โลกออนไลน์ – หลายพื้นที่ร่วมรณรงค์ ‘งดลอยกระทงลงทะเล’ หวั่นกลายเป็นขยะ ส่งผลให้ พะยูนกินเป็นอาหาร ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ขณะที่ ทช. – อส. ระดมกำลัง หาทางออกร่วมกับ จ.ภูเก็ต แก้ปัญหาพะยูนอยู่ในภาวะวิกฤต
วันนี้ (15 พ.ย. 67) เจ้าหน้าที่ประจำกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามันตอนบน จ.ภูเก็ต ได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่า พบซากพะยูนตายลอยขึ้นอืด อยู่บริเวณใกล้ท่าเทียบเรือบ้านบางโรง ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต โดยนักวิชาการและทีมอาสาสมัครการ์เดียนออฟไลฟ์ ได้ออกตามหาจนพบซากพะยูนเมื่อช่วงเย็นวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 จึงตรวจสอบ และเก็บซากพะยูนตัวดังกล่าว
เบื้องต้น ซากพะยูนยังไม่ทราบเพศ สภาพถูกตัดหัว เหลือเพียงลำตัวยาวไปถึงหาง ขึ้นอึดและเริ่มเน่าเปื่อย คาดตายมาแล้วไม่ต่ำกว่า 4-5 วัน เจ้าหน้าที่จึงช่วยกันนำซากพะยูนขึ้นรถพยาบาลสัตว์ทะเลหายากของศูนย์นำกลับไปยังกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก เพื่อผ่าพิสูจน์ว่า พะยูนตาย เพราะป่วยหรือถูกจับแล้วตัดหัวจนตาย โดยเจ้าหน้าที่ได้ลงบันทึกประจำวันไว้ที่ สภ.ถลาง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนสอบสวนว่า ใครเป็นคนตัดหัวพะยูนตัวดังกล่าว เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ซึ่งคาดว่าการตัดหัวพะยูนนั้นต้องการเขี้ยว เพื่อนำไปทำเครื่องลางของขลังตามความเชื่อ
ขณะเดียวกัน ในวันลอยกระทงปีนี้ หลายพื้นที่ออกมารณรงค์ “งดลอยกระทงลงทะเล” อย่างผู้ใช้เฟซบุ๊ก Theerasak Saksritawee โพสต์ เชิญชวนว่า “วันนี้ใครคิดจะลอยกระทงลงทะเล อยากให้ดูพะยูนตัวนี้ที่กำลังกินหญ้าทะเลอยู่กับเต่าทะเลอย่างมีความสุข แต่ความเป็นจริงแล้ว!!! ชายฝั่งตรงข้ามคือ ฝันร้ายของพวกเค้า”
“ปล. สถานที่จัดงานนี้ และหลาย ๆ สถานที่ที่มีจัดงานในไทย ล่าสุด ได้มีการสร้างสระชั่วคราว มาตั้งไว้ให้ผู้ร่วมงานได้ลอยแล้ว แต่อาจจะมีบางคนที่ยังไม่รู้ก็จะไปลอยในทะเล พบเห็นช่วยกันห้ามตักเตือน ช่วยเป็นหูเป็นตา เพื่อน้องพะยูน และ ผองเพื่อน ด้วยครับ ขอบคุณครับ”
เช่นเดียวกับหลายพื้นที่ใน จ.ภูเก็ต ก็ออกมารณรงค์งดลอยกระทงลงทะเลเช่นกัน อย่างที่เทศบาลตำบลป่าคลอก เทศบาลตําบลป่าคลอก จ.ภูเก็ต ได้มีการขอความร่วมมือให้ประชาชน “ห้ามลอยกระทงลงทะเล” เนื่องจากไม่กี่วันที่ผ่านมามีพะยูนกว่า 20 ตัว ได้อพยพมาในพื้นที่ ต.ป่าคลอก จ.ภูเก็ต และบริเวณใกล้เคียง ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือและช่วยกันส่งเสียงในโลกออนไลน์ โดยบางส่วนเสนอให้กฎหมายเพื่อควบคุมในเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พร้อมติด #งดการลอยกระทงลงทะเล
