นักวิชาการ เสนอเตรียมพร้อมการกระจายความเจริญไปยังพื้นที่ต่าง ๆ สนับสนุนกลุ่มอาชีพที่มีในชุมชน ชะลอปัญหาการย้ายถิ่น ลดปัญหาการกระจุกตัว ‘อาสาคืนถิ่น’ เตรียมเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยน ‘คำหล้า Come Home’ ถอดบทเรียนการกลับบ้านของคนรุ่นใหม่
จากข้อมูล สำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 มีประชากรคืนถิ่นจำนวน 1.7 ล้านคน สูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ถึง 3.7 เท่า ส่งผลให้บริบทแรงงานในสังคมและโครงสร้างเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนแปลง ภาคธุรกิจหาแรงงานยากขึ้น แรงงานจำนวนไม่น้อยตัดสินใจกลับไปอยู่บ้านอย่างถาวร
แต่ขณะเดียวกันแรงงานกลุ่มนี้ก็พบกับปัญหาในพื้นที่ ในเรื่องของการสร้างอาชีพที่ทักษะที่มีอาจไม่สามารถที่จะสร้างอาชีพในท้องถิ่นได้ ท้องถิ่นไม่มีศักยภาพในการรองรับการกลับไปของคลื่นแรงงานจำนวนมาก ถึงอย่างนั้น กระแสการกลับบ้านของคนต่างจังหวัดยังคงมีอยู่ เรื่อย ๆ โดยหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญ คือเรื่องของค่าของชีพหลังจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากการระบาดของ โควิด-19 ที่สูงขึ้น
นราธิป ใจเด็จ ผู้ประสานงานโครงการอาสาคืนถิ่น มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม เคยให้สัมภาษณ์กับ The Active ว่า ความเป็นชุมชนยังมีปัญหาคลาสสิกเยอะ อาทิ เรื่องของระบบการศึกษา ค่านิยมแล้วคิดของผู้ใหญ่ เช่น การเรียนจบสูงต้องเป็นเจ้าคนนายคน ซึ่งแก้ยาก หากจะไปเปลี่ยนจริง อาจจะเกิดความขัดแย้ง จึงจำเป็นต้องมีคนที่อยู่ตรงกลางที่คอยสื่อสารหรือทำงานระหว่างเจนเนอเรชันด้วย
“กระบวนการที่ทำให้คนเหล่านี้ มาเจอกันจะเกิดการสร้างเครือข่ายสร้างพื้นที่ชีวิตให้คนเหล่านี้ได้แบ่งปันได้แชร์ความรู้และเติบโตไปด้วยกัน ผ่านการที่เขาอยากจะสร้างการเปลี่ยนแปลงในชุมชน หรือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ที่แม้จะพูดมาหลายปีก็ยังไม่หายสักที”
ล่าสุด อาสาคืนถิ่น เผยแพร่คลิปสัมภาษณ์ สุดา จ๋อมหล้า อาสาคืนถิ่นรุ่นที่ 5 ชุมชนบ้านก่อก๋วง อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน เผยว่ากลับบ้านไม่ใช่ใช่ “Romanticize” แต่คือความจำเป็น ส่วนมากคนกลับมาทำเกษตร กลับมาดูแลคนในครอบครัว การกลับบ้านต้องวางแผนว่ากลับมาทำไมเป็นสิ่งที่ต้องคิดหนัก
“เวลาไปทำงานกรุงเทพฯ คนมันจะถามว่าทำไมไม่อยู่บ้านนอก ถ้าฉันมีเงินฉันไม่เข้ามาในกรุงฯ หรอกฉันก็จะอยู่บ้านนอกของฉันนี่แหละ ถ้าฉันมีเงินเก็บ มันไม่ได้โรแมนติกอย่างที่คิด ผักไม่ได้ปลูกแล้วได้ผลภายในวันสองวัน ไก่ไม่ได้เลี้ยงแล้วโตภายในวันสองวันแล้วไข่ได้ ทุกอย่างมันใช้ระยะเวลาที่นานในระหว่างนั้นเราจะ กินอะไรมันคือภาระครอบครัว”
อย่างไรก็ตาม แนวทางการแก้ปัญหาคนย้ายถิ่น เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ควรทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในพื้นที่ของเขา การกระจายความเจริญไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ตามความเหมาะสม รวมถึงสนับสนุนกลุ่มอาชีพที่มีในชุมชน จะสามารถชะลอปัญหาการย้ายถิ่น และเป็นการลดปัญหาการกระจุกตัวของความเจริญ ด้านหนึ่งยังเป็นการสนับสนุน การใช้ทรัพยากรในชุมชนอย่างคุ้มค่า และพัฒนาชุมชนด้วยคนของชุมชน การพัฒนาก็จะเป็นไปอย่างมั่นคง
ทั้งนี้ เครือข่ายอาสาคืนถิ่น กำลังจะจัดเทศกาลกลับบ้านของคนรุ่นใหม่ รุ่นที่ 6 ใช้ชื่อว่า คำหล้า “Come Home” เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยน ถอดบทเรียนการกลับบ้านของคนรุ่นใหม่ การปรับตัวปรับวิธีคิดรวมถึง วิธีการตั้งรับกับโครงสร้างชุมชนในชนบทของแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะจัดขึ้น ในวันที่ 24 มิ.ย.66 ตั้งแต่เวลา 15.00 – 22.00 น. ที่ถนนคนเดินเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี
โดยภายในงานมีกิจกรรม
– วงเสวนาจากบทเรียนอาสาคืนถิ่น
– วงดนตรีอัตลักษณ์ท้องถิ่น
– Photo Exhibition
– การแสดงท้องถิ่น
– Return Homaland Market
– Workshop
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง