ส่วนข้อกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการทุจริตในสมัยโครงการ 3G  ก็ไม่เป็นความจริง โดยตนเองได้รับมอบหมายจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ให้ทบทวนการประมูลโครงการดังกล่าวและก่อนที่ตนเองเข้ามาผลการประมูลอยู่ที่ 29,000 ล้านบาท ตนเองได้เข้าไปจากระบบใหม่ ซึ่งทำให้ประหยัดเงินงบประมาณให้กับประชาชนและแผ่นดินได้ 12,000 ล้านบาท ใช้งบฯ ไปเพียง17,000 ล้านบาทเท่านั้น จึงเป็นไปไม่ได้ตามข้อกล่าวหา

ข้อต่อมามีการแอบอ้างสถาบันเพื่อทำโครงการเคหะสุขประชา ยืนยันว่า ไม่เคยมีคำสั่ง ไม่เคยมีจดหมาย ไปขอการกระทำแบบนี้ สิ่งที่กระทำเพื่อถวายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งตนเองและพรรคไม่เคยมีคดีล้มล้างการปกครอง หรือล้มเจ้าแน่นอน นอกจากนั้นข้อกล่าวหาว่าได้บีบบังคับให้อดีตผู้ว่าการเคหะฯ ลาออกเพราะว่าไม่สนองนโยบาย อยากให้ ส.ส.ฝ่ายค้าน ดูหนังสือลาออกของอดีตผู้ว่าการเคหะฯ ที่ลาออกเพราะปัญหาสุขภาพไม่ใช่การบีบให้ลาออก และการแต่งตั้งคนภายในขึ้นมาแทนเพื่ออวยโครงการก็เป็นข้อกล่าวหาเท็จเพราะผู้ว่าการเคหะฯ คนปัจจุบัน มาหลังโครงการที่ก่อสร้างบ้านสุขประชา ส่วนข้อกล่าวหาว่านำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบไม่ใช่การอนุมัติ เนื่องจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีที่ว่างบประมาณการลงทุนที่ไม่เกิน 1000 ล้านบาทไม่ต้องกู้นั้น ให้สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นผู้พิจารณาอนุมัติไม่ใช่คณะรัฐมนตรี

จุติ กล่าวต่อว่า การไปหยิบข่าวลือว่าเคหะสุขประชานั้นใช้เวลา 200 ปีกว่าจะคืนทุน ทางผู้ว่าการเคหะฯ ชี้แจงว่าไม่มี ถึงมีก็ไม่ผ่านเพราะสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไม่มีทางอนุมัติโครงการที่จะคืนทุนถึง 200 ปี แต่สิ่งที่มีคือได้เปลี่ยนวิธีการทำงาน วิธีคิดของการเคหะฯ จากทำกำไรในเชิงพาณิชย์ ให้คืนกำไรให้กับสังคมจากที่ขายบ้านเพื่อเอากำไร มาเปลี่ยนเป็นสร้างบ้านให้เช่า อยู่ได้ตลอดชีวิต ราคาถูกกว่าตลาด และยังสร้างบ้านพร้อมอาชีพ พัฒนาคุณภาพชีวิต นี่จึงเป็นเรื่องใหม่ที่การเคหะฯ ไม่เคยทำมาก่อนแต่รัฐบาลชุดนี้ได้ทำและทำอย่างจริงจัง

อีกข้อกล่าวหาหนึ่งระบุว่า ตนเองปั้นตัวเลขผลตอบแทนทางการลงทุน ทำให้โครงการสุขประชานั้นคุ้มค่า และยกตัวอย่างพับถุงกระดาษ เช่น โครงการร่มเกล้า ยืนยันว่า ทุกชุมชนมีอาชีพของตัวเองอย่าดูถูกคนจน และโครงการร่มเกล้านั้นความจริงเป็นโครงการตลาดที่ทันสมัย เพื่อให้คนที่ไปอยู่นั้นสามารถมีตลาดไม่ต้องเช่าแพง มีอาชีพเพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัว และไม่ต้องเดินทางไกลอยู่ในพื้นที่ ลดความแออัด คุณภาพชีวิตมีความสุขอยู่อย่างพอเพียง ส่วนการนำภาพถมดินมาบอกว่าสูญเปล่าไม่ได้ก่อสร้าง ตนได้นำภาพไปตรวจสอบแล้ว พบว่าไม่ใช่ภาพที่อยู่ในโครงการเคหะสุขประชาร่มเกล้า แต่อยู่คนละจังหวัดไม่ทราบว่าได้รับข้อมูลนั้นมาจากที่ไหน ส่วนตัวทราบดีว่าทุกวันนี้คนในการเคหะฯ บางส่วนไม่อยากให้มีการเปลี่ยนแปลง กอดทุกอย่างให้เหมือนเดิม ทรัพย์สินที่มีกี่หมื่นล้านอยากหากินกันเหมือนเดิมไม่อยากให้เปลี่ยนมือ ไม่อยากให้ผลประโยชน์นั้นไปตกอยู่กับประชาชน แต่นายกรัฐมนตรีมอบนโยบายมาแล้ว ให้แก้ปัญหาแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้า วันนี้การเคหะฯ นำที่ดินที่เคยซื้อไว้เมื่อ 17 ปีที่แล้ว มาถมสร้างบ้านให้คนสามารถไปอยู่มีค่าเช่าที่ถูกกว่าตลาดถึงร้อยละ 40% และสามารถทำอาชีพได้  ดังนั้นอยากจะชี้แจงว่าการกล่าวหาที่ว่ามาเป็นความเข้าใจที่คาดเคลื่อน

จุติ ยังชี้แจงข้อกล่าวหาที่บอกว่าให้บริษัทเซ็นโก้รับงานที่นอกเหนือวัตถุประสงค์ไม่ต้องขออนุมัติ เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีปี 2537 และที่กล่าวว่าตนเองไปแก้ไขหนังสือหนังสือบริคณห์สนธิที่กระทรวงพาณิชย์ เพราะเป็นพรรคเดียวกัน เอื้อให้เซ็มโก้ทำงานได้นั้นก็ไม่เป็นความจริง แต่เป็นการไปขยายความวัตถุประสงค์เพราะวันนี้ธุรกิจใหม่ การก่อสร้างแบบใหม่ เปลี่ยนแปลงไปเยอะแล้วต้องให้โอกาสบริษัทลูกได้ทำธุรกิจนี้บ้าง พร้อมยืนยันว่าบริษัทเซ็มโก้มีวิศกร ประธานบริษัทก็เป็นวิศวกร ซึ่งการแก้ไขครั้งที่ 4 ไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่เป็นเรื่องให้โอกาสการประกอบธุรกิจด้วย

ส่วนข้อกล่าวหาที่บอกว่า ปล่อยให้เบิกเงินล่วงหน้าจากการเคหะฯ ไม่เป็นความจริง และกฎหมายอนุญาตให้ทำได้ ตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างปี 2560 มีกฎกระทรวงการคลังรองรับ และมีหนังสือตอบจากกรมบัญชีกลางว่าสามารถทำกิจการเหล่านี้ได้ นอกจากนี้ที่บอกว่ามีการซอยโครงการที่เพื่อให้ผู้ว่าการเคหะฯ มีอำนาจในการอนุมัติโครงการไม่เกิน 50 ล้านบาท และมีการถมดินแยกออกจากกัน เป็นการให้ข้อมูลของผู้รับเหมาที่ให้ข้อมูลแบบผิดๆ ที่หากินกับโครงการลักษณะนี้มาแล้วกว่า 20 ปี

นอกจากนี้ยังมีคำยืนยันจากสภาพัฒน์ ว่าสิ่งที่การเคหะฯ ทำเป็นสิ่งที่ใหม่ เป็นสิ่งที่เร่งการก่อสร้างบ้านให้คนมีบ้านอยู่ได้เร็วขึ้น เช่าอยู่จนตาย ราคาวันนี้มีตั้งแต่ 999 –3,500 บาทต่อเดือน แล้วแต่ขนาดของครอบครัวแต่ทั้งหมดนั้นถูกกำหนดว่า ต้องถูกกว่าราคาเช่าของภาคเอกชนร้อยละ 40 จึงทำให้เอกชนไม่สนใจมาร่วม เพราะมีข้อบังคับไว้ว่าห้ามปล่อยค่าเช่าเกินกว่าที่รัฐกำหนดไม่ถึงร้อยละ 5% ดังนั้นการมาบอกว่าบริษัทนี้เอาไปทำกำไรถึงร้อยละ 13% ก็ไม่เป็นความจริง

