เล็งดันร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ เข้าสภาฯ ทันวันเด็ก ปี 68

‘พรรคประชาชน’ เตรียมเดินสาย ฟังความเห็น ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ เน้นปฏิรูปการเรียนรู้ให้ทันโลก ประกันสิทธิผู้เรียนเข้าถึงคุณภาพ ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ปฏิรูปงบฯ เพื่อประโยชน์ผู้เรียน

วันนี้ (30 ต.ค. 67) พริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคประชาชน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดทำ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ โดยเน้นให้การศึกษากลายเป็นรากฐานสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตและความเสมอภาคในสังคม พร้อมทั้งเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ผ่านการสร้างการเรียนรู้ที่ทันสมัย สอดคล้องกับความต้องการปัจจุบันของประเทศ

พริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคประชาชน

ตลอดปีที่ผ่านมา พรรคประชาชนผลักดันร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ผ่านการพัฒนาคู่ขนานทั้งภายในพรรคและการทำงานร่วมกับพรรคการเมืองอื่น ผ่านกลไกของคณะกรรมาธิการการศึกษา เพื่อจัดทำ “ร่างฉบับกลาง” ที่สอดคล้องกับความคิดเห็นของหลากหลายฝ่าย โดยมีทั้งประเด็นที่เห็นตรงกัน เช่น การส่งเสริมการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต, การเน้นทักษะที่ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน และ การกระจาย อำนาจด้านการศึกษาสู่ท้องถิ่น รวมถึงประเด็นที่ยังต้องหาข้อสรุปเพิ่มเติม

พริษฐ์ บอกอีกว่า สำหรับร่างฯ ของพรรคประชาชน จะใช้เวลาช่วงปิดสมัยประชุมนี้ (31 ต.ค. – 11 ธ.ค.67) นำร่าง พ.ร.บ. การศึกษา ฉบับพรรคก้าวไกล-พรรคประชาชน ไปเดินสายรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา นักเรียน ผู้ปกครอง ครูและบุคลากรทางการศึกษา ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างรอบด้าน วางหลักการศึกษาและการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงและประโยชน์ของผู้เรียนอย่างแท้จริง ก่อนจะยื่นอย่างเป็นทางการเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรเมื่อสภาฯ กลับมาเปิดสมัยประชุม โดยมีหลักการสำคัญ 12 ข้อ ดังนี้

  1. รับประกันสิทธิผู้เรียนในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและสวัสดิการด้านการศึกษาที่ครอบคลุม

  2. คุ้มครองสิทธิและอำนวยความสะดวกให้ผู้จัดการศึกษาที่หลากหลายอย่างเสมอภาค

  3. วางกลไกในการพัฒนาหลักสูตร-การประเมิน-การประกันคุณภาพให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง

  4. วางกลไกการประกันคุณภาพการศึกษาที่เน้นการมีส่วนร่วมและกลไกรับผิดรับชอบ

  5. ยกระดับประสิทธิภาพในการทำงานของครูและบุคลากรทางการศึกษา

  6. กระตุ้นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา

  7. สร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยในสถานศึกษา

  8. ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับคนทุกช่วงวัย

  9. ออกแบบโครงสร้างของหน่วยงานด้านการศึกษาให้ทำงานได้อย่างบูรณาการและคล่องตัว

  10. สนับสนุนการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและสถานศึกษา

  11. เพิ่มการมีส่วนร่วมของนักเรียนทุกภาคส่วนในการจัดการศึกษา

  12. ปฎิรูปการจัดสรรงบประมาณให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้เรียน

“ร่างฯ ทั้งหมดเสร็จสมบูรณ์แล้ว ผ่านกระบวนการกลั่นกรองภายในแล้ว แต่เราก็จะใช้จังหวะช่วงปิดสมัยประชุม 2 เดือนข้างหน้า ในการจัดกิจกรรมเดินสายฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนเกี่ยวข้อง แล้วเราก็เชื่อมั่นว่า เมื่อรัฐสภาเปิดกลับมาช่วงกลางธันวาคม เราก็จะสามารถยื่นร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ของพรรคประชาชน เข้าสู่การพิจารณาทันวันเด็กปีหน้า”

พริษฐ์ วัชรสินธุ

เตรียมประกบคู่ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับของ กมธ.การศึกษาฯ

ทั้งนี้เมื่อเดือนกันยายน ที่ผ่านมา มีความคืบหน้าการร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ ในกลไกของคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร ทาง กมธ. ได้ลงพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนกว่า 10,000 คน เป็นระยะเวลาหนึ่งปี โดยมีคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ภายใต้การนำของ โสภณ ซารัมย์ ร่วมกับภาคการศึกษาและภาคประชาสังคมเพื่อหวังสร้างร่างกฎหมายที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน

โสภณ ซารัมย์

สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มุ่งไปที่ “การปฏิวัติการศึกษา” ผ่าน 3 หลักการหลัก ได้แก่

  • ความทั่วถึง: สร้างโอกาสการเข้าถึงการศึกษาให้ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นชุมชนห่างไกลหรือชนบท

  • ความเท่าเทียม: ส่งเสริมให้ผู้เรียนทุกคนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพเท่ากัน ทั้งในระดับพื้นฐานและสายอาชีพ

  • ความทันยุค: สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีในการศึกษาและส่งเสริมทักษะที่สอดคล้องกับยุคดิจิทัลไปพร้อมกับการรักษาความเป็นไทย

นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ.ยังออกแบบการศึกษาทั้งในระบบและตามอัธยาศัย พร้อมทั้งปรับการถ่ายโอนภารกิจระดับปฐมวัยสู่การดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งจะมีบทบาทเป็น “พ่อคนที่สอง” ในการดูแลการศึกษาระดับปฐมวัยในพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งกลุ่มโรงเรียนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร และสนับสนุนการศึกษาระบบทวิภาคี เพื่อให้ผู้เรียนมีโอกาสเรียนรู้และฝึกฝนทักษะจริงในสถานประกอบการ

“เราไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ความหมายก็คือ ไม่ว่าอยู่บนดอย หรือที่ไหน ต้องจัด (การศึกษา) ให้ทั่วถึงเท่าเทียม ทั้งคุณภาพ ทั้งปริมาณ ทันยุค ก็คือเทคโนโลยีกับความเป็นไทยต้องสมดุลกัน คอนเซ็ปต์ของประเทศมันมี แค่ทำยังไงเราจะพัฒนาเยาวชนของเราให้เป็นมันสมองของประเทศแล้วส่งออกได้”

โสภณ ซารัมย์

โสภณ ยังกล่าวถึง ความร่วมมือทางการเมือง ในการผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยได้รับการสนับสนุนจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงพรรคภูมิใจไทย ที่ดูแล กระทรวงศึกษาธิการ อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายค้าน เพื่อให้การผ่านร่างกฎหมายเกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด ผ่านกระบวนการยื่นเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร และตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณารายละเอียดต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active