เหตุเข้าใจนโยบาย “ชัชชาติ” ไม่ตรงกัน หลังพบรายงาน พาตัวคนไร้บ้านออกจากพื้นที่ถี่ขึ้น “มูลนิธิอิสรชน” สะท้อน กทม.ต้องเร่งสื่อสารสำนักงานเขต ก่อนเปิดบ้านอิ่มใจ
นโยบายแก้ปัญหาคนไร้บ้าน กทม. ในมือของผู้บริหารชุด “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” นอกจากประสานความร่วมมือหน่วยงาน และภาคีเครือข่ายเพื่อสานต่อโครงการที่มีอยู่เดิมแล้ว ยังมีเรื่องเร่งด่วนคือการหาบ้าน จ้างงาน เพื่อลดจำนวนคนไร้บ้านที่คาดว่ามีสูงถึง 4,000 คน
The Active สอบถามสถานการณ์ล่าสุดกับ อัจฉรา สรวารี เลขาธิการ มูลนิธิอิสรชน กล่าวว่า ปัจจุบันทราบว่า โครงการที่พักอาศัยคนละครึ่ง โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สามารถขจัดสถานะความเป็นคนไร้บ้านได้กว่า 40 คน และโครงการจ้างวานข้า โดยมูลนิธิกระจกเงาทำให้คนไร้บ้านสามารถมีรายได้เช่าบ้านราคาถูกได้อีกจำนวนหนึ่ง
แต่ที่น่าห่วง คือจำนวนของคนไร้บ้านในที่สาธารณะที่เป็นผู้สูงอายุ มีปัญหาด้านสุขภาพกาย จิต ติดสุราเรื้อรัง ยังไม่สามารถเข้าร่วมโครงการต่างๆ ที่ว่ามาได้ เวลานี้ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้รับแจ้งเพื่อนำพาตัวคนไร้บ้านออกจากพื้นที่เพิ่มขึ้น ซึ่งน่าเป็นห่วงว่าในกลุ่มนี้จะถูกนำไปดูแล รักษา และเยียวยาเพื่อไม่ให้กลับมาเป็นคนไร้บ้านได้อีกหรือไม่
อัจฉรา กล่าวระหว่างลงพื้นที่ย่านราชดำเนิน และถนนเยาวราช ว่า มีคนไร้บ้านหลายคนหายไปจากพื้นที่หนึ่งก่อนจะไปพบอยู่อีกเขตหนึ่ง โดยเฉพาะในช่วงที่มีการสัญจรของผู้ว่าฯ กทม. เธอไม่แน่ใจว่ามีความเกี่ยวข้องกันหรือไม่ หากจริงก็ถือว่าเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของผู้ปฏิบัติ ตามความตั้งใจของ ชัชชาติ ในการแก้ปัญหาคนไร้บ้านใน กทม.
“เราจำได้ตอนที่คุณชัชชาติ ชนะเลือกตั้งใหม่ ๆ เขาประกาศว่าผมไม่ได้มาแก้ไขทั้งหมด เรามาเป็นเพื่อนกันร่วมแก้ปัญหาไปด้วยกัน เราดีใจมากเพราะมันตรงกับการทำงานกับมูลนิธิอิสรชน ที่มองว่าคนไร้บ้านเป็นเพื่อน แต่เวลานี้เหมือนแต่ละเขต รวมถึงประชาชนบางส่วน อาจเข้าใจอีกแบบหนึ่ง เราคิดว่านี่เป็นปัญหาในการสื่อสารที่ กทม. ต้องเร่งประชาสัมพันธ์ว่ามันต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหา”
อัจฉรา สรวารี
อัจฉรา กล่าวอีกว่า การแก้ปัญหาคนไร้บ้านด้วยการพาตัวออกจากพื้นที่ ยังอาจขัดต่อพระราชบัญญัติการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ท่ีระบุว่า การจะพาคนออกจากพื้นที่สาธารณะได้ต้องได้รับความยินยอมจากบุคคลนั้นก่อน และในกทม. ยังไม่ได้เตรียมความพร้อมของสถานที่รองรับ เช่น ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง และสถานสงเคราะห์ มีความหนาแน่น ต่อให้นโยบายของผู้ว่าฯ กทม. จะมีการฟื้นบ้านอิ่มใจ ก็ไม่เพียงพอต่อจำนวนของความต้องการแน่นอน
ขณะที่โครงการบ้านอิ่มใจ เห็นด้วยที่จะนำกลับมาปัดฝุ่นใหม่ แต่ควรเป็นรูปแบบทางเลือก หรือฉุกเฉินและเป็นรูปแบบการกระจายทั่วกทม. ส่วนอีกรูปแบบหนึ่งเสนอว่า ควรจัดโซนนิ่ง ลงทะเบียนจัดหาสถานที่สำหรับค้างคืนในที่สาธารณะ อาบน้ำ กินข้าว มีหมออาสา และที่ปรึกษาในการฟื้นฟูศักยภาพ รับสมัครงาน ซึ่งอาจจะต้องไปดูข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยในเขตกรุงเทพมหานคร ว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง โดยมูลนิธิอิสรชน ภาคีเครือข่ายจะเป็นผู้ดูแลความเรียบร้อย
“สิ่งที่เรากังวลเกี่ยวกับบ้านอิ่มใจ คือ หากกทม.ไม่เร่งสื่อสาร มันจะกลับมาเข้าแบบเดิมอีก คือ กทม.สร้างที่อยู่ให้แล้วนะคือจบ กับอีกแบบคือจะทำให้คนที่พร้อมจะทิ้งคนในบ้านเอามาไว้ที่นี่ เพราะคิดว่า นี่ไงมีบ้านรองรับคนไม่มีที่อยู่แล้ว กลายเป็นไม่ได้รับคนเร่ร่อนแต่เป็นคนไร้บ้านหน้าใหม่”
อัจฉรา สรวารี
ล่าสุดมูลนิธิอิสรชน ร่วมกับหมออาสา ลงพื้นที่สำรวจปัญหาด้านสุขภาพ และสิทธิในการรักษาพยาบาลให้กับคนไร้บ้านในกทม. พร้อมพูดคุยกับ ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. ในการแก้ปัญหาคนไร้บ้านอย่างเป็นระบบ และคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน
“ประชาชนอาจจะบอกว่า กทม. ทำงานช้าเรื่องคนไร้บ้าน ซึ่งเราอยากสื่อสารว่า เรื่องนี้ต้องอาศัยระยะเวลาต่างจากการลอกท่อ แก้ปัญหาน้ำท่วมที่เป็นการทำงานกับวัตถุ แต่นี่เรากำลังทำงานกับชีวิตคนเพื่อให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”
อัจฉรา สรวารี