Change.org เปิดผลสำรวจ “กทม. ที่อยากเห็นในชาตินี้” พบ“นโยบายดี-การแสดงวิสัยทัศน์” ปัจจัยสำคัญเลือกแคนดิเดต ผู้ว่าฯ กทม. เกินครึ่งมีความหวังกับการเลือกตั้ง โหวตเตอร์ 77% มีคนในใจแล้ว
13 พ.ค. 2565 –เว็บไซต์ Change.org เปิดผลการสำรวจความเห็นหัวข้อ “กทม. ที่อยากเห็นในชาตินี้” ซึ่งจัดทำร่วมกับ 3 สื่อออนไลน์ คือ WorkpointTODAY, The Momentum และ The MATTER สำรวจผ่านช่องทางออนไลน์ ระหว่างวันที่ 26 เม.ย. – 10 พ.ค. 2565 มีผู้มาร่วมแสดงความเห็น 3,174 คน โดย 9 ใน 10 เป็นผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้ง ใช้ชีวิต หรือเคยใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพมหานคร
ต่อคำถามว่ารู้สึกอย่างไรกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ผู้ร่วมแสดงความเห็นส่วนใหญ่ 55.8% รู้สึก “มีความหวัง” กับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่จะมาถึง 14.7% ตอบว่า “ตื่นเต้น” 13.3% ตอบว่า “เบื่อหน่าย” ที่เหลือมีทั้ง “กังวล” และ “ไม่แน่ใจ”
สำหรับคุณสมบัติผู้ว่าฯ กทม. ที่อยากได้ 5 อันดับแรก
- มองเห็น ยอมรับ และมีวิธีจัดการกับปัญหาต่างๆ 74.1%
- กล้าชนกับคนมีอำนาจ กลุ่มอิทธิพล 49.8%
- รับฟังเสียงประชาชน 44.3%
- ทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ 40.4%
- ซื่อสัตย์ สุจริต 37.3%
ขณะที่สิ่งที่คาดหวังจากผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ เพื่อเปิดให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารงาน 5 อันดับแรก
- ทำ open data เปิดเผยข้อมูลต่างๆ ขึ้นเว็บให้ประชาชนและสื่อเข้าถึง 76.6%
- เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมออกแบบว่าจะใช้งบของ กทม. ด้านไหนบ้าง 66.7%
- สื่อสารความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาที่ได้รับการร้องเรียนอย่างสม่ำเสมอ 52.6%
- เปิดให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมพัฒนาเมืองทั้งเชิงนโยบายและปฏิบัติ 31.9%
- เปิด Live การประชุมสภา กทม. และ สก. ให้ประชาชนติดตามเหมือนในสภา 30.3%
แม้ผู้มาร่วมตอบแบบสำรวจนี้จะมีแค่ราวสองในสามที่มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. แต่เกือบทั้งหมดก็บอกว่า จะไปเลือกตั้งในวันที่ 22 พ.ค. 2565 โดย 76.5% บอกว่า มีคนในใจแล้ว 21.3% ยังไม่ตัดสินใจ และ 2.2% ตัดสินใจแล้วว่าจะไม่เลือกใคร (no vote)
ในขณะที่ปัจจัยในการตัดสินใจว่าจะเลือกใครเป็นผู้ว่าฯ กทม.
