2 เดือนจุด Drop In คนไร้บ้าน พบปัญหาเข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุข

เหตุไร้บัตรประชาชน มูลนิธิกระจกเงา ดันคลินิกกฎหมายขจัดการไร้รัฐ สัญชาติ – จ้างงาน ด้าน “ชัชชาติ” ลงพื้นที่ถอดบทเรียน 31 ต.ค.นี้

วันที่ 28 ต.ค.2565 The Active ลงสำรวจพื้นที่บริการคนไร้บ้านเฉพาะกิจ (จุด Drop In) บริเวณใต้สะพานพระปิ่นเกล้า ตามนโยบายของกรุงเทพมหานครและภาคีเครือข่าย พบคนไร้บ้านเข้าใช้บริการต่อเนื่อง

โดยบริเวณจุดคัดกรองเจ้าหน้าที่จากสำนักพัฒนาสังคม สำรวจความต้องการของคนไร้บ้านเพื่อบันทึกเป็นฐานข้อมูลใช้แก้ปัญหาอย่างตรงจุด และแม่นยำ จากการสอบถามทราบว่าจุดนี้เปิดให้บริการมากว่า 2 เดือน เก็บข้อมูลคนไร้บ้านที่ใช้บริการไม่ต่ำกว่า 200 คน ส่วนใหญ่ต้องการอาหาร และหางาน เพราะส่วนใหญ่ยังอยู่ในวัยแรงงานตอนปลาย หรือเพิ่งตกงานจากสถานการณ์โควิด-19

ด้านจุดบริการสุขภาพ สำนักการแพทย์ได้นำอุปกรณ์ และยารักษาเบื้องต้น เพื่อตรวจสุขภาพให้กับคนไร้บ้าน ซึ่งส่วนใหญ่สะท้อนว่าตนเองเข้าไม่ถึงระบบบริการสุขภาพ เนื่องจากไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน ตั้งแต่เกิดหรือหายไประหว่างใช้ชีวิตในที่สาธารณะ หรือเป็นบุคคลไร้สถานะทางทะเบียน เมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยจึงไม่สามารถใช้บริการในสถานพยาบาล หรือศูนย์บริการสุขภาพ ตามสิทธิได้

นพ.จักกาย เกษมนานา จากกลุ่มหมอกระเป๋า และแพทย์อาสาที่เข้าร่วมในครั้งนี้ กล่าวว่า ตนเองลงพื้นที่สาธารณะเพื่อตรวจสุขภาพให้กับคนไร้บ้านร่วมกับภาคีเครื่อข่ายอยู่บ่อยครั้ง รู้สึกกังวลโดยเฉพาะกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่ต้องได้รับยาอย่างต่อเนื่อง โดยในเวลานี้มีโครงการคลินิกกฎหมายกระจกเงา ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายกับคนที่มีปัญหาการรับรองสถานะบุคคลตามกฎมาย (ไร้รัฐ/ไร้สัญชาติ/เสมือนไร้สัญชาติ) ซึ่งเป็นคนเปราะบางที่เข้าไม่ถึงสิทธิอันจำเป็นหลายประการ แต่ยังอยากเห็นความชัดเจนในนโยบายเพื่อให้เกิดการทำงานที่ง่ายขึ้น

“อยากฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำให้การได้บัตร ได้ยาง่ายขึ้นกว่านี้จะเป็นไปได้ไหม ผมเชื่อว่ามันจะเป็นประโยชน์กับเมืองถ้าเขาสุขภาพแข็งแรงไม่ขาดยา ไม่มีภาวะพิการ พวกเขาอาจจะออกไปหางาน เมืองก็มีคนทำงานให้เกิดผลประโยชน์ตามมา”

นพ.จักกาย เกษมนานา กลุ่มหมอกระเป๋า

ขณะที่จุด “สดชื่นสถาน” มูลนิธิกระจกเงา มีคนไร้บ้านจำนวนมากเข้ามาใช้บริการซักผ้า อบผ้า อาบน้ำฟรีแต่ด้วยศักยภาพที่มีจึงสามารถรับซักผ้าจำกัดได้ที่ 30 คิว อาบน้ำ 10 คิว ซึ่งการมีร่างกายที่สะอาด ถือเป็นพื้นฐานที่จะสร้างความมั่นใจในการออกไปหางานของคนไร้บ้าน และนำมาสู่การรับสมัครงานตามโครงการ “จ้างวานข้า” ในจุดเดียวกัน

เบญจวรรณ คุณเลิศ หรือ แพรว เจ้าหน้าที่โครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา ตั้งโต๊ะรับสัมภาษณ์คนไร้บ้านที่กำลังหางาน ตั้งแต่ 9 ก.ย. ที่ผ่านมา เฉพาะวันนี้มีอย่างน้อย 4 คน ที่ผ่านการสัมภาษณ์ และจะต้องเข้ารับการปฐมนิเทศที่มูลนิธิอีกครั้ง ซึ่งการมีเงินคือความต้องการอันดับแรกของคนไร้บ้าน เพื่อต่อยอดไปทำสิ่งต่างๆ รวมถึงการมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง โดยเฉพาะกลุ่มคนสูงวัยไร้บ้านหน้าใหม่ ที่ได้รับผลกระทบฉับพลัน ยาวนาน จากโควิด-19 

“ทั้งวิกฤตเศรษฐกิจ และโรคระบาด ทำให้พวกเขาหลายคนตกงานโดยที่ไม่ได้รับค่าจ้างเลยก็มี กลับไปอยู่บ้านก็โดนแรงกดดันต่างๆ การออกมาไร้บ้านมันจึงเป็นทางเลือกสุดท้ายของเขาแล้ว การให้งานเพื่อมีเงิน ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่เขาจะมีบ้านเริ่มชีวิตใหม่ หรือถ้าใครอยากจะใช้ชีวิตในที่สาธารณะต่อไป เราก็ไม่ไปบังคับเขา”

เบญจวรรณ คุณเลิศ เจ้าหน้าที่โครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา

สำหรับ จุด Drop In มีทั้งหมด 4 จุด ได้แก่ 1.หัวลำโพง 2.ราชดำเนินกลาง 3.ตรอกสาเก 4.ใต้สะพานพระปิ่นเกล้า บริเวณอาคารส่วนท่องเที่ยว สำนักงานวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว ซึ่งถือว่าเป็นความร่วมมือกันของหลายฝ่ายเพื่อหาทางแก้ปัญหาให้กับคนไร้บ้านได้มีพื้นที่ อาทิมูลนิธิกระจกเงา บริษัทเอกชน และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ติดตั้งเครื่องซักผ้าชนิดอบแห้ง มีจุดอนามัยดูแลสุขภาพร่างกายเบื้องต้น มีรถสุขาเคลื่อนที่ พร้อมจุดแจกอาหาร 

จากการสำรวจคนไร้บ้านในพื้นที่กรุงเทพฯ ณ เดือนกันยายน 2565 มีจำนวน 1,656 คน โดย 5% เป็นคนไร้บ้านที่มีอาการป่วยทางจิต และ 95% เป็นคนไร้บ้านหน้าใหม่ที่ยังสามารถพัฒนาได้ โดยตามรายงานในวันที่ 31 ต.ค. 65 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. จะลงพื้นที่ใต้สะพานพระปิ่นเกล้า เพื่อร่วมถอดบทเรียนหลังดำเนินการมากว่า 2 เดือน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active