Meta เผย ซีรีย์เว็บตูน ตัวช่วยกระตุ้นองค์ความรู้เกี่ยวความเป็นส่วนตัว ปกป้องข้อมูล ในออนไลน์ ขณะที่ รองผู้ว่าฯ ศานนท์ ย้ำ เด็กไม่ได้อยู่แค่ออฟไลน์ การสร้างความปลอดภัยท่องโลกออนไลน์จึงสำคัญ
เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 67 ที่สำนักงาน Facebook ประเทศไทย โดย Meta Platforms Inc. เปิดตัว ซีรีย์เว็บตูน และกิจกรรมโต้ตอบสำหรับวัยรุ่น เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับความเป็น ส่วนตัว การปกป้องข้อมูล และการโต้ตอบออนไลน์ที่เหมาะสมกับเยาวชน พร้อมทั้งส่งเสริมความเป็นพลเมืองดิจิทัล และความปลอดภัยออนไลน์ในเด็กและวัยรุ่น
เว็บตูน คือ รูปแบบกิจกรรมโต้ตอบ เพื่อที่ผู้อ่านจะได้สามารถทบทวนความรู้ด้านความปลอดภัยออนไลน์ได้ โดยเครื่องมือเหล่านี้ยังได้รับการแปลเป็นภาษาไทย
ยิ่งยศ ลีชัยอนันต์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะ Facebook ประเทศไทย บอกว่า หนึ่งในหลักการสําคัญ คือ การทําให้แพลตฟอร์มเป็นพื้นที่ปลอดภัยสําหรับทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการป้องกันความเสี่ยงบนแพลตฟอร์ม ซึ่งอาจจะนําไปสู่ออฟไลน์ ตนรู้สึกว่าควรเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของทุกคนที่จะทําให้มั่นใจได้ว่าเด็กและเยาวชนมีความรู้ ทักษะ ที่จําเป็นทางดิจิทัล เพื่อให้เขาได้ปลอดภัยอยู่บนโลกออนไลน์
ผู้แทน Facebook ประเทศไทย ยังมองว่า สิ่งที่จะทําผ่านเว็บตูน ไม่ใช่แค่เรื่องบันเทิง แต่จะมาสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ในสังคมได้ อีกทั้งเว็บตูนเชิงการศึกษา แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ อย่าง กทม. พันธมิตรเครือข่ายสิทธิเด็กและเยาวชน รวมถึง ภาคประชาชน
ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชวนมองในมิติของเมือง คือ เมืองไม่มีทางดีกว่าคนที่มี คนที่มีแบบไหนเมืองก็ได้แบบนั้น สิ่งที่ ผู้ว่าฯ กทม. ให้โจทย์หลัก คือ จะทําอย่างไรให้คนเก่งขึ้น เพราะเมื่อคนเก่งขึ้นเมืองก็จะเก่งขึ้น ดังนั้นหน้าที่หลักคือทําให้เมืองดี ต้องทํางานกับเด็กในวันนี้ด้วย
“เด็กไม่ได้อยู่แค่ออฟไลน์เด็กอยู่ในออนไลน์ด้วย คือ การได้มาทํางานกับ Meta ครั้งนี้ ก็เหมือนกับเป็นการดูแลเพิ่มเติมในมิติที่เด็กอาจจะอยู่บ้านก็จริง แต่จริง ๆ เขาอยู่บ้านจริงหรือไม่ เขาอยู่ในโซเชียลมีเดีย อยู่ในโลกที่อาจจะอยู่ลึกเข้าไป แล้วเราไม่ได้ดูแลเด็กได้ดีขึ้น การมีหลักสูตรที่จะช่วยปกป้อง สร้างความปลอดภัยในโลกออนไลน์ให้กับเด็กสําคัญมาก อยากให้เป็นคล้าย ๆ E-Learning ที่ทาง กทม. จะสามารถเอาไปปรับใช้กับคุณครูได้ด้วย แล้วปัจจุบันเรามีห้องคอมพิวเตอร์ทุกโรงเรียน ก็สามารถที่จะให้เด็กเข้ามาเรียนรู้ได้จริง”
ศานนท์ หวังสร้างบุญ
ในส่วนการเสวนาหัวข้อ “สุขภาวะดิจิทัลสำหรับเด็กและเยาวชน (Digital wellbeings for children and youth)” ยิ่งยศ ระบุว่า เทคโนโลยีกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา เด็กและเยาวชนในยุคนี้เติบโตมาล้อมรอบด้วยเทคโนโลยี ในขณะที่เทคโนโลยีสามารถสร้างประโยชน์ และโอกาสมากมายให้กับเรา แต่ก็สามารถสร้างความท้าทายต่อสุขภาพของเด็ก และเยาวชนได้ เช่น การกลั่นแกล้งทางออนไลน์ ก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาในโลกอินเทอร์เน็ต ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ จึงต้องพูดคุยกันเพื่อหาวิธีทําอย่างไรให้เด็ก และเยาวชน มีความเป็นอยู่ที่ดีทางดิจิทัล
นพ.วิทวัส ศิริประชัย หรือ จ่าพิชิต ขจัดพาลชน เจ้าของเพจ Drama-Addict พูดถึงการใช้โซเชียลมีเดียของเยาวชน มีทั้งแง่บวกและแง่ลบ โดยทางเพจเป็นช่องทางที่วัยรุ่นได้แสดงความเห็นทางการเมือง เพราะว่าปกติแล้วในสังคมบ้านเรา วัยรุ่นมักจะไม่ค่อยมีปากมีเสียงเรื่องนี้สักเท่าไร เพราะก็ยังมีความแตกแยกกันในทิศทางการเมือง ทําให้กลุ่มวัยรุ่นแสดงออกในโซเชียลฯ มากขึ้น
เมื่อโซเชียลฯ เข้าถึงวัยรุ่นได้มากขึ้นก็ส่งผลให้เกิดการก่ออาชญกรรมทางเพศเข้าถึงวัยรุ่นได้ง่ายขึ้น กรณีที่พบบ่อยเมื่อต้นปีที่แล้วจะเป็นเคสที่วัยรุ่นใช้โซเชียลฯ เล่นเกมออนไลน์ พวกผู้ใหญ่ที่เป็นผู้ชายมาล่อหลวงโดยการนัดเจอกัน และกระทำชำเรา ทำให้วัยรุ่นมีปัญหาโรคซึมเศร้าจนฆ่าตัวตาย
ปนันดา จันทร์สุกรี คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) บอกว่า ได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) สํารวจสุขภาวะดิจิทัล เมื่อเปรียบเทียบผลปีที่แล้วกับปีนี้ สุขภาวะดิจิทัลมี 5 มิติด้วยกัน คือ สุขภาพกาย, สุขภาพจิต, สุขภาพสังคม, ประสิทธิภาพในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และการเป็นพลเมืองดิจิทัล
จากผลสํารวจสุขภาวะสะท้อนได้ว่าทุกเจนเนอร์เรชัน มี 2 มิติที่ค่อนข้างสูงกว่า อีก 3 มิติ คือ สุขภาพสังคม กับในเรื่องของความเป็นพลเมือง ซึ่งเป็นข้อดีของการใช้บริการดิจิทัล และสื่อสังคมออนไลน์ ทําให้เรื่องของสุขภาพสังคม มีความเชื่อมโยงกับคนสังคมมากขึ้น เจอคนที่ความรู้สึกหรือความสนใจใกล้เคียงกันมากขึ้น รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ Gen Z มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุดในสิ่งนี้
อย่างที่ 2 คือในเรื่องของการเป็นพลเมืองดิจิทัล สอดคล้องกับสิ่งที่ทาง Meta ได้ทำ ในเรื่องของร่องรอยดิจิทัล หรือ