“ผมเข้าใจจิตวิญญาณของท่าน ว่าท่านเกิดและโตในการเคหะฯ แล้วก็ถูกหัวคิวเอาเปรียบอยู่ตลอดเวลา นั่นคือสิ่งที่ผมกำลังคิดเหมือนกับสิ่งที่ท่านแก้เราคิดเหมือนกัน แต่ท่านกรุณาเข้าใจผม ว่าสิ่งที่ผมต้องทำนั้นต้องต่อสู้กับระบบอุปถัมภ์ ระบบผูกขาด หากินกันมานาน คณะกรรมการชุดนี้เหนื่อยมาก มีที่ไหนอาคารเช่าทรัพย์สินของการเคหะฯ ปล่อยให้ค้างค่าเช่า 13 ปี โดยเก็บเงินไม่ได้แม้แต่เดือนเดียว แล้วสิ่งที่บอกว่าเมื่อ 16 ปีที่ก่อนเอาเงินภาษีของรัฐ 6,000 ล้านบาทไปสร้างที่อยู่อาศัย มาบอกว่าการเคหะฯ ไม่มีความสามารถบริหาร ให้บริษัทเช่าช่วงเหมาไปเลย ท่านทราบไหมครับ 30,000 ห้อง เช่าไป 920 บาท แล้วไปปล่อยให้ประชาชนตาดำๆ กู้เงินมาจ่ายค่าเช่าบ้านเดือนละ 2,500-3,400 บาท โดยมีส่วนต่างได้กำไรไป 9,180 ล้านบาท วันนี้รัฐบาลชุดนี้กำลังเอาเงินนี้ คืนเฉลี่ยให้กับชาวบ้านที่ไม่มีรายได้แล้วพวกผมผิดตรงไหนที่ทำแบบนี้”

จุติ ย้ำว่า หากฝ่ายค้านจะยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบ ก็ยินดี แต่คณะกรรมการการเคหะชุดนี้ได้ทำไปแล้วบางส่วน ซึ่งบางเรื่องก็ตรงกับที่ได้หยิบยกขึ้นมาในสภาฯ สิ่งที่ปิดกันมา 10 กว่าปี วันนี้ ป.ป.ช.จะได้ถูกเปิดเผย พร้อมชวน ณัฐชา มาทำงานตรวจสอบด้วยกัน

ณัฐชา สวนกลับ จุติ ชี้แจงด้วยข้อมูลเท่านี้เก็บของจากกระทรวงดีกว่า

จากนั้น ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส. พรรคก้าวไกล ได้ลุกขึ้นโต้กลับการชี้แจงของ จุติ ว่า 20 ชั่วโมงที่หายไปตอบมาได้ 29 ข้อ ขอให้เอาเวลาไปเก็บของจากกระทรวงดีกว่าถ้าเกิดหายไปแล้วได้ข้อมูลแค่นี้ พร้อมแย้งคำชี้แจงของ รมว.พม ในรายประเด็น เช่น มีข้อมูลชัดเจนเรื่องการตั้งปรึกษา การที่อดีตผู้ว่าการเคหะฯ ลาออกไม่ใช่ปัญหาสุขภาพ ทำบริษัทลูกให้เข้มแข็งโดยตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาแย่งงาน และการดูแลที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อยซื้อบ้านในราคาถูกแทนการเช่าคือภารกิจของการเคหะฯ  ส่วนเรื่องที่ตั้งข้อสังเกตนั้นตนเองจะไปยื่นเพิ่มกับ ป.ป.ท. และเป็นการยื่นคนละเรื่องกัน

ช่วงค่ำวันที่ 19 ก.ค. 2565 ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ จุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  โดยเริ่มต้นอภิปราย “เปิดโปงมหกรรมสร้างเพื่อโกง มหากาพย์การผลาญภาษีประชาชน พังทลายชีวิตและความมั่นคงของผู้มีรายได้น้อยไปถึงอนาคต”

