Post Election ภาพอนาคตหลังเลือกตั้ง เวทีที่ 2 ฟังเสียงประชาชนภาคใต้

ร่วมสะท้อนฉากทัศน์ภาพอนาคตที่อยากเห็นการเปลี่ยนผ่านครอบคลุมทุกมิติ ทั้ง การกระจายอำนาจ  คุณภาพชีวิต  สิทธิมนุษยชน  ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง ฯลฯ นักวิชาการชี้ เป็นอีกหนึ่งจุดสตาร์ตสำคัญการขับเคลื่อนของภาคประชาชนในการตอบโจทย์อนาคตประเทศไทย

เมื่อวันที่ 10 มี.ค.2566 ไทยพีบีเอส และภาคีเครือข่าย จัดเวที Post-Election ภาพอนาคตหลังเลือกตั้งต่อเนื่อง หลังเปิดเวทีแรกฟังเสียงประชาชนในภาคตะวันออก โดยเวทีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 เพื่อฟังเสียงประชาชนพื้นที่ภาคใต้ เลือกอนาคตเพื่อค้นหาฉากทัศน์ของประเทศไทย และภาพอนาคตเชิงยุทธศาสตร์ ณ หาดสมิหลา จ.สงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญในการรวมตัวเคลื่อนไหวต่อสู้ของเครือข่ายประชาชนภาคใต้ในเรื่องต่าง ๆ 

โดยกระบวนการเริ่มต้นด้วยการชวนตัวแทนภาคส่วนต่าง ๆในพื้นที่ภาคใต้ จำนวน 50 คน สะท้อน หนึ่งคำสำคัญต่อการมองอนาคตภาคใต้ในอีก 10 ปีข้างหน้า ใน พ.ศ.2575 ซึ่งมีการสะท้อนคำสำคัญหลัก ๆ หลายคำเช่น การกระจายอำนาจ  ภาคใต้สีเขียว สิทธิมนุษยชน  ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง ประชาธิปไตย คุณภาพชีวิต ฯลฯ

จากนั้นชวนโหวตภาพฉากทัศน์ที่อยากเห็น 3 ฉากทัศน์ ได้แก่ สุริยุปราคา  คือ ปรับไม่ได้ , เมฆหนา แสงมาไม่ถึง คือ ไปเรื่อย ๆ และ พระอาทิตย์ทรงกลด คือเปลี่ยนผ่านได้ ก่อนจะเปิดวงฟังเสียงสะท้อนทั้งในมุมปัจจุบัน และภาพอนาคตที่ประชาชนพื้นที่ภาคใต้อยากเห็นในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ 6 ประเด็นหลัก ๆ ประกอบด้วยเศรษฐกิจรายได้, รัฐราชการความมั่นคง, การศึกษาทักษะ, สุขภาพสาธารณสุข, สังคม พื้นที่การใช้ชีวิต และสิ่งแวดล้อม ซึ่งปรากฎว่าผลการโหวต ทั้งก่อนและหลัง การเปิดวงรับฟังเสียงสะท้อนของประชาชน ส่วนใหญ่เห็นตรงกันโหวตฉากทัศน์ที่อยากเห็น คือ “พระอาทิตย์ทรงกลด เปลี่ยนผ่านได้“

ภัณณิน สุมนะเศรษฐกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านการคาดการณ์อนาคต สถาบันอนาคตไทยศึกษา มองกระบวนการที่เกิดขึ้นว่า  ภาพอนาคตหรือฉากทัศน์ หลายคนอาจจะมองพุ่งไปที่อนาคตอย่างเดียว แต่การจัดพื้นที่ในการฟังเสียงประชาชนตรงนี้ สะท้อนอัตลักษณ์บางอย่างเหมือนกันว่า ในการมองอดีตของเขา มีอะไรที่เป็นรากเหง้า เป็นประวัติศาสตร์พื้นฐาน และเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอนาคตของเขาด้วยเหมือนกัน การย้อนคิดเรื่องนี้ ที่เป็นสัญลักษณ์ของพื้นที่ ช่วยทำให้การสะท้อนมุมมอง หรือการให้ความสำคัญในเชิงภูมิภาคชัดขึ้น 

