ไทยติดอันดับ 2 ของโลก “มีแรงงานข้ามชาติหญิงในธุรกิจก่อสร้าง”

‘มูลนิธิศุภนิมิตฯ’ รายงานสถานการณ์แรงงานในประเทศไทย พบ ภาคก่อสร้างไทยมีแรงงาน 2.7 ล้านคน “การเข้าสวัสดิการ-รู้สิทธิ” ยังเป็นปัญหา ชูโมเดล “ยกระดับสิทธิแรงงานหญิงและเด็ก” ในพื้นที่ก่อสร้างสอดรับ SDGs

แรงงานข้ามชาติ

เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2565 มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย รายงานสถานการณ์สิทธิแรงงาน ความเท่าเทียม และ ความเปราะบางของแรงงานหญิงและเด็กในประเทศไทย พบแรงงานในธุรกิจก่อสร้าง 2.7 ล้านคน เป็นแรงงานไทย 2.2 ล้านคน และแรงงานข้ามชาติ 500,000 คน หรือคิดเป็น 17% ของภาคแรงงานทั้งหมด โดยอ้างอิงข้อมูลจากกระทรวงแรงงาน

สำหรับประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีแรงงานข้ามชาติหญิงในธุรกิจก่อสร้างมากเป็นอันดับ 2 ของโลก ด้วยจำนวนแรงงาน 200,000 คน หรือ 40% ของแรงงานข้ามชาติทั้งหมด ส่วนใหญ่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา เมียนมา และลาว ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับสิทธิและสวัสดิการที่พึงมีมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มแรงงานด้วยกัน

สราวุธ ราชศรีเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิศุภนิมิตฯ กล่าวว่า ปัจจุบันยังมีแรงงานในประเทศไทยอีกมากที่ยังไม่รู้ถึงสิทธิที่ตนเองควรได้รับ เรื่องการเข้าถึงบริการทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะปัญหาการเข้าถึงสิทธิของแรงงานในภาคก่อสร้าง เป็นเรื่องที่ภาคอสังหาริมทรัพย์และสังคมไม่ได้ให้ความสนใจเท่าที่ควร

“การใช้แรงงานที่ถูกกฎหมายและดูแลการจ้างงานให้สวัสดิการอย่างถูกต้องครบถ้วน เป็นเรื่องที่อาจเพิ่มต้นทุนให้กับนายจ้าง แต่ถ้าคำนึงถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน ที่มนุษย์ทุกคนควรได้รับการปกป้องคุ้มครองสิทธิตามสมควร จึงเป็นประเด็นที่ทุกองค์กรในภาคอสังหาริมทรัพย์ ควรให้ความสำคัญ”

แรงงานข้ามชาติ

สราวุธ กล่าวต่อไปว่า การให้ความสำคัญในเรื่องสิทธิแรงงาน เป็นเรื่องที่สอดคล้องกับการนำพาองค์กรไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนตามที่ UN SDGs กำหนดให้ถึงเป้าหมายไว้ในปี 2030 ล่าสุด มูลนิธิศุภนิมิตฯ ได้จับมือกับภาคธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ดำเนินการยกระดับสิทธิแรงงานไปสู่ระดับสากลภายใน 2 ปี ผ่านการลงเยี่ยมแรงงานเพื่อทำแบบสอบถาม และการให้ความรู้เบื้องต้นแก่ผู้รับเหมาและตัวแรงงาน โดยมุ่งเน้นสิทธิด้านประกันสังคม การใช้วันลา การจ้างงาน ค่าจ้าง และค่าล่วงเวลา สิทธิสตรี อาทิ การจ้างงานที่เท่าเทียม การไม่กระทำความรุนแรง สุขภาพและอนามัยเจริญพันธุ์ สิทธิเด็ก อาทิ สิทธิที่จะมีชีวิตรอด สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง สิทธิที่จะมีส่วนร่วม นอกจากนั้น ยังให้การอบรมทักษะพื้นฐานสำหรับเด็กและทักษะอาชีพเสริมให้แรงงานด้วย

โดยในปี 2565 จะดำเนินการนำร่องโครงการสนับสนุนสิทธิแรงงานใน 10 ไซต์ก่อสร้าง ของ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เจาะกลุ่มแรงงานหญิงก่อนเป็นกลุ่มแรก จากนั้นจะขยายผลต่อไปยังกลุ่มลูกคนงานก่อสร้าง และในปี 2566 จะต่อยอดไปยังแรงงานข้ามชาติชาย และแรงงานไทยในต่อไป เพื่อยกระดับสิทธิแรงงานในภาคก่อสร้างได้อย่างครอบคลุมและเป็นรูปธรรม

“คาดหวังว่าจะได้ข้อมูลครบถ้วนทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพเกี่ยวกับต้นเหตุปัญหาของการเข้าถึงสิทธิแรงงานในภาคก่อสร้าง สามารถสร้างมาตรฐานการดูแลสิทธิแรงงานก่อสร้างในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนของเด็ก บรรเทาทุกข์ฉุกเฉิน ส่งเสริมความยุติธรรมในสังคม เสริมสร้างจิตสำนึกแก่มวลชนเพื่อนำไปสู่การมีส่วนร่วม ให้การแบ่งปันช่วยเหลือเด็กเปราะบางยากไร้ และร่วมพัฒนาสังคมไทยให้ดียิ่งขึ้นต่อไป”

Author

Alternative Text
AUTHOR

ศศิธร สุขบท

มนุษย์ช่างฝัน ชอบสร้างสรรค์ข่าวเชิงบวก มีพรรคพวกชื่อจินตนาการ แสนสุขกับงานขับเคลื่อนสังคม