ค้านประกาศอุทยานฯ ออบขาน ชาวบ้านจี้รัฐกันพื้นที่ชุมชน 24,513 ไร่ออก

ประชาชน อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ร่วมค้านประกาศอุทยานแห่งชาติออบขานทับป่าจิตวิญญาณ-ที่ทำกิน ชี้กระบวนการรับฟังความเห็นขาดการมีส่วนร่วม หวั่นสูญเสียวิถีชีวิตชาติพันธุ์ ถูกดำเนินคดี ต่อยอดความขัดแย้งไม่สิ้นสุด 

เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2565 ชาวปกาเกอะญอบ้านแม่ลานคำ หมู่ที่ 6 และบ้านป่าคา หมู่ที่ 11 ต.สะเมิงใต้ อ.สะเมิงจ.เชียงใหม่ ประมาณ 300 คน ในนามสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ได้ตั้งขบวนที่เทศบาล ต.สะเมิงใต้ จากนั้นเคลื่อนขบวนพร้อมป้ายคัดค้านการประกาศอุทยานแห่งชาติออบขาน ไปยังที่ว่าการ อ.สะเมิง ซึ่งเป็นสถานที่จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชน ในการกำหนดพื้นที่อุทยานแห่งชาติออบขาน 

จากนั้นชาวบ้านได้เริ่มแสดงความเห็นทีละหมู่บ้าน โดยนอกจากชาวบ้าน จากบ้านแม่ลานคำ และป่าคา ยังมีชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบเข้าร่วมทั้งสิ้นรวม 9 หมู่บ้าน ซึ่งทุกหมู่บ้านต่างมีความเห็นในทิศทางเดียวกัน คือไม่เห็นด้วยกับการประกาศอุทยานแห่งชาติออบขาน ด้วยเหตุผลเกี่ยวกับความกังวลด้านการใช้ชีวิตในเขตป่า

ตาแยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ ชาวปกาเกอะญอวัย 75 ปี ผู้นำทางจิตวิญญาณหย่อมบ้านสบลาน หมู่ที่ 6 ยืนยันว่าชุมชนมีประวัติศาสตร์การก่อตั้งชุมชนและต่อสู้กับการสัมปทานป่าไม้มาอย่างยาวนาน และมีการดำเนินการสำรวจร่วมกับอุทยานฯในพื้นที่ ผ่านหัวหน้าอุทยานฯมาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 คน ตลอดเวลาการเตรียมการประกาศอุทยานฯ กว่า 30 ปี จนถึงวันนี้ยังไม่จบ ซึ่งตนกังวลเรื่องการใช้ประโยชน์จากป่า ทั้งการเก็บหาของป่า สมุนไพรและการเลี้ยงสัตว์

“เมื่อก่อนเราทำกิน ไม่ผิดอะไร เราทำไร่ เราเข้าป่า เราทำพิธีกรรม แต่ตอนนี้มีกฎกติกามากมาย มีข้อกฎหมายเราก็กลัวว่าจะทำไร่ไม่ได้ เข้าป่าไม่ได้ เจ้าหน้าที่ก็มาลาดตระเวณ ตอนนี้ชีวิตเราวิกฤต เราจะต้องถูกกดขี่ไปขนาดไหน”

ตาแยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ ชาวปกาเกอะญอ บ้านสบลาน จ.เชียงใหม่
ตาแยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ ชาวปกาเกอะญอ บ้านสบลาน จ.เชียงใหม่

เช่นเดียวกับ นันทวัฒน์ เที่ยงตรงสกุล ผู้ใหญ่บ้าน บ้านแม่ลานคำ หมู่ที่ 6 ต.สะเมิงใต้ ก็ยืนยันว่า ต้องกันพื้นที่ 24,513 ไร่ ซึ่งทับซ้อนกับพื้นที่ป่าจิตวิญญาณของชุมชนออกจากการเตรียมการประกาศอุทยานฯ ก่อนเนื่องจากเป็นป่าที่ชุมชนดูแลรักษามานานแล้ว และยังตั้งข้อสังเกตถึงการจัดเวทีรับหังความคิดเห็นในวันนี้ว่าจะนำไปสู่การแก้ไขัญหาป่าทับคนหรือไม่