เช่นเดียวกับ เทศบาลเมืองป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต ได้มีการเร่งสร้างสระน้ำชั่วคราวบริเวณชายหาดป่าตอง แทนการลอยกระทงลงทะเล เพื่อลดปัญหาขยะจากการนำกระทงไปลอยในทะเล สร้างผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและสัตว์น้ำ นอกจากนี้ ทางเทศบาลตำบลกะรน, เทศบาลตำบลราไวย์ ก็ร่วมกันรณงค์ห้ามลอยกระทงลงทะเลเช่นกัน
นอกจากนั้นความเห็นในโลกออนไลน์ ยังมีข้อเสนอให้ออกกฎหมายควบคุมการลอยกระทงลงทะเลด้วย
วางมาตรการเข้มดูแล แก้ปัญหาวิกฤตพะยูน
ขณะที่สถานการณ์วิกฤตพะยูนในเวลานี้ ทำให้ก่อนหน้านี้ เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ระบุถึงสถานการณ์ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบให้พะยูนขาดแคลนอาหาร พบพะยูนที่มีลักษณะผอมมากกว่าปกติ ซึ่งเกิดจากหญ้าทะเลเสื่อมโทรม ทำให้พะยูนมีอาหารไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องอพยพไปยังพื้นที่ใหม่ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกยตื้นเพิ่มขึ้น และอาจต้องเผชิญกับอันตรายต่อชีวิตของพะยูนได้ตลอดเวลา เนื่องจากพื้นที่ใหม่ ๆ มีกิจกรรมทางน้ำ การเดินเรือ มีการทำประมง ซึ่งประชาชนมีการดำเนินกิจกรรมเป็นปกติ โดยไม่รู้ว่ามีการเคลื่อนย้ายของพะยูนเข้ามาในพื้นที่ จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายได้
รมว.ทส. จึงมอบหมายให้ จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานประชุมระดมความคิดเห็นในการกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาวิกฤตพะยูนเกยตื้นให้เป็นรูปธรรม ร่วมกับ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) ตลอดจนกำหนดแผนงานในระยะเร่งด่วนที่จะเพิ่มอาหารให้กับพะยูนในธรรมชาติ และดูแลพะยูนที่ผอมเป็นพิเศษ ด้วยการเพิ่มอาหารให้กับพะยูน คือ การปลูกหญ้าบนบกแล้วนำมาเป็นอาหารให้พะยูน การสั่งซื้อหญ้าทะเลเข้ามาเสริม และการกั้นเขตแหล่งหญ้าทะเลธรรมชาติเพื่อให้หญ้าทะเลสามารถเจริญเติบโตได้เร็วขึ้น พร้อมสั่งการให้ ทช. และ อส. ลงพื้นที่เป็นการเร่งด่วน เพื่อประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต สื่อสารทำความเข้าใจ ให้ความรู้เกี่ยวกับพะยูนแก่ชาวบ้านและหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อสร้างความร่วมมือกันในการดูแลรักษาแหล่งหญ้าทะเลให้กับพะยูน อีกทั้งติดตามความคืบหน้าและดำเนินการแก้ไขปัญหาพะยูนและหญ้าทะเลเสื่อมโทรม ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตต่อไป
ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่า การทำงานร่วมกันกับหลายหน่วยงาน มีข้อสรุปใน 4 มาตรการ คือ