และการโหวต ครั้งนี้แม้จะเป็นเอกฉันท์ในการเลือกฉากทัศน์แบบพระอาทิตย์ทรงกลด คือ เปลี่ยนผ่านได้ แต่จริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแบบพระอาทิตย์ทรงกลด หรือแบบที่แย่ที่สุดคือสุริยุปราคา มันมีเหตุผลการมองแต่ละคน สะท้อนตัวขับเคลื่อนของเขา ว่าทำไมเขาถึงมองประเด็นเหล่านี้ หรือสถานการณ์ฉากทัศน์เหล่านี้เป็นภาพที่สำคัญอะไรบ้าง คือโอกาสที่รออยู่สำหรับเขาในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้าและอะไรบ้างที่เป็นข้อท้าทายที่เขาเห็นแล้วว่า ถ้ามันยังไปต่อ ข้อท้าทายปัญหาเหล่านี้มันจะยิ่งโตมากขึ้น ถ้าเราไม่จัดการตั้งแต่ตอนนี้ 

“สิ่งที่เกิดขึ้นในเวทีนี้ ทำให้เราถอยออกมาและก็ดูความเป็นไปได้ว่า ถ้าเราจะต้องทำเพื่อตอบโจทย์สิ่งที่มันจะต้องไปในอนาคต ต้องใช้เวลา ใช้ความร่วมมือ ใช้พลัง มันต้องมีอะไรบ้างที่เป็นตัวแผนการดำเนินงานของคนที่เกี่ยวข้อง “ 

ภัณณิน สุมนะเศรษฐกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านการคาดการณ์อนาคต สถาบันอนาคตไทยศึกษา
ภัณณิน สุมนะเศรษฐกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านการคาดการณ์อนาคต สถาบันอนาคตไทยศึกษา

ที่สำคัญเวทีนี้ ยังมีหลากหลายประเด็นที่ประชาชนพื้นที่ภาคใต้ได้ร่วมกันสะท้อนและเห็นภาพชัดมากขึ้น อย่างมุมเศรษฐกิจรายได้  ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดก่อน เพราะเป็นเรื่องปากท้อง แต่เศรษฐกิจในมุมของตัวแทนภาคใต้ สะท้อนเรื่องของเกษตรกรรม ที่มีความกังวลเรื่องของภาวะทุนภายนอก ปัญาภาวะโลกร้อนที่จะเข้ามาปะทะพวกเขา  การเกษตรกรรมจะต้องทำอย่างไรเพื่อที่จะให้สามารถที่จะอยู่รอด และไปต่อได้อย่างยั่งยืน ประเด็นเรื่องการท่องเที่ยวเคยมองว่าเป็นกุญแจสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคใต้ แต่การขับเคลื่อนแบบเดิม ๆ อาจไม่ใช่วิธีการที่จะใช้ได้ในอีก 10 ปีข้างหน้า การขับเคลื่อนการท่องเที่ยวต้องมองเรื่องของความยั่งยืน

ส่วนเรื่องการเมือง รัฐราชการความมั่นคง  เห็นภาพชัดเรื่องการกระจายอำนาจ ที่ถูกขยี้และพูดกันในเวทีนี้ค่อนข้างมาก และไม่ได้มองแค่เรื่องการจัดการเลือกตั้ง หรือวิธีการเลือกตั้งแค่จังหวัด แต่มองว่าชุมชนจะมีบทบาทอย่างไรในการจัดการการเงิน การจัดการภาษี การมีสิทธิมีเสียงในการจะเลือกว่าการอยู่ร่วมกันของชุมชนจะทำยังไงได้บ้าง คือบทบาทของคนที่อยู่ตรงนี้ ต้องเข้ามามีบทบาทมากขึ้นด้วยเช่นกัน 

ประเด็นสิ่งแวดล้อม เรื่องภาวะโลกร้อน ภาวะโลกรวน ดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัวของทุกคน แต่ทุกคนที่นี่รู้ว่าสำคัญ จึงมองว่าเรื่องภาวะโลกร้อน จะเข้ามาปะทะทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ที่เป็นเรื่องสำคัญที่หยิบมาพูดถึงของภาพฝันภาพอนาคตภาคใต้ 10 ปีข้างหน้า ก็คือภาคใต้สีเขียว คืออยากให้เกิดความยั่งยืนการจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อม

