ไทยพีบีเอส คว้ารางวัลสารคดียอดเยี่ยม จากสารคดีคนจนเมือง ตอน “ซอกหลืบเยาวราช” ในการประกาศผลรางวัล “นาฏราช” ครั้งที่ 13 ประจำปี 2564 สะท้อนชีวิตคนจนเมือง ตอกย้ำความจริงสังคมแห่งความเหลื่อมล้ำ
วันนี้ (7 ก.ย. 2565) สมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ จัดงานประกาศผล “รางวัลนาฏราช ครั้งที่ 13 ประจำปี 2564” โดยใช้รูปแบบการประกาศผ่านช่องทางออนไลน์ ผ่านเพจ หน้าจอ รวมทั้งสิ้น 36 รางวัล แบ่งเป็น รางวัลเกียรติยศด้านวิทยุและโทรทัศน์ 2 รางวัล, รางวัลประเภทรายการวิทยุ จำนวน 5 รางวัล, รางวัลประเภทรายการโทรทัศน์ จำนวน 13 รางวัล, รางวัลประเภทละครโทรทัศน์ จำนวน 11 รางวัล และรางวัลประเภทละครและซีรีส์ แพลตฟอร์มออนไลน์ จำนวน 5 รางวัล
สำหรับ สารคดีคนจนเมือง ตอน ซอกหลืบเยาวราช ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ช่องหมายเลข 3 ได้รับรางวัลสารคดียอดเยี่ยม โดยรางวัลดังกล่าว มีผู้ผ่านเข้ารอบตัดสินรางวัลจำนวน 5 เรื่อง คือ 1) รายการ สารตั้งต้น : ตอน ทรงเจ้า เข้าผี ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์พีพีทีวี (PPTV HD36)
2) รายการ คนค้นฅน : ตอน รังสิยา สามีสตรีเหล็ก ออกอากาศทางช่อง 9 MCOT HD, 3) รายการ ย้อนรำลึก 105 ปี ตำนานหัวลำโพง ออกอากาศทางช่อง 9 MCOT HD, 4) A day in the Wild : ตอน ธรรมชาติเชื่อมโยงทุกสรรพสิ่ง ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ช่องหมายเลข 3 และ 5) สารคดี คนจนเมือง : ตอน ซอกหลืบเยาวราช ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ช่องหมายเลข 3
“ซอกหลืบเยาวราช” เป็นหนึ่งในสารคดีชุด “คนจนเมือง” มีทั้งหมด 11 ตอน ควบคุมและอำนวยการผลิตโดย ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ ไทยพีบีเอส หรือ The Active เพื่อรื้อถอนมายาคติ “คนจน” และ “ความจน” ว่าไม่ใช่เรื่องของปัจเจกชนที่เผชิญชะตากรรมหรือจนเพราะความขี้เกียจ จากนั้น จัดเรียงความคิดใหม่ความจน เป็นผลผลิตจากโครงสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคมและนโยบายของรัฐ และฉายให้ “คนจน” มีหลายรูปแบบ อาทิ คนจนข้ามรุ่น คนเสี่ยงจน คนจนเมืองที่มีนัยของผู้ประกอบการทางสังคมที่ไร้สิทธิ โอกาส และอำนาจ
- ชมสารคดีชุดคนจนเมือง ตอน ซอกหลืบเยาวราช
เนื้อหาของสารคดี ชวนให้มองเห็นอีกมุมของกรุงเทพมหานครยามค่ำคืน เยาวราชที่แปรสภาพจากถนนเศรษฐกิจของชุมชนคนจีน ศูนย์รวมการเงิน ร้านทอง ภัตตาคาร เป็น “ถนนอาหาร” (Street Food) ที่มีความยาวที่สุดแห่งหนึ่ง และเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก เบื้องหลังความเจริญและมั่งคั่งของถนนสายนี้ ยังมีคนไทยกลุ่มหนึ่งซุกซ่อนตัวอยู่ในเพิงที่ห่างไกลจากมาตรฐานคำว่า “บ้าน” ของคนทั่วไป เขาหล่านี้เป็นฟันเฟืองหมุนเมืองให้เจริญเติบโตอยู่อย่างสงบเสงี่ยม นี่คือเรื่องราวของ ‘ตาไหม’ ชายชราวัย 62 ปี แรงงานอพยพจากจังหวัดสุรินทร์ตั้งแต่วัยหนุ่ม เจ้าของบ้านจากประติมากรรมปะติด คือติดและปะทุก อย่างที่พอหาได้ เพื่อคุ้มแดดฝน เขาใช้ชีวิตเป็นคนส่งถ่านในเยาวราชมากกว่า 20 ปี และรับจ้างทำทุกอย่างตลอด มาเพื่อเลี้ยงครอบครัว
‘ตาไหม’ คือภาพสะท้อนของแรงงานอพยพ คนไร้บ้าน ไร้หลักประกันในฐานะพลเมืองไทย พวกเขาดิ้นรนเพียงเพื่อให้มีชีวิตอยู่รอดในเมืองใหญ่ที่เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา แต่คนในซอกหลืบของย่านเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่นี้ กลับไร้ “ตัวตน” มองไม่เห็นหนทางที่จะหลุดพ้นความเป็น “คนจนเมือง” จากโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมที่ไม่เคยใยดีพวกเขา