หน่วยงานรัฐ รับสภาพ “ระบบราชการ” ข้อจำกัด ทำกลไกขับเคลื่อนแก้ปัญหา “ชาติพันธุ์ชาวเล” ล่าช้า ขณะที่ ผู้ตรวจราชการ พม. ย้ำ ต้องปรับแนวคิด แก้ปัญหาเฉพาะกลุ่ม ต้องไม่มีตัดเสื้อโหล
เมื่อวันที่ 25 พ.ย.66 ศูนย์ประสานงานเครือข่ายชาวเลอันดามัน จัดงาน “รวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล” (มอแกน มอแกลน อูรักลาโว้ย) ครั้งที่ 13 ภายใต้ชื่อ “โอบกอดฉันไว้ จนกว่าจะเจอความยุติธรรม” จัดขึ้นที่ชุมชนชาวเลแหลมหลา-หินลูกเดียว ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต
ปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ระบุในเวทีเสวนา “สถานการณ์สุขภาวะและคุณภาพชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล” ย้ำว่า ชาวเลเป็นชาติพันธุ์กลุ่มแรกที่มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับรอง คือ มติ ครม. 2 มิถุนายน 2553 ที่ผ่านมาชาวเลปะทะกับภัยคุกคามใหญ่ 2 เรื่องหลัก คือ นโยบายพัฒนาการท่องเที่ยว ที่กระทบต่อพื้นที่ทำกิน ที่อยู่อาศัยของชาวเล อีกเรื่องสำคัญ คือ นโยบายการประกาศเขตพื้นที่อนุรักษ์ ทำให้ชาวเลถูกเบียดขับออกจากชุมชนดั้งเดิม บางชุมชนตกอยู่ในสถานะผู้บุกรุก ไร้ซึ่งสิทธิและโอกาสการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น รวมไปถึงการสูญเสียวิถีวัฒนธรรม ประเพณีในแบบฉบับของตัวเอง
“ถามว่าหวังอะไร ตอนนี้อยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาด้วยดี ตามกลไกที่เกิดขึ้นผ่านมติ ครม. พี่น้องจะได้ไม่ต้องไปร้องเรียน กสม. ก็ต้องติดตามการแก้ไขปัญหา คาดหวังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาชาวเลอย่างเป็นรูปธรรม”
ปรีดา คงแป้น
พม. ย้ำ ปรับหลักคิด หยุดตัดเสื้อโหล แก้ปัญหาชาติพันธุ์
กิตติ อินทรกุล ผู้ตรวจราชการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ระบุว่าจากนี้ พม. จะไม่ใช้วิธีการแก้ไขปัญหาแบบตัดเสื้อโหล สำหรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ อย่างกลุ่มชาวเลทั่วประเทศจะต้องได้รับการจัดสวัสดิการเฉพาะกลุ่มเป้าหมายอย่างเหมาะสมกับกลุ่มชาติพันธุ์ในอนาคต บทบาทสำคัญคือ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) ต้องไปดำเนินการ ทำให้งานชาติพันธุ์เป็นงานหลัก งานใหญ่ จึงต้องการให้ทุกหน่วยงานร่วมกันขับเคลื่อน ซึ่งที่ผ่านมาทุกคนบอกว่าทำงานหมด แต่ไม่ได้เจาะจงลงไปชัดเจน
“อยากให้มาทบทวนโครงสร้างของ พส. ว่า จะขยายงานไปสู่กลุ่มชาติพันธุ์อื่นอย่างไร โดยตั้งเป้าว่าภายในปี 2568 พม.จะตั้งงบประมาณไปช่วยเหลือด้านคุณภาพชีวิต เปลี่ยนบทบาทจากการตัดเสื้อโหล เป็นการตัดเสื้อตามเป้าหมายเฉพาะ ถือเป็นกรอบการทำงานในอนาคต”
กิตติ อินทรกุล
เล็งประกาศพื้นที่คุ้มครองชาวเล อย่างน้อย 10 ชุมชน ปีหน้า
ในเวทีฯ ซึ่งมีตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ อย่าง พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ในพื้นที่ 5 จังหวัดอันดามัน, ตัวแทนศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) และหน่วยงานท้องถิ่น ได้ให้ข้อมูลว่า การ “ประกาศพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล” ต้องอยู่บน 3 เงื่อนไขสำคัญ คือ ฐานข้อมูลชุมชน, กระบวนการทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และชุมชน รวมถึงการมีธรรมนูญชุมชนเป็นกติการ่วมกัน ซึ่งหน่วยงานรัฐให้ข้อมูลว่า เวลานี้ มีชุมชนที่จัดทำฐานข้อมูลพร้อมแล้ว 17 ชุมชน แต่ยังติดขัดข้อจำกัดบางเรื่องจึงยังประกาศพื้นที่คุ้มครองฯ ไม่ได้ อย่างไรก็ตามคาดว่า ภายในปี 2567 น่าจะมีอย่างน้อย 10 ชุมชน ที่มีความพร้อม ได้ประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ฯ