- สำรวจให้รู้ว่าพะยูนเคลื่อนย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยมาจากที่ไหนบ้าง
- ต้องดูแลประเมินสุขภาพพะยูน โดยมีสัตวแพทย์ช่วยดูแล
- หลังทราบข้อมูลว่าพะยูนขาดอาหาร จึงจำเป็นต้องทำอาหารเสริม เพื่อไม่ให้พะยูนตายจากการขาดอาหาร
- ต้องเร่งฟื้นฟูแหล่งอาหารตามธรรมชาติ แหล่งหญ้าทะเล เพื่อไม่ให้พะยูนต้องย้ายถิ่นที่อยู่ นำไปสู่ความเสี่ยงต่าง ๆ
“เมื่อมีข้อสั่งการมาแล้ว ทุกหน่วยงานต้องทำงานร่วมกับพื้นที่ ชุมชน ต้องกำหนดมาตรการ เพื่อลดปัญหาทั้งผลกระทบต่อถิ่นที่อยู่ของพะยูน เช่น การประมง การท่องเที่ยว”
ปิ่นสักก์ สุรัสวดี
อธิบดี ทช. ยอมรับว่า ตอนนี้พะยูนเข้าสู่ภาวะวิกฤตที่สุด อย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน พะยูนในไทยเป็นสัตว์หายาก มีไม่ถึง 300 ตัว จึงจัดเป็นสัตว์สงวนฯ ที่ตรัง และกระบี่ มีอยู่ 100 กว่าตัว แต่หญ้าทะเลเสื่อมลง เหลือแค่ไม่ถึง 5% ทำให้พบว่า มีพะยูนเหลืออยู่แค่ไม่ถึง 10% ก็แปลว่าพะยูนต้องอพยพย้ายถิ่นไปหาอาหาร เพิ่มความเสี่ยงอย่างมาก
เร่งสำรวจฟื้นแหล่งหญ้าทะเล – ทำคอกอนุบาลลูกพะยูน
ขณะที่ อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เสริมว่า ในเขตพื้นที่อนุรักษ์ จ.ตรัง ไม่ว่าจะเป็นอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม, เขตห้ามล่าสัตว์ป่าลิบง ซึ่งจากเดิมเป็นพื้นที่แหล่งหญ้าทะเลที่อุดมสมบูรณ์ จากการสำรวจพบว่า หายไปกว่า 20,000 ไร่ ซึ่งมากกว่า 50% พื้นที่ที่เป็นแหล่งของการเกิด การอยู่อาศัย การเกิดขึ้นของหญ้าทะเลก็ลดลง จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวล และเป็นส่วนหนึ่งที่มองว่าจะทำอย่างไรให้หญ้าทะเลกลับคืนมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง
สำหรับเรื่องเร่งด่วนที่กรมอุทยานฯ ได้รับมอบหมายจาก รมว.ทส. คือ กรมอุทยานฯ จะนำเงินรายได้ของกรมฯ มาจัดทำคอกอนุบาลพะยูนก่อน ตามที่อธิบดีกรม ทช. ได้กำหนดพื้นที่ควบคุม เร่งอนุบาลพะยูนที่สุขภาพไม่แข็งแรง และเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดภัยคุกคาม พร้อมทั้งจะเร่งจัดทำแผนงบประมาณโดยจะขอสนับสนุนจากงบประมาณกลางของรัฐบาล เพื่อนำมาสร้างศูนย์ฟื้นฟู ศูนย์เพาะเลี้ยงหญ้าทะเล งานวิจัย และการลาดตระเวนเฝ้าระวังที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองพะยูนทุกมาตรการ ถ้าทุกฝ่ายเร่งดำเนินการ เชื่อมั่นว่าในอนาคตพะยูนจะกลับมามากขึ้นเหมือนเดิม ทั้งนี้ ในส่วนของการทำคอกให้พะยูน ได้มีการหารือร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว โดยจะเลือกบริเวณหาดราไวย์ และหาดบางขวัญ, ป่าคลอก รวมทั้งจะมีการดำเนินการในพื้นที่อื่น ๆ ด้วย โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่อ่าวพังงาเป็นพื้นที่แหล่งพะยูนได้มีการอพยพมาด้วย