เฉลิมฉลอง ‘วันชนเผ่าพื้นเมืองฯ’ รมว.วธ. ย้ำส่วนร่วมทุกฝ่ายดัน ‘กม.ชาติพันธุ์’ ให้เสร็จ

เปรียบความหลากหลายทางวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ เป็น Soft Power รับปากเร่งคุ้มครอง ส่งเสริม ให้มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีคุณภาพชีวิตที่ดี ชี้เป็นโอกาสสู่การมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

วันนี้ (9 ส.ค. 67) กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองมากกว่า 60 กลุ่ม ร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์ และเฉลิมฉลองเนื่องในวันชนเผ่าพื้นเมืองสากล และชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ประจำปี 2567 ซึ่งถือเป็นการจัดงานครั้งที่ 17 พร้อมร่วมกันฉลองร่างกฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ที่มีความก้าวหน้าจากส่วนร่วมของทุกฝ่าย ซึ่งกำลังจะเสร็จสิ้นในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ

สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในงาน โดยร่วมล้อมวงเต้นรำ ประกอบการแสดงดนตรีของกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ ร่วมกับ นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ตัวแทนหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และกลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อเป็นแสดงออกในการเฉลิมฉลองเนื่องในวันชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งจะรณรงค์ต่อเนื่องตลอดทั้งเดือนสิงหาคม

จากนั้น รมว.กระทรวงวัฒนธรรม ยังให้ความสนใจเยี่ยมชมและพูดคุยกับกลุ่มชาติพันธุ์ ชนเผ่าพื้นเมือง ที่นำสินค้า ผลผลิต จากชุมชนต่าง ๆ มาจำหน่ายสะท้อนถึงภูมิปัญญา ภูมิวัฒนธรรม และภูมินิเวศการดูแลจัดการทรัพยากรในพื้นที่ 

จากนั้นรับชมกิจกรรมการแสดงดนตรี ที่มีการผสมผสานของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ นำโดย ผศ.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ต่อด้วยพิธีกรรมแปลงขวัญให้กับ รมว.กระทรวงวัฒนธรรม และตัวแทนหน่วยงานต่าง ๆ โดยกลุ่มชาติพันธุ์ไทดำ เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจ ปัดเป่าสิ่งไม่ดี และให้การทำงานผลักดันกฎหมายฯ สำเร็จลุล่วงด้วยดี

สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม

รมว.กระทรวงวัฒนธรรม บอกว่า รู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้มาพบปะกับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์จากทั่วประเทศทั้ง 60 กลุ่มชาติพันธุ์ในโอกาสวันสำคัญที่สหประชาชาติ กำหนดให้เป็นวันเฉลิมฉลองศักดิ์ศรีแห่งความเป็นชาติพันธุ์ เเละสร้างพื้นที่แห่งการสนทนาระดับโลก ถึงสถานการณ์ปัญหา และทางออกที่จะหนุนเสริมให้ประชาคมโลก ตระหนักถึงบทบาทความสำคัญของกลุ่มชาติพันธุ์

พร้อมย้ำว่ารัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มอย่างเสมอภาค และเห็นว่าความหลากหลายทางวัฒนธรรมของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ เป็น “พลังสร้างสรรค์” หรือ Soft Power ของประเทศ รัฐบาลจึงมีนโยบายในการคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยดูแลพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ให้มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีงาน มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

“ในส่วนของกระทรวงวัฒนธรรม ได้เร่งรัดผลักดันให้มีกฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเสนอร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ให้คณะรัฐมนตรี มีมติรับหลักการเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 และสภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการวาระแรกเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 และกำลังจะแล้วเสร็จในชั้น กมธ.วิสามัญพิจารณากฎหมาย โดยรัฐบาลจะร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายค้าน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่แต่เฉพาะบทบาทกระทรวงวัฒนธรรม แต่ต้องบูรณาการกับกระทรวงอื่น เพื่อทำความเข้าใจ ขับเคลื่อน เร่งผลักดันกฎหมายนี้ให้สำเร็จโดยเร็ว“

สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล

รมว.กระทรวงวัฒนธรรม ยังระบุว่า จะเดินหน้านโยบายเพื่อช่วยคุ้มครองสิทธิส่งเสริมศักยภาพกลุ่มชาติพันธุ์ และสนับสนุนการยกระดับสินค้าทางวัฒนธรรม ตามนโยบายกระทรวงวัฒนธรรม และซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล และจากนี้จะเดินสายพบปะเพื่อทำความรู้จักและเข้าใจกลุ่มชาติพันธุ์ในภูมิภาคต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

“ดิฉันถือว่า งานวันนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับสังคมไทยที่ก้าวสู่สังคมพหุวัฒนธรรม ที่เปิดกว้างและเปิดรับความหลากหลายทางอัตลักษณ์ สร้างโอกาสให้ประเทศไทยเป็นหมุดหมายของผู้คนที่มีศักยภาพในด้านต่าง ๆ และเป็นกลไกในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน”

สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล

นพ.โกมาตร ระบุว่า ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เป็นองค์กรวิชาการที่ทำงานด้านชาติพันธุ์มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีภารกิจในการจัดการฐานข้อมูลด้านชาติพันธุ์จองประเทศ เพื่อรวบรวมข้อมูลวิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ รวมทั้งข้อมูลสถานการณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ ให้เป็นฐานข้อมูลกลาง ของประเทศ เพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเลิงวิชาการ และเป็นข้อมูลพัฒนานโยบายด้านชาติพันธุ์ของประเทศ

ทั้งนี้ได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบกับกรณีต่างประเทศ ศึกษาผลกระทบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดเวทีรับฟังความเห็นให้ทุกภาคส่วน จนสามารถเสนอร่างกฎหมายให้คณะรัฐมนตรีรับหลักการ ขณะนี้ร่างกฎหมายอยู่ในชั้นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายฯ ซึ่งเบื้องต้นพิจารณาครบ 35 มาตราแล้ว อยู่ระหว่างทบทวนถ้อยคำให้มีความเหมาะสม

ขณะที่ เกรียงไกร ชีช่วง ประธานสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ย้ำถึงเป้าหมายการจัดงานปีนี้

  1. เพื่อเปิดพื้นที่สร้างความเข้าใจทางวิชาการในประเด็นกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง

  2. เพื่อสร้างความร่วมมือและร่วมกำหนดแนวทางการผลักดัน ขับเคลื่อน และสนับสนุนการพิจารณาร่างกฏหมายคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง และเพื่อร่วมรณรงค์สาธารณะ เผยแพร่ศิลปะวัฒนธรรม

  3. เพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในวันสากลชนเผ่าพื้นเมืองโลกและวันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ, ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม, และสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่ทำงานกับกลุ่มชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมือง จัดงานรณรงค์และเฉลิมฉลองเนื่องในวันชนเผ่าพื้นเมือง ประจำปี 2567 ขึ้น ภายใต้ธีมงาน “ร่วมฉลองกฎหมายคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง” ตลอดทั้งเดือนสิงหาคมนี้

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active