“เวทีรับฟังความคิดเห็นวันนี้มันเป็นแค่ขั้นตอนหนึ่งที่ลบขั้นตอนยุ่งยากตลอด 30 ปีที่เราต่อสู้กันมา ณ วันนี้ มันเป็นกฎหมายรวบรัดให้ประกาศอุทยานฯ ง่ายขึ้น เราไม่แน่ใจเลยว่ามันจะได้รับการบันทึกลงในรายงานการประชุม ส่งไปถึงอธิบดีกรมอุทยานฯ ไหม เพื่อยืนยันว่าข้อเสนอของเรามันส่งไปถึง ทั้งอธิบดี รัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี” 

นันทวัฒน์ เที่ยงตรงสกุล ผู้ใหญ่บ้าน บ้านแม่ลานคำ หมู่ที่ 6 ต.สะเมิงใต้

ด้าน สุพร ศรีประเทืองชัย ผู้ใหญ่บ้าน บ้านป่าคา หมู่ 11 ต.สะเมิงใต้ ก็ย้ำข้อเรียกร้องให้กันพื้นที่ 24,513 ไร่ออกจากการประกาศอุทยานฯ เช่นกัน เนื่องจากชุมชนดูแลรักษาจนสมบูรณ์ การประกาศอุทยานฯ โดยอ้างว่าเป็นป่าของคนทั้งประเทศนั้น จึงไม่เป็นธรรมกับชุมชน เนื่องจากที่ผ่านมามีพื้นที่ที่ถูกทำลายจนเหลือป่าน้อยเต็มไปหมด ควรนำงบประมาณภาษีไปฟื้นฟูพื้นที่เหล่านั้น แทนที่จะมาประกาศอุทยานฯ ทับที่ชาวบ้าน

ศิระ  พงศ์วานิช ผู้ใหญ่บ้าน บ้านทรายมูล จ.เชียงใหม่

ส่วน ศิระ พงศ์วานิช ผู้ใหญ่บ้าน บ้านทรายมูล หมู่ที่ 5 ต.สะเมิงใต้ หนึ่งในขุมชนที่จะได้รับผลกระทบ ย้ำว่ากระบวนการเตรียมการประกาศอุทยานฯ ที่ผ่านมามีปัญหา เนื่องจากตนได้ขอแผนที่จากอุทยานฯ มานานแล้วแต่เพิ่งได้เห็นแผนที่ครั้งแรกในวันนี้ที่ต้องเข้าร่วมเวทีรับฟังความเห็นพอดี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่ชัดเจนของอุทยานฯ จากการดูแผนที่พบว่าจะกระทบกับชุมชนอย่างมาก และยืนยันไม่เห็นด้วยกับการประกาศอุทยานฯ ออบขานทับพื้นที่ชุมชนที่ดูแลรักษาป่า

“อยากให้เจ้าหน้าที่มองชาวบ้านเป็นผู้รักษาป่า อย่ามองชาวบ้านเป็นผู้บุกรุก แล้วคิดว่าเจ้าหน้าที่คือผู้พิทักษ์ ถ้ามองเราเป็นผู้บุกรุก เราก็อยู่ในบทผู้ร้าย แต่ถ้ามองเราเป็นผู้รักษาป่า เราจะทำงานร่วมกันได้ เจ้าหน้าที่มีแค่ไม่ถึง 20 คน แต่หากให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการดูแลป่า จะมีกำลังเพิ่มอีกเป็นพันคน “ 

ศิระ  พงศ์วานิช ผู้ใหญ่บ้าน บ้านทรายมูล จ.เชียงใหม่

อุทยานฯ-พีมูฟ เห็นต่าง ประกาศอุทยานฯ เพื่อคนทั้งประเทศ 

นิภาพร ไพศาล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติออบขาน (เตรียมการ) ชี้แจงว่า ที่ผ่านมาได้มีกลไกระดับอำเภอในการแก้ปัญหาร่วมกับชุมชน แต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้แล้วเสร็จ อย่างไรก็ตามตนได้รับมอบหมายจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้มาดำเนินการสำรวจแนวเขตและจัดทำข้อเสนอไปยังกรมฯ โดยย้ำว่าการประกาศอุทยานฯ ออบขานจะเป็นประโยชน์ต่อคนไทย เป็นต้นน้ำลำธาร เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ สร้างรายได้ให้ประเทศนี้ เงินรายได้ก็สามารถโอนไปให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นได้ 5 เปอร์เซ็นต์ พี่น้องประชาชนได้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม อย่างไรก็ตามก็ยอมรับว่าจะมีผลกระทบกับชุมชน