ตัวแทนหน่วยงานรัฐ ยังยอมรับด้วยว่า อุปสรรคสำคัญที่ทำให้การขับเคลื่อนการประกาศพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลทำได้ล่าช้า คือระบบราชการ และการจัดทำเอกสารที่ต้องทำร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ และชุมชน อีกประเด็นสำคัญที่ยังเป็นข้อจำกัดของระบบราชการ คือ อคติที่มีต่อชาติพันธุ์ ที่มองว่า ไม่ใช่คนไทย เป็นคนล้าหลัง ซึ่งถือเป็นอคติเฉพาะของบางหน่วยงาน จึงเชื่อว่าเป็นบทบาทของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ ต้องสร้างกระบวนการทำงาน ส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจในกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อย้อนมาสู่ความเข้าใจของภาคราชการด้วย
สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล เป็นชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิม อยู่หากินบริเวณทะเลอันดามันมาเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 300 ปี ปัจจุบันมีชุมชนชาวเล 46 ชุมชน กระจายอยู่ในพื้นที่ 5 จังหวัด คือ จ.ภูเก็ต, พังงา, ระนอง, สตูล และกระบี่ มีประชากรประมาณ 14,000 คน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ มอแกน มอแกลน และอูรักลาโว้ย
ส่องสถานการณ์ ผลกระทบวิถีชาติพันธุ์ชาวเล
สถานการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากชาวเลอยู่ในพื้นที่ท่องเที่ยวอันดามัน แม้ผ่านมา 13 ปี ภายหลังมีมติ ครม. 2 มิถุนายน 2553 แต่ปัญหาชาวเลก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ชุมชนชาวเลยิ่งถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน เช่น ความไม่มั่นคงด้านที่อยู่อาศัย มี 25 ชุมชน ซึ่งไม่มีเอกสารสิทธิเป็นของตัวเองทั้ง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่มาดั้งเดิม แต่ที่ดินกลับกลายเป็นพื้นที่ของรัฐหลายประเภท นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่ทำกินในทะเล
ความไม่มั่นคงด้านที่ดินทำกิน ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากการประกาศเขตอุทยานฯ การไร้ซึ่งพื้นที่จิตวิญญาณ สุสาน และพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ พื้นที่ประกอบพิธีกรรมถูกคุกคาม รุกราน จากการสำรวจพบว่า กำลังเกิดปัญหาขึ้นถึง 15 แห่ง ที่ออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบทับพื้นที่จิตวิญญาณของชาติพันธุ์ชาวเล
นอกจากนั้น ยังมีปัญหาเรื่องการศึกษา ภาษา และวัฒนธรรม ที่กลุ่มลูกหลานชาวเลไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ ขาดความภาคภูมิใจในภาษา และวัฒนธรรมของตัวเองทำให้เสี่ยงที่จะสูญหายไป
ขณะเดียวกันยังพบ ปัญหาด้านสุขภาวะ เข้าไม่ถึงระบบบริการสาธารณสุข รวมทั้ง ปัญหาการไร้ซึ่งสัญชาติ โดยพบว่ายังมีชาวเลอีกกว่า 400 คน ไม่มีสัญชาติไทย
สำหรับงาน “รวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล” ครั้งที่ 13 จะได้ร่วมกัน ประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตชุมชน กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลหินลูกเดียว ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ซึ่งถือเป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตชาวเล แห่งที่ 2 ด้วย