‘ตาไหม’ – ชาวบ้านตลาดน้อย เสี่ยงไร้บ้าน เอกชนแจ้งฉีกสัญญาเช่าที่ สิ้นปีนี้

กทม. ลงพื้นที่สำรวจปัญหา พบหลาย 10 ครอบครัว เป็นผู้มีรายได้น้อย เตรียมประสานส่งต่อข้อมูล เร่งช่วยเหลือ

เมื่อวันที่ 16 ก.ย.65 อณุสรา ชื่นทรวง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม กทม., อาทิตยา โชคกิจมนัสชัย ผู้อำนวยการเขตสัมพันธวงศ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่สำรวจปัญหา และหาแนวทางช่วยเหลือกรณีชาวบ้านในเขตสัมพันธ์วงศ์ ซึ่งอาศัยอยู่ย่านตลาดน้อย กว่า 10 หลังคาเรือน กำลังกังวลกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ภายหลังเอกชนเจ้าของพื้นที่ประกาศยกเลิกสัญญาเช่าที่ จนอาจทำให้ชาวบ้านหลายคนเสี่ยงเป็นคนไร้บ้าน หากไม่สามารถหาที่อยู่ใหม่ได้ภายในสิ้นปีนี้

หนึ่งในนั้น คือ ครอบครัวของ ทองคูณ โพสลิต หรือ ตาไหม ซึ่งเรื่องราวชีวิตของเขาถูกถ่ายทอดผ่าน สารคดีคนจนเมือง ตอน ‘ซอกหลืบเยาวราช’ จนได้รับรางวัลนาฏราช ประเภทสารคดียอดเยี่ยม ปีล่าสุด

สารคดีคนจนเมือง ไทยพีบีเอส คว้ารางวัลนาฏราช

ตาไหม บอกว่า รายได้หลักของเขา มาจากการรับจ้างทั่วไป และเก็บของเก่าขาย โดยเช่าที่เอกชนปลูกบ้านพออาศัย ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยามานานเกือบ 20 ปี จ่ายค่าเช่าที่ให้เอกชนปีละ 5,200 บาท อาศัยอยู่ด้วยกันทั้งหมด 5 คน ภายหลังจากที่เอกชนยกเลิกสัญญาเช่า และให้ย้ายออกภายในสิ้นปีนี้ เขาจึงรู้สึกเป็นกังวล เนื่องจากในตอนนี้ตกงาน ไม่มีรายได้ จึงตั้งใจจะพาครอบครัวย้ายไปอยู่อาศัยที่ศาลเจ้าโจวซื่อกง ซึ่งไม่ไกลจากที่พักเดิม แต่ก็ได้รับแจ้งจากกรรมการของศาลเจ้า ว่าไม่อนุญาตให้มานอนค้างคืน จึงต้องหาบ้านเช่า ซึ่งมีราคาเช่าเฉลี่ยเดือนละ 3,000 บาท

“ไม่ไหวก็ต้องไหว มีอะไรให้ทำก็ทำไป ไม่มีเงินเก็บ หาได้ก็ใช้ไปวันต่อวัน ซื้อข้าวสารถุงนึงราคาเท่าไหร่แล้ว แต่ก็ดีกว่าไม่มีอะไรทำเขาจะให้ทำอะไรเราก็ทำหมด ชีวิตไม่สิ้นก็ดิ้นกันไป อย่างน้อยหลานเขาก็จะได้คิดว่าตาเขาเช่าห้องให้เขาอยู่ ตัวเองจะนอนตรงไหนก็ได้”

ทองคูณ โพสลิต

นอกจากตาไหมแล้ว ยังมีอีกกว่า 10 ครอบครัว ที่ถูกยกเลิกสัญญาเช่าพร้อมกัน ซึ่งก็มีปัญหาไม่ต่างกัน บางครอบครัวอาศัยอยู่เฉพาะผู้สูงอายุ บางคนเป็นผู้ป่วยติดเตียง และยังไม่รู้ว่าจะย้ายไปอยู่ที่ไหน

ด้าน ผู้อำนวยการเขตสัมพันธวงศ์ เปิดเผยหลังลงพื้นที่ ว่า ส่วนใหญ่ชาวบ้านต้องการอยู่อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิม เพราะใกล้แหล่งงาน จึงเตรียมประสานข้อมูลเพื่อส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ความช่วยเหลือ

ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม กทม. ก็มองว่า การช่วยเหลือต้องดูที่ความต้องการเป็นหลัก อย่างกรณีครอบครัวตาไหม มีทะเบียนราษฎร์อยู่ต่างจังหวัด ระเบียบของทาง กทม. อาจไม่สามารถช่วยเหลือกลุ่มประชากรแฝงได้ จึงเตรียมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ข้อจำกัดนี้

“จากที่ถามเขาต้องการอยู่ในที่เดิม และแถวนี้ก็มีแหล่งจ้างงานอยู่มาก ทางเขตเตรียมประสานกิจการห้างร้านเพื่อให้มีรายได้เสริมจะได้มีเงินพอในการจ่ายค่าเช่า หากสนใจฝึกอาชีพก็มีทุนประกอบอาชีพให้ แต่เขาบอกไม่ถนัดค้าขาย มีเงินช่วยเหลือค่าเช่า แต่ระยะหนึ่งเท่านั้น”

อณุสรา ชื่นทรวง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม กทม.

นอกจากการส่งต่อข้อมูลประสานไปทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องแล้ว จะยังมีกลไกการติดตามเพื่อดูแลครอบครัวที่มีการสำรวจโดยหากได้รับการช่วยเหลือก็จะถูกเก็บไว้ในข้อมูลในระบบ เพื่อความต่อเนื่องของการช่วยเหลือ ส่วนการบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้านั้นทางเจ้าหน้าที่ได้มอบถุงยังชีพให้ในเบื้องต้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active