รวมตัว ‘สตรีมุสลิม’ ชายแดนใต้ ตั้งความหวัง เป็นพลังหนุนสันติภาพ

Melayu Raya 2024 (Pemudi) เปิดพื้นที่สตรีมุสลิม รวมพลังสะท้อนอัตลักษณ์มลายูปาตานี มองโอกาสต่อยอดความคาดหวัง อนาคตสันติภาพชายแดนใต้ 

วันนี้ (14 เม.ย. 67) ที่ชายหาดวาสุกรี ต.ตะลุบัน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี กลุ่มสตรีมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ รวมตัวแต่งกายด้วยชุดมลายู เนื่องในงาน Melayu Raya 2024 (Pemudi) ซึ่งปีนี้จัดขึ้นอย่างเป็นทางการ ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 3

โดยเป้าหมายของการจัดงาน ยังคงมุ่งเน้นแสดงออกถึงอัตลักษณ์ และวิถีวัฒนธรรมมลายูปาตานี พร้อมเปิดโอกาสให้กลุ่มเครือข่ายสตรีมุสลิมทุกระดับในพื้นที่ชายแดนใต้ ได้มีพื้นที่สาธารณะในการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ไปสู่การสร้างบรรยากาศของสันติภาพ ในพื้นที่ชายแดนใต้

นอกเหนือจากการสะท้อนอัตลักษณ์มลายู สิ่งสำคัญที่เป็นเป้าหมายคือการผลักดันให้พลังของสตรีมุสลิมเข้ามามีส่วนสำคัญกับกระบวนการสร้างสันติภาพ 

นูรีซาน ดอเลาะ

นูรีซาน ดอเลาะ ประธานโครงการ Melayu Raya 2024 (Pemudi) เปิดเผยกับ The Active ว่า พลังของผู้หญิงเป็นส่วนสำคัญของความเปลี่ยนแปลง โดยวันนี้คือการรวมกลุ่มของสตรีมุสลิมในทุกระดับ ทุกวัย ทุกชนชั้นในพื้นที่ชายแดนใต้ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนเพื่อแสดงให้เห็นถึงความหลากหลาย แต่มีจุดร่วมเดียวกันคือความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์มลายูปาตานี ทั้งยังเชื่อว่าการแสดงพลังของสตรีมุสลิมจะมีส่วนสำคัญที่ทำให้สังคมได้เห็นว่า กลุ่มสตรีสามารถสร้างความหวังให้กับอนาคตสันติภาพพื้นที่ชายแดนใต้ได้เช่นกัน

“ในมุมมองทางศาสนาไม่ได้ปิดโอกาส หรือมีข้อห้ามสตรีแสดงความคิดเห็น แต่เชื่อว่าเสียงสะท้อนของกลุ่มสตรีคือพลังสำคัญที่ถูกเก็บซ่อนเอาไว้ ดังนั้นการเปิดพื้นที่ให้สตรีมุสลิมได้มีโอกาสรวมตัว สะท้อนมุมมองต่าง ๆ จะทำให้มองเห็นโอกาสที่ได้แสดงบทบาทของตัวเอง เพื่อหนุนเสริมสันติภาพในพื้นที่ให้เกิดขึ้นได้จริง” 

นูรีซาน ดอเลาะ
อารา ฮาเด

อารา ฮาเด ชาว อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี เดินทางมาร่วมงานกับลูกสาว ยอมรับว่า ตั้งตารองานนี้มาทุกปี จึงไม่เคยพลาดมาร่วมงาน เพราะว่าในสังคมมุสลิมไม่ค่อยมีพื้นที่ให้กับผู้หญิงได้แสดงออกมากนัก การมาร่วมงานครั้งนี้ จึงตั้้งใจมาเป็นส่วนหนึ่งของการเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงได้มาพบปะกัน 

“พื้นที่แบบนี้ไม่ค่อยเกิดขึ้น การมางานแบบนี้ทำให้รู้สึกภูมิใจในการยืนยันอัตลักษณ์ และวัฒนธรรมมลายู ที่สำคัญคือการได้มาเจอเพื่อนพี่น้อง จะทำให้เป็นพลังต่อการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาในอนาคต”  

อารา ฮาเด
นุรฮายาตี อีแต

นุรฮายาตี อีแต เยาวชนมุสลิม จาก อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา บอกว่า มางานนี้เป็นครั้งแรก รู้สึกตื่นเต้น และภาคภูมิใจในการแสดงออกเพื่อสะท้อนอัตลักษณ์ ความเป็นตัวตนของมลายูมุสลิม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่อยากให้สังคมได้เกิดความเข้าใจมากขึ้น ขณะเดียวกันการได้พบปะกับพี่น้องสตรีกลุ่มต่าง ๆ มีส่วนสำคัญทำให้เกิดการสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งสำหรับการเดินหน้าแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ รวมถึงการมองไปถึงความหวังสร้างสันติภาพในพื้นที่ด้วย

ขณะที่ นุรฮูดา มะตีเมาะ ตัวแทนสตรีมุสลิมในพื้นที่ชายแดนใต้ ยอมรับว่า การรวมตัวกันของกลุ่มสตรีเป็นสิ่งที่ควรผลักดันให้เกิดขึ้น แม้ว่าด้านหนึ่งจำเป็นต้องปฏิบัติตามกรอบศาสนา แต่การมีพื้นที่เพื่อให้ผู้หญิงได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น แสดงบทบาท ถือเป็นพลังที่จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนให้มากขึ้น 

นุรฮูดา มะตีเมาะ

“จุดเริ่มต้นเพื่อไปสู่การสร้างความเข้าใจในพื้นที่ คือต้องเปิดโอกาสรับฟังความเห็นของคนทุกเพศทุกวัยทุกกลุ่ม และทำให้การรวมตัวกันสร้างพลังไปสู่การเปลี่ยนแปลง”

นุรฮูดา มะตีเมาะ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active