ส่วนประเด็นสังคม ในเวทีนี้พบว่า กลุ่มคนสูงวัย มองว่าเขาเองต้องปรับตัว ให้ตอบโจทย์อนาคตด้วยเหมือนกันแน่นอนว่ากลุ่มที่เป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่เองก็รู้ว่าสิ่งที่เขาทำในวันนี้ จะกระทบอนาคตเมื่อเขาโตขึ้น เมื่อกลายเป็นผู้ใหญ่ หรือคนสูงวัย เพราะฉะนั้นการปรับตัวของคนทุก generation ต้องเริ่มด้วยการพูดคุย เตรียมตัวในการตอบโจทย์อนาคต และยังมีการสะท้อนปัญหาเกี่ยวกับความจนข้ามรุ่นในพื้นที่ และหาคำตอบว่าจะทำยังไงเพราะถ้าเกิดไม่แก้ปัญหาเรื่องของความจนในพื้นที่ จะกลายเป็นวัฏจักรที่เกิดการซ้ำซ้อนหรือซับซ้อนในเชิงความจนข้ามรุ่นไม่สิ้นสุด

ประเด็นการศึกษา เห็นโอกาสว่าพื้นที่ตรงนี้จะเป็นพื้นที่สู่การศึกษาเชิงนวัตกรรม แต่ขณะเดียวกัน ก็เห็นข้อท้าทาย ของประเด็นเรื่องการศึกษาที่เกี่ยวข้องสำหรับเด็กในพื้นที่ โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในภาวะยากจน ที่ยังเผชิญกับความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอยู่ 

ส่วนประเด็นเรื่องสุขภาพ ก็สะท้อนให้เห็นเรื่องความเหลื่อมล้ำของกลุ่มเปราะบางในการเข้าถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มชาติพันธุ์ อย่างชาวเล การจะเข้าถึงการบริการสุขภาพที่มีอยู่ ไม่สามารถทำได้ โดยวิธีปกติ เพราะมีค่าใช้จ่าย มีความยากลำบากในการเข้าถึงบริการตรงนี้ ในเชิงสุขภาพของเขามากๆเลยทีเดียว

“ทั้ง 6 มิติ ภาคใต้สะท้อนบทบาทของเขาในการมองทิศทางอนาคตของตนเอง รู้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่รอเขาอยู่ และปัญหาที่มันสะสมอยู่ทุกวันนี้ ถ้าหากเขาไม่จัดการมัน หรือเขาไม่เตรียมความพร้อมกับมัน ปัญหาจะยิ่งทับถมมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมทั้งปัญหาใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาด้วยเหมือนกัน ดังนั้นน่าจะเป็นอีกหนึ่งจุดสตาร์ทที่ดีในการมองเรื่องอนาคต กับการขับเคลื่อนของภาคประชาชนในการตอบโจทย์ประเทศไทย“ 

ภัณณิน สุมนะเศรษฐกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านการคาดการณ์อนาคต สถาบันอนาคตไทยศึกษา

ภัณณิน กล่าวต่อว่า  การมองภาพอนาคตหลังจาก 8 เวที น่าจะทำให้เห็นว่ามิติอะไรบ้างที่ประชาชนคนในพื้นที่ให้ความสำคัญ และจะเป็นโอกาสในอนาคต 10 ปีข้างหน้า น่าจะเป็นจุดร่วมบางอย่างที่สะท้อนความเข้าใจในระดับนโยบายด้วยเหมือนกันว่า การตอบโจทย์เรื่องเหล่านี้ บางทีอาจจะไม่ใช้วิธี One size fits all หรือใช้วิธีการแกนเดียวกันตอบโจทย์คนทั้งประเทศได้อีกแล้ว มันมีจุดร่วม แต่เราต้องเข้าใจบริบทของเขาด้วยว่าจะทำยังไงให้ตอบโจทย์ความแตกต่างและความหลากหลายที่มีอยู่ในประเทศของเรา

โดยเวที Post-Election ภาพอนาคตหลังเลือกตั้ง  จะจัดขึ้นอีก 6 ครั้ง รวมทั้งหมด  8 เวทีในทุกภูมิภาค  จากนั้นจะนำข้อมูลที่ได้ทั้งหมด เชิญนักการเมือง และประชาชน ตัวแทนภาคส่วน่างๆหลากหลายอาชีพ ร่วมกัน Hack นโยบายอีก 72 ชั่วโมง และออกแบบเป็นโปสเตอร์หนัง 3 เรื่อง ฉายภาพฝันอนาคตของประเทศ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active