- นโยบายดี และน่าจะทำได้จริง 66.2%
- ความสามารถในการแสดงวิสัยทัศน์ในเวทีต่างๆ 62.1%
- เลือกจากการทำงานและผลงานในอดีต 49.8%
- ชื่นชอบในตัวบุคคล 30.6%
- เป็นอิสระ ไม่ได้อยู่ใต้พรรคการเมืองไหน 16.0%
- ถ้าไม่เลือกคนนี้ อีกคนที่แย่กว่าจะมาแน่.. 11.5%
- มาจากพรรคการเมืองที่ชอบ 11.1%
- ป้ายหาเสียง หรือสื่อประชาสัมพันธ์โดนใจ 4%
- คำแนะนำจากคนใกล้ชิด ครอบครัว คนรู้จัก 1.6%
- รู้จักกับผู้สมัครเป็นการส่วนตัว 0.4%
- อื่นๆ 1.4%
ชีวิตในเมืองกรุง “ด้านสิ่งแวดล้อม” ได้คะแนนน้อยสุด
เมื่อลองขอให้คะแนนปัญหาหมวดต่างๆ จำนวน 4 หมวด ใน กทม. จากคะแนนเต็มสิบ พบว่า หมวดสิ่งแวดล้อมและสภาพเมือง ได้คะแนนน้อยที่สุด เฉลี่ย 3.6 คะแนน สิ่งที่อยากให้แก้ไขเร่งด่วนที่สุด มีอาทิ เพิ่มพื้นที่สีเขียว, แก้ปัญหาฝุ่นควัน PM2.5, จัดระเบียบสายไฟ สายสื่อสาร ฯลฯ
ตามมาด้วย หมวดการเดินทางและจราจร ได้คะแนนเฉลี่ย 3.9 คะแนน สิ่งที่อยากให้แก้ไขเร่งด่วน มีอาทิ เปลี่ยนรถเมล์ที่เก่าเกินใช้งานออก, จัดการปัญหารถติด, ลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า ฯลฯ
หมวดปากท้องและสุขภาพ ได้คะแนนเฉลี่ย 4.1 คะแนน โดยสิ่งที่อยากให้แก้ไขเร่งด่วนที่สุด มีอาทิ เพิ่มรายได้ ลดค่าครองชีพ, จัดการปัญหาชุมชนแออัดและคนไร้บ้าน, เพิ่มคุณภาพการศึกษา ฯลฯ
และหมวดความปลอดภัยในการใช้ชีวิตประจำวัน ได้คะแนนเฉลี่ย 4.3 คะแนน สิ่งที่อยากให้แก้ไขเร่งด่วน มีอาทิ ปรับปรุงทางเท้า จัดการป้ายและเสาที่เกะกะ, แก้ปัญหาอาชญากรรม, ทำทางม้าลาย ทางแยกให้ปลอดภัย ฯลฯ
ควรอำนวยความสะดวกม็อบที่ชุมนุมสันติ “ทุกกลุ่ม”
เมื่อถามเจาะลึกไปในบางประเด็น เช่น กรณีรถไฟฟ้า ทั้ง BTS MRT และ Airport Link ผู้ร่วมแสดงความเห็นอยากให้แก้ปัญหาค่าโดยสารราคาสูง 81.0%, แก้ปัญหาตั๋วร่วมที่ไม่จริง 63.7%, เปิดสัญญาสัมปทานให้โปร่งใส 48.1% ฯลฯ
กรณีการชุมนุมสาธารณะ ผู้ร่วมแสดงความเห็นถึง 84.3% อยากให้ผู้ว่าฯ กทม. อำนวยความสะดวกให้ “ทุกกลุ่มที่ชุมนุมอย่างสันติ” มีเพียง 7.4% ที่อยากให้อนุญาต “เฉพาะกลุ่มที่ได้รับอนุญาต” 4.9% ไม่ขอแสดงความเห็น และ 3.4% เห็นว่า “ไม่ควรอำนวยความสะดวกให้กลุ่มใดเลย”
สุดท้ายนี้ ถามถึงแคมเปญแก้ปัญหา กทม. ใน Change.org ใด ที่คิดว่าผู้ว่าฯ กทม. ควรจะรับไปดำเนินการต่อ โดยแคมเปญที่ได้รับเสียงโหวตเกินครึ่งจากผู้แสดงความเห็น ได้แก่
- ออกมาตรการตั้งรับวิกฤตฝุ่น PM 2.5 ที่จะเกิดขึ้นซ้ำแน่นอน 75.2%
- รณรงค์ให้กรุงเทพฯ เลิกตัดต้นไม้แบบเหี้ยนโกร๋น 55.9%
- ทำให้โรงเรียนปลอดภัยจากความรุนแรง 54.4%
- หยุดสร้างสะพานลอย มาจริงจังเรื่องทางม้าลายได้แล้ว! 54.0%
- รักษาต้นไม้มักกะสัน ปอดแห่งสุดท้ายกลางกรุงเทพฯ ไม่ให้ถูกตัด เพราะตั้งขวางทางโครงการเมกะโปรเจ็ค 50.7%