“เราต่างทราบว่าการประกาศอุทยานฯ นั้นต้องมีผลกระทบ แต่โดยความตั้งใจของหัวหน้า อุทยานแห่งชาติออบขานมองว่าพื้นที่ทั้งหมด 141,000 ไร่ ไม่มีพื้นที่ทำกินของประชาชนอยู่แล้ว เรากันออกหมดแล้ว มันเตรียมประกาศมาตั้งแต่ปี 2532 ตอนนี้เรากันออกหมดแล้ว ยังมีป่าอุดมสมบูรณ์อีกเยอะแยะที่พี่น้องก็ยังใช้ประโยชน์ได้” 

นิภาพร ไพศาล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติออบขาน (เตรียมการ)

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติออบขาน (เตรียมการ) ยังย้ำ ว่าการรับฟังความเห็นในวันนี้ ถึงจะสำรวจออกมาแล้วว่ามีป่าสมบูรณ์อย่างไร มีคุณค่าต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรอย่างไร มีคุณค่าต่อประเทศนี้อย่างไร แต่ความคิดเห็นของประชาชนก็ยังสำคัญ จึงขอยืนยันว่าจะนำเสนอทุกประเด็นไปยังผู้บังคับบัญชา คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติและอธิบดีต่อไป

ด้าน วิศรุต ศรีจันทร์ ผู้แทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ก็ได้ยืนยันว่ามีข้อจำกัดด้านกฎหมายที่กระทบกับชุมชนอยู่มาก กล่าวคือ  พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ประกาศใช้ไปแล้ว มีมาตรา 64 และ 65 อนุญาตให้ทำกินและใช้ประโยชน์จากป่า แต่กฎหมายว่าสามารถใช้ได้แค่อุทยานฯ ที่ประกาศไปแล้ว เราก็อยากจะถามว่าแล้วมีอะไรรับรองชาวบ้าน เพราะอุทยานฯ ออบขานกำลังประกาศหลังปี 2562

พีมูฟยังย้ำว่า ที่จริงชาวบ้านแม่ลานคำและป่าคา มีกลไกร่วมกับรัฐบาลอยู่ตามกลไกพีมูฟ มันเห็นมิติของคนพิธีกรรม วัว ควาย สมุนไพร มีเหตุผลทั้งหมดในการกัน แต่ไม่มีการนำเสนอในเวทีนี้เลย ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียใจมาก ว่าอุทยานฯ เสนอได้แค่นี้

“ชาวบ้านที่นี่ต่อสู้มา 30 ปี ไม่ใช่แค่หัวหน้าอุทยานฯ คนนั้น ชาวบ้านไม่ได้อยู่นิ่ง เขามีการต่อสู้ เขามีข้อเสนอมาต่อเนื่อง แต่จากการนำเสนอวันนี้ อุทยานฯ ไม่นำเสนอในมุมการแก้ปัญหาตามกลไกรัฐบาลเลย”

วิศรุต ศรีจันทร์ ผู้แทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ)

สกน. ยื่นหนังสือถึง 3 หน่วยงาน พร้อมแถลงย้ำ คัดค้านการประกาศอุทยานฯ ออบขานทับที่ชุมชน 

ตัวแทนชาวบ้านหมู่ที่ 6 และหมู่ที่ 11 ต.สะเมิงใต้ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ได้ยื่นหนังสือถึง 3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เชียงใหม่ ยืนยันว่าชุมชนจะได้รับผลกระทบจากการประกาศอุทยานฯ เรื่องวิถีการทำไร่หมุนเวียนและการใช้ประโยชน์จากป่า และยืนยันข้อเรียกร้องให้กันพื้นที่ป่าจิตวิญญาณ 24,513 ไร่ ออกจากการประกาศอุทยานฯ ออบขาน

หลังจากนั้น นันทวัฒน์ เที่ยงตรงสกุล ผู้ใหญ่บ้าน แม่ลานคำ หมู่ที่ 6 ต.สะเมิงใต้ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ได้อ่านแถลงการณ์สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) คัดค้านการประกาศอุทยานฯ ออบขานทับป่าจิตวิญญาณของชุมชน 

โดยระบุว่า ชาวบ้านแม่ลานคำและป่าคา ได้เรียกร้องให้อุทยานแห่งชาติออบขานกันแนวเขตพื้นที่จำนวน 24,513 ไร่ ออกจากการเตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติออบขาน เนื่องจากเห็นว่ากฎหมายป่าอนุรักษ์สร้างข้อจำกัดและความเปราะบางให้กับสิทธิชุมชนในพื้นที่ป่า ไม่ต่างจากการบีบบังคับไล่ชุมชนดั้งเดิมออกจากป่าบั่นทอนวิถีชีวิตวัฒนธรรมดั่งเดิมของชุมชนหายไป

​“ เราขอประกาศต่อสาธารณะว่า พวกเราชาวปกาเกอะญอชุมชนบ้านแม่ลานคำและบ้านป่าคา ต่างได้พิสูจน์ต่อสังคมอย่างชัดแจ้งว่าเป็นผู้ปกป้องสมดุลแห่งการใช้ประโยชน์ ดูแลและรักษาอย่างเกื้อกูลป่าจนมีอุดมความสมบูรณ์มาจนถึงปัจจุบัน ทั้งการทำแนวกันไฟ จัดการไฟป่าและหมอกควัน การจัดการพื้นที่ต้นน้ำให้ยังคงมีความชุ่มชื้น ลดปัญหาการพังทลายของหน้าดิน จนเป็นแหล่งพื้นที่ต้นน้ำที่สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่และของประเทศไทย ซึ่งทั้งหมดนี้พวกเราดูแลจัดการมาตั้งแต่บรรพบุรุษไม่ต่ำกว่า 4 ชั่วอายุคน แม้กระทั่งผ่านช่วงระยะเวลาที่พื้นที่ของเราถูกนำไปทำสัมปทานป่าไม้โดยรัฐและเอกชน เราก็ยังคัดค้าน และฟื้นฟูจนกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้งด้วยตัวของชุมชนเอง ”

แถลงการณ์ระบุ

พร้อมย้ำว่า ชุมชนขอยืนยัน ไม่เห็นด้วยกับการเตรียมประกาศอุทานแห่งชาติออบขาน ทับในพื้นที่ชุมชน และขอให้กันพื้นที่ชุมชน ออกจากการเตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติออบขาน จำนวนพื้นที่ 24,513 ไร่ และให้บันทึกข้อเสนอของชุมชนในรายงานผลการรับฟังความคิดเห็นตามข้อเท็จจริงและจัดส่งสรุปรายงานผลการรับฟังความคิดเห็นให้ชุมชนเพื่อตรวจสอบต่อไป

อดีตกรรมการสิทธิฯ ชี้ การอนุรักษ์และจัดการทรัพยากร ไม่จำเป็นต้องใช้แค่รูปแบบการประกาศเขตอุทยานควรให้สิทธิชุมชนชาวบ้านที่รักษาป่ามาก่อนมีส่วนร่วม

เตือนใจ  ดีเทศน์ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

เตือนใจ  ดีเทศน์ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์รับฟังการแสดงความเห็นครั้งนี้โดยเห็นว่าเสียงสะท้อนของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเป็นสิ่งสำคัญที่รัฐต้องให้น้ำหนักในการรับฟัง ที่สำคัญเห็นว่าการอนุรักษ์ทรัพยากร หรือการรักษาป่า ไม่จำเป็นต้องใช้แค่รูปแบบการประกาศเขตอุทยาน หากต้องการเพิ่มพื้นที่ป่าหรือรักษาป่า ชุมชนก็มีบทบาทสำคัญอย่างมาก 

“อย่างกรณีของบ้านสบลาน บ้านแม่ลานคำ โซนนี้ชาวบ้านเขารักษาป่า ด้วยรูปแบบป่าชุมชน มีวิถีของการเคารพธรรมชาติ  ทำให้ผืนป่าที่นี่มีความสมบูรณ์มาก จนได้รับรางวัล ลูกโลกสีเขียว ประเภทชุมชนปกป้องรักษาป่า เมื่อปี 2560 ส่วนปีนี้ ก็ถูกเสนอรางวัล 5 ปีแห่งความยั่งยืน สิปปนนท์ เกตุทัต ที่สำคัญชาวบ้านที่นี่มีข้อตกลงไม่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว“

แต่หากมีการประกาศเขตอุทยานทับพื้นที่ชาวบ้านไม่สามารถดำเนินวิถีชีวิตที่ควบคู่กับการรักษาทรัพยากรได้เช่นเดิม ถูกบีบให้ทำไร่ หรือการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ต้นน้ำก็จะมีสารเคมี ป่าก็จะลดลง กลายเป็นปัญหาต่อชุมชนที่อยู่ด้านล่าง ดังนั้นเมื่อชาวบ้านที่นี่อยู่มาก่อนและช่วยรักษาทรัพยากรได้อย่างสมบูรณ์ ก็ควรที่จะมีสิทธิส่วนร่วมในการดูแลจัดการทรัพยากรในพื้นที่

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active