จากเลี้ยงหมูกระทะแม่บ้านสภาฯ สู่ข้อเสนอสังคายนางบฯโปร่งใส

เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน(ประเทศไทย) เห็นสอดคล้อง อดีตผู้ว่าฯ สตง.ใช้งบฯ รับรองเลี้ยงหมูกระทะแม่บ้านสภาฯ เสี่ยงขัดระเบียบ และขัดกันแห่งผลประโยชน์ ชี้งบฯ รับรอง งบฯลับ หน่วยงานเยอะแต่ตรวจสอบยาก แนะสังคายนาเพื่อความโปร่งใส ขณะศรีสุวรรณ จรรยา เตรียมยื่นร้อง ป.ป.ช.จันทร์นี้

วันนี้ (19 ส.ค.2566) หลังกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงกรณีที่ ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ คนที่ 1 จากพรรคก้าวไกล จัดเลี้ยงหมูกระทะแม่บ้านสภาฯ จำนวน 370 คน ในราคาหัวละ 269 บาท ที่ร้านหมูกระทะย่านบางโพ ช่วงเย็นวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา จนทำให้ #หมออ๋อง ติดเทรนด์ในโลกออนไลน์ มีทั้งความเห็นว่า เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง เพราะอาจเป็นการใช้เงินงบประมาณเพื่อโปรโมทตัวเอง ซึ่งพรรคก้าวไกลก็มีนโยบายเรื่องนี้ ขณะที่บางฝ่ายก็ตั้งคำถามว่า ที่ผ่านมาในอดีตมีการใช้งบส่วนนี้ไปที่ไหน เลี้ยงใครบ้าง

มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ให้สัมภาษณ์กับ TheActive ระบุว่า การใช้งบฯ รับรองในตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เลี้ยงหมูกระทะแม่บ้านสภาฯ เป็นปัญหา ซึ่งสภาฯ ต้องออกมาชี้แจงว่า มีระเบียบในการใช้จ่ายงบประมาณส่วนนี้อย่างไร เพราะโดยปกติ งบฯ ส่วนนี้ ใช้เพื่อรับรองบุคคลภายนอก แต่กรณีนี้มองว่า เป็นภายในองค์กร แม้จะเป็น sub contract หรือเอกชนที่มารับช่วงสัญญาก็ฟังไม่ขึ้น และหากไม่ได้ใช้งบฯ ส่วนนี้ ก็ต้องส่งคืนคลัง กรณีนี้ จึงอาจเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาชื่อเสียง หรือ การยอมรับ ซึ่งตามกฎหมาย ป.ป.ช.อาจเข้าข่ายประโยชน์อื่นใด หรือ การขัดกันแห่งผลประโยชน์

ส่วนที่มีข้อสังเกตว่า กรณีนี้อาจเป็นความพยายามเปิดประเด็นเพื่อนำไปสู่การสร้างความโปร่งใสการใช้จ่ายงบฯ รับรอง งบฯ ราชการต่าง ๆ เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) บอกว่า หากก่อนหน้านี้ เคยมีการนำเรื่องนี้ไปอภิปราย หรือ เรียกร้องให้มีการตรวจสอบปรับปรุงการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อความโปร่งใส ก็อาจมองได้ แต่หากไม่เคยมีข้อเรียกร้องใด ๆ อาจถูกมองว่า เป็นเพียงเหตุผลที่ยกมาอ้างเท่านั้น แต่ก็ยอมรับว่า กรณีที่เกิดขึ้น ควรนำไปสู่การสังคายนาการใช้จ่ายงบฯ ในลักษณะนี้ให้มีความโปร่งใส เพราะแต่ละปีมีงบประมาณลักษณะนี้จำนวนมาก และทั้งหมดล้วนเป็นภาษีประชาชน

“งบฯ รับรอง งบฯลับ งบฯค่ารถ ค่าเดินทางของภาครัฐมีเยอะมาก เกิดประโยชน์ทับซ้อนจำนวนมาก เช่น ค่าพาหนะ ข้าราชการผู้ใหญ่จำนวนหนึ่งรับเงินก้อนไปแล้ว แต่ก็ยังใช้รถหลวง ไปทำงาน หรือ ธุระส่วนตัว ต้องสังคายนากฎระเบียบกันใหม่ สร้างความโปร่งใส เพราะตามกฎหมายแม้จะมีการตรวจสอบ แต่ถ้าหน่วยงานไม่เปิดข้อมูล หรือ หย่อนยาน ก็ตรวจสอบยาก จะโยนให้ สตง.ตรวจอย่างเดียวก็ไม่พอ”

เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ระบุด้วยว่า หากรองประธานสภาฯ ต้องการทำให้เรื่องของการใช้จ่ายงบประมาณมีความโปร่งใส ก็ควรใช้สิทธิในฐานะ ส.ส.และรองประธานสภาฯ เพื่ออภิปราย หรือ เปิดข้อมูลเหล่านี้ให้ประชาชนทราบ

ขณะที่ พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ในฐานะอดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินหรือ สตง.ตั้งข้อสังเกตว่า ไม่เคยมีการเบิกจ่ายงบฯ รับรอง มารับรองคนที่เป็นคูสัญญากับหน่วยงาน

“ตามแบบแผนราชการ งบฯ รับรอง คือการใช้รับรองผู้มาเยือนและทำประโยชน์ ของหน่วยงานนั้น ๆ หรือคนที่มาเยี่ยมชมรัฐสภา อยู่ในดุลยพินิจของผู้เกี่ยวข้องที่จะเบิกจ่ายได้ ไม่เคยใช้รับรองคนที่มารับจ้างงานของหน่วยงานนั้น ๆ หรือเป็นคู่สัญญากับเรา แต่ข้อสงสัยที่เกิดขึ้นครั้งนี้ เป็นข้อคิดที่ดี ที่จะนำไปสู่การตรวจสอบ และย้อนหลังไปเท่าที่ทำได้ “

อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินหรือ สตง. ยังเรียกร้องไปยัง สตง.ให้เข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้ เพราะโดยปกติ หากไม่มีการร้องเรียนการใช้จ่ายงบฯ ในลักษณะนี้ ก็จะใช้วิธีการสุ่มตรวจในแต่ละหน่วยงาน เพราะอาจไม่ใช่เป้าหมายหลักในการตรวจสอบ ทั้ง ๆ ที่เป็นงบประมาณจำนวนไม่น้อย เพื่อให้เกิดบรรทัดฐาน

ก่อนหน้านี้ ปดิพัทธ์ ให้เหตุผลว่า หลังจากที่มีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการเกี่ยวข้องกับการดูแลสวัสดิการเจ้าหน้าที่ ประชาชน และสื่อมวลชน เห็นว่ากลุ่มคนที่ถูกลืมมากที่สุดคือแม่บ้าน ซึ่งมีแม่บ้านเฉพาะฝั่ง สส. 370 คน มีทั้งแบบจ้างเหมา ประจำ และอัตราจ้าง พูดคุยกันและแทนที่จะนั่งประชุมพูดคุยกันเครียดๆ ก็เปลี่ยนมานั่งกินหมูกระทะแทน รวมถึงหลายคนที่หมดสัญญาจ้างด้วย จะได้มาพูดคุยหารือ พร้อมระบุด้วยว่า งบฯรับรองไม่ได้มีแค่ตำแหน่งรองประธานสภาฯ พร้อมให้รอดูรายละเอียดการใช้จ่ายงบฯ

“จริง ๆ งบรับรองไม่ได้มีแค่ตำแหน่งรองประธานสภาฯ ราชการส่วนใหญ่ก็มี ศาลก็คงมี ถ้าอยากรู้เดี๋ยวพบกับงบประมาณโปร่งใส และไปเปิดดูว่า งบประมาณในการรับรองของข้าราชการระดับสูงเขาใช้ไปเพื่ออะไรบ้าง”

ขณะที่นายศรีสุวรรณ จรรยา ในฐานะ ผู้นำกลุ่มองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน ได้โพสต์เฟซบุ๊กว่า ใช้งบรับรองแขก เลี้ยงหมูกระทะแม่บ้านสภา จากเงินภาษีของประชาชน เพื่อหน้าตาของตนเอง ถือเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือไม่

และเตรียมจะยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช.ในวันจันทร์ที่ 21 สิงหาคมนี้ ขอให้ไต่สวน ตรวจสอบ และวินิจฉัยว่า การกระทำของนายปดิพัทธ์ เข้าข่ายฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติห้ามไว้ หรือไม่ เพราะกระทำการที่อาจขัดรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการขัดกันของผลประโยชน์ ประกอบมาตรฐานจริยธรรมฯ 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active