ณัฐชา ระบุว่า เมื่อครั้งอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ตนเองได้นำความทุกข์ร้อนของผู้อาศัยในการเคหะเอื้ออาทร บางขุนเทียน 3 โดยเปรียบเทียบว่า ชาวบ้านต้องใช้ชีวิตเผชิญท่ามกลางอันตรายยิ่งกว่าหลุมหลบภัย พร้อมมีการเบิกจ่ายงบประมาณหลายสิบล้านบาท แต่เมื่อไปดูการเบิกจ่ายแล้วกลับสวนกระแสกับความเดือดร้อนของประชาชนต้องเผชิญ ซึ่งในวันรุ่งขึ้น รมว.พม.ได้เชิญผู้ว่าการเคหะฯ และคนสนิทต่าง ๆ มาแถลงข่าว ทั้งที่ตนไม่ได้ถามว่ามีใครทุจริต แต่ รมว.พม. กลับชิงยืนยันความบริสุทธิ์ว่าไม่มีการทุจริต มีการพาดหัวข่าวแบบวัวสันหลังหวะ จึงทำให้น่าสงสัยทำต้องไปดูต่อว่าการเคหะฯ ที่เบิกงบประมาณซึ่งเป็นภาษีของพี่น้องประชาชน ภายใต้การบริหารของ รมว. พม. มีความไม่ชอบมาพากลอย่างไร จึงเป็นที่มาของการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้

ณัฐชา กล่าวต่อว่า ย้อนไปเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 จุติ ไกรฤกษ์ เข้ารับตำแหน่งถึงวันนี้ประมาณ 3 ปีเต็ม แต่ยังมองไม่เห็นความพัฒนาในสังคมในด้านใดเลยที่ดีขึ้น มองไม่เห็นความมั่นคงในชีวิตของประชาชนโดยเฉพาะด้านที่อยู่อาศัยภายใต้การดำเนินการของการเคหะฯ ซึ่งมีโครงการก่อสร้างไปแล้วเกือบล้านยูนิต งบประมาณลงทุนที่ผ่านมาหลายแสนล้านบาทเพื่อไปดูแลที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย แต่ไม่ควรบริหารจัดการให้มีคุณภาพน้อยตามไปด้วย ทั้งนี้จุติ เข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2562 ก็เริ่มแต่งตั้งคนของตัวเองมานั่งเป็นบอร์ดการเคหะฯ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2562 ซึ่งไม่ว่ารัฐมนตรีคนไหนก็ตั้งคนที่ไว้ใจได้เข้ามาดูแล แต่เมื่อไล่ดูคนสนิทคนหนึ่ง อักษรย่อ จ. มีประวัติโชคโชนด้านการเงิน เป็นนักปั่นหุ้น นำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์มาแล้วหลายบริษัท และเป็นคนสนิทตั้งแต่ จุติเป็น รมว.ไอซีที ปี 2553 ซึ่งขณะนั้นก็มีข่าวเข้าไปพัวพันการทุจริต 3 จี ซึ่งในวันนี้เรื่องใกล้เคียงกัน และกำลังกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้สูญเสียผลประโยชน์ของชาติมากมาย

ณัฐชา กล่าวต่อว่า มหากาพย์นี้ยังมองไกลไปถึงระยะยาว เดิมแผนนี้ต้องการทำผ่านบริษัท จัดการทรัพย์สินและชุมชน จำกัด (เซ็มโก้)  ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่มีอยู่แล้ว เพื่อแต่งตัวนำเข้าตลาดหุ้น จึงได้ปั่นตัวเลขจากการนำไปรับเหมาถมดินในโครงการเคหะสุขประชา มารับงานแบบเหมาๆ ทุกโครงการ ตั้งแต่รับเหมาก่อสร้างไปจนถึงการดูแลผลประโยชน์ต่างๆ โดยการทลายข้อจำข้อทางกฎหมาย ทั้งที่ไม่เคยรับงานก่อสร้าง ถมดินมาก่อน ไม่มีทั้งวิศวกร บุคคลากร หรือเครื่องมือ โดยอ้างว่า เรื่องนี้ผู้ว่าการเคหะฯ คนใหม่ที่มาจากเครือข่าย รมว.พม. สั่งแก้ระเบียบให้ไม่ต้องมีผลงานก่อสร้างมาก่อนก็รับได้  สุดท้ายก็ต้องไปจ้างช่วงบริษัทรับเหมาเจ้าอื่นมาทำงานแทน จึงตั้งคำถามว่าแบบนี้จะจ้างเซ็มโก้ไปหักหัวคิวทำไม พร้อมยืนยันว่า เรื่องนี้คงปล่อยผ่านไม่ได้ หลังจบอภิปรายคงต้องยื่นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน