แนวโน้ม ‘คนไร้บ้าน’ พุ่ง เดินหน้าสร้างหุ้นส่วนดูแล แก้ปัญหา

ข้อมูลชี้ ปี 2566 พบคนไร้บ้าน 2,499 คน เหตุ ตกงาน ปัญหาครอบครัว ขณะที่ ปลัด พม. ย้ำ เข้าขั้นวิกฤตประชากร ที่ต้องช่วยกันแก้ ตั้งเป้าทำระบบคุ้มครองดูแล

เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 67 ในงานประชุม “หุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อคนไร้บ้าน : จากการตั้งหลักสู่ความมั่นคง” เนื่องในโอกาสสัปดาห์ วันที่อยู่อาศัยโลก (World habitat day) โดยมีหน่วยที่ขับเคลื่อนประเด็นคนไร้บ้านเข้าร่วม อาทิ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย, มูลนิธิกระจกเงา, มูลนิธิอิสรชน และภาคีเครือข่ายคนไร้บ้าน

อนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวง พม. บอกว่า การขับเคลื่อนงานคนไร้บ้านเป็นหนึ่งในประเด็นวิกฤตประชากร ที่ร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน และผลักดันการแก้ปัญหาเชิงรุกผ่าน โครงการแจงนับคนไร้บ้าน (One Night Count) ที่เข้ามามีส่วนช่วยสำรวจจำนวนคนไร้บ้าน ความต้องการ และสภาพปัญหาของคนไร้บ้านทั่วประเทศอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาให้ครอบคลุมทุกมิติ พร้อมทั้งวางเป้าหมายร่วมกันในออกแบบระบบการคุ้มครองดูแล การจัดจุดบริการในพื้นที่สาธารณะเพื่อสร้างการเข้าถึงได้ง่าย และเสริมศักยภาพคนไร้บ้านให้เข้าถึงการมีที่อยู่อาศัย มีอาชีพ ตลอดจนสามารถเข้าถึงสิทธิสวัสดิการและใช้ชีวิตตามปกติได้อย่างมั่นคง 

“การจัดงานหุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อคนไร้บ้านในวันนี้ ได้วางหมุดหมายสำคัญเพื่อรับมือความท้าทายในปัจจุบัน และอนาคต เพื่อสร้างการตระหนักรู้ และความเข้าใจในประเด็นคนไร้บ้านให้แก่สังคม ตลอดจนทบทวนนโยบายและการทำงานระหว่างภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้าน รวมถึงการสร้างโอกาสในการตั้งหลักชีวิตของคนไร้บ้านได้อย่างมีศักยภาพต่อไป”

ขณะที่ ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. ระบุว่า จากข้อมูลการแจงนับคนไร้บ้านทุกจังหวัดทั่วประเทศในเดือนพฤษภาคม 2566 พบคนไร้บ้าน 2,499 คน สาเหตุหลักมาจาก ไม่มีงานทำ ตกงาน 44.72% รองลงมา คือ ปัญหาครอบครัว 35.18%

ช่วงอายุคนไร้บ้านส่วนใหญ่ คือ วัยกลางคน อายุ 40-59 ปี 56.8% หรือ 1,419 คน รองลงมาวัยสูงอายุ 22% หรือ 553 คน ลักษณะภายนอกที่เห็นได้ชัด คือ ติดสุรา 18.1% มีปัญหาสุขภาพจิต 17.9% ในจำนวนนี้มีแนวโน้มความรุนแรงเพียง 1-2%

นอกจากนี้ยังพบสัดส่วนคนไร้บ้านที่มีปัญหาด้านสิทธิสถานะ สวัสดิการสูงถึง 30% และมีคนไร้บ้านหน้าใหม่ที่เข้าสู่ภาวะไร้บ้านไม่เกิน 2 ปีมากถึง 27% โดยในจำนวนนี้พบคนไร้บ้านเลือกอยู่ตามลำพังกว่า 74.1%

สสส. ร่วมกับ พม. และภาคีเครือข่าย มุ่งสานต่อโครงการที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง พัฒนาระบบศูนย์พักคนไร้บ้าน พัฒนาระบบจุดประสานงานคนไร้บ้าน (จุด Drop in) สนับสนุนสวัสดิการ บริการทางสังคม รวมถึงสุขภาพคนไร้บ้าน มีเป้าหมายเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์คนไร้บ้านสูงอายุที่มีสถิติแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการมีปัญหากับคนในครอบครัวและไม่มีอาชีพ โดยเฉพาะในพื้นที่ชลบุรี เชียงใหม่ ขอนแก่น จึงต้องมุ่งเน้นการหานวัตกรรมที่สามารถดูแลคนไร้บ้านสูงอายุได้อย่างครอบคลุม เพิ่มการฟื้นฟูจิตใจ พัฒนาทักษะอาชีพให้เขาตั้งหลักชีวิตตนเองได้ และสนับสนุนโครงการคนไทยไร้สิทธิ ให้ครบทั้ง 13 เขต ของ สปสช. ภายใน ปี 2570 เพื่อช่วยเสริมประสิทธิภาพคืนสิทธิให้คนไทย และไม่มีใครต้องไร้สิทธิ พร้อมทั้งมีที่อยู่ มีอาชีพ และรายได้มั่นคงขึ้น” 

ภรณี ภู่ประเสริฐ

นอกจากนี้ยังระบุถึงการทำงานวิชาการร่วมกับสถาบันเอเชียศึกษา โดยได้ร่วมกันประเมิน วิเคราะห์สถานการณ์ด้านสุขภาพ และสถานการณ์ทั่วไปเกี่ยวกับคนไร้บ้าน น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่พูดคุยถึงคนที่ยากลำบากที่สุดในสังคม ค่อย ๆ คลี่โจทย์ที่เป็นปัญหาในแต่เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นอายุขัยเฉลี่ย การดูแลคนไร้บ้าน หรือเรื่องอื่น ๆ ที่เป็นโจทย์สำคัญสำหรับการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน

ในช่วงบรรยายพิเศษ “สถานการณ์ แนวโน้ม และความท้าทายทางประชากร ต่อการสนับสนุน และขับเคลื่อนงานคนไร้บ้าน” โดย อนรรฆ พิทักษ์ธานิน ผู้จัดการแผนงานพัฒนาองค์ความรู้และประธานยุทธศาสตร์เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะคนไร้บ้าน สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า การขับเคลื่อนและทำงานประเด็นคนไร้บ้านในช่วงที่ผ่านมา ทั้งมิติการป้องกันและฟื้นฟู ชี้ให้เห็นว่าความร่วมมือจากหลายภาคส่วนเป็นเรื่องที่มีความจำเป็น เพราะการเข้าสู่ภาวะไร้บ้านสัมพันธ์กับความเสี่ยงทางสังคมเศรษฐกิจมีมิติที่ซับซ้อนอย่างมาก

โดยหลังจากได้ข้อมูลประชากรคนไร้บ้านแล้ว จะนำไปออกแบบกระบวนการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้าน และป้องกันการเข้าสู่ภาวะไร้บ้าน ให้มีความสอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ ซึ่งจุฬาฯ และภาคีเครือข่าย จะวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก เพื่อวางแผนสำรวจคนไร้บ้าน ในวิธีสุ่มตัวอย่างนับจำนวน (capture-recapture method) ช่วยให้สามารถคาดการณ์จำนวนประชากรที่เข้าสู่ภาวะไร้บ้านได้อย่างแม่นยำ และสนับสนุนการออกแบบเชิงนโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน

ขณะที่ สมพร หารพรม มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เปิดเผยกับ The Active ถึงแนวคิด การเปลี่ยน House เป็น Home : ศูนย์พักและที่อยู่อาศัยเพื่อคนไร้บ้านและกลุ่มเปราะบาง โดยบอกว่า คนไร้บ้านมีปัญหาเรื่องที่อยุ่อาศัย บางทีการอยู่กับครอบครัวแล้วรูสึกไม่สบายใจก็เลยออกมา อาจจะเจอเงื่อนไขหลากหลายรูปแบบ ทั้งเรื่องอาชีพ ทั้งถูกกดดัน ผลักให้เขาออกมาเป็นคนไร้บ้าน แต่สิ่งที่เราพยายามจะทำให้เขา คือ การทำให้เขากลับมารู้สึกว่าการสร้างครอบครัวต้องสร้างจากตัวเขาที่เขารู้สึกว่าปลอดภัย

“การสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับพี่น้องคนไร้บ้าน ที่อยากลุกขึ้นมาตั้งต้นชีวิตใหม่ เป็นศูนย์พัก หรือรูปแบบที่อยู่อาศัยที่ทำให้เขารู้ว่าอยู่แล้วดี มีศักดิ์ศรี และมีความสุข ทำให้เขานึกถึงอนาคตตัวเองได้”

สมพร หารพรม

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active