กสม. ชวนมอง ‘แลนด์บริดจ์’ กับผลกระทบมิติด้านสิทธิมนุษยชน

ชี้โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ ต้องไม่ลืมคำนึงถึงสิทธิด้านทรัพยากร ที่อยู่อาศัย ทำกิน สิทธิชุมชน พร้อมถามหาความรับผิดชอบว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษชน กำหนดมาตรการเยียวยาเป็นธรรม หวังรัฐนำข้อกังวล ไปสู่การพิจารณาอย่างระมัดระวัง   

วันนี้ (15 พ.ค. 67) ศยามล ไกยูรวงศ์ และ ปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวปิดเวทีการนำเสนอความคิดเห็นทางวิชาการ เรื่อง “มองรอบด้านกับโครงการแลนด์บริดจ์” โดยระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2561 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ มีแนวนโยบายรวมถึงการดำเนินการเพื่อดำเนิน “โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้” หรือ Southern Economic Corridor: SEC ในพื้นที่ จ.ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช โดยจะมี “โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน” หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “โครงการแลนด์บริดจ์” เกิดขึ้นที่ จ.ชุมพร และ ระนอง เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้

โดยโครงการแลนด์บริดจ์ ประกอบไปด้วย ท่าเรือ เส้นทางรถไฟทางคู่ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (motorway) ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานเส้นทางใหม่ที่มีขนาดใหญ่ครอบคลุมพื้นที่หลายตำบลและหลายอำเภอของ จ.ชุมพร และระนอง

กสม. เห็นว่า โครงการแลนด์บริดจ์ อาจส่งผลกระทบต่อสิทธิในสิ่งแวดล้อม สิทธิชุมชน และสิทธิมนุษยชนในมิติต่าง ๆ ดังนี้

  1. สิทธิชุมชนในการจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างท่าเรือ ทางรถไฟ และถนนมอเตอร์เวย์ ในพื้นที่เขตอนุรักษ์ อุทยานแห่งชาติ ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าชายเลน พื้นที่ชุ่มน้ำ ตลอดจนอาจกระทบต่อประชาชนที่ทำมาหากินหรือประกอบอาชีพโดยพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ดังกล่าว

  2. สิทธิในที่ดินและทรัพย์สิน ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการเวนคืนที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และพืชผล

  3. สิทธิในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการดำเนินกิจกรรมของท่าเรือ ทางรถไฟ ถนนมอเตอร์เวย์ และอุตสาหกรรมหลังท่า

  4. สิทธิของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม และกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งอาจได้รับผลกระทบต่อวิถีชีวิตดั้งเดิมจากการพัฒนาเมืองและอุตสาหกรรมที่มีความแตกต่างกับวิถีชีวิตดั้งเดิมโดยสิ้นเชิง

  5. สิทธิในสิ่งแวดล้อม ที่บุคคลและชุมชนจำเป็นต้องมีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยงานของรัฐก่อนการดำเนินโครงการ ทั้งผลดีผลเสีย ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับในทุกมิติ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต ตลอดจนขั้นตอนทางกฎหมาย มาตรการในการดำเนินการตั้งแต่กระบวนการให้อนุญาตดำเนินโครงการ  ระหว่างดำเนินการ และภายหลังการดำเนินการโครงการ รวมทั้งมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา เพื่อให้ประชาชนและชุมชนรับรู้ข้อมูลของโครงการที่เชื่อมโยงกับแผนพัฒนาภาคใต้อย่างรอบด้าน ทั้งนี้ บุคคลและชุมชนจำเป็นต้องมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในกระบวนการและขั้นตอนต่าง ๆ รวมทั้งร่วมตัดสินใจต่อแผนการดำเนินการโครงการ

  6. การพัฒนาที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยจะต้องอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเล รวมถึงการปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุน การใช้ระบบนิเวศบนบก จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน และยุติการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

  7. ความรับผิดชอบของภาคธุรกิจและภาครัฐต่อหลักสิทธิมนุษชน ตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGPs) รัฐมีหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยพิจารณามาตรการทั้งหมดที่ทำได้ในการปฏิบัติตามกฎหมายในทุกขั้นตอนบนหลักนิติธรรมและหลักธรรมาภิบาล และให้ความสำคัญต่อการกำกับดูแลให้ผู้ประกอบการธุรกิจต้องคำนึงถึงหลักป้องกันไว้ก่อน และหลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย รวมทั้งกำหนดมาตรการเยียวยาอย่างเป็นธรรม ภาคธุรกิจต้องมีความรับผิดในการเคารพหลักสิทธิมนุษยชน โดยให้ความสำคัญต่อการกำหนดเป็นแนวนโยบายและการปฏิบัติการขององค์กรในการเฝ้าระวังเรื่องสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนมีกลไกร้องทุกข์และการเยียวยา

“กสม. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความเห็นทางวิชาการเกี่ยวกับความเป็นมาและความคุ้มค่าของโครงการ ความเป็นไปได้และความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจในมิติการขนส่งและการค้าทางทะเล การก่อสร้างโครงการ (ท่าเรือ ถนน รถไฟ) ตลอดจนข้อมูลผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมต่อระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ป่าบก ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน จากนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิ จะได้รับการเผยแพร่ไปยังประชาชนและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในวงกว้าง เพื่อนำไปสู่การสร้างความตระหนักรู้ การไตร่ตรองในการดำเนินโครงการอย่างระมัดระวัง รวมทั้งการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของโครงการแลนด์บริดจ์ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาของรัฐที่สำคัญต่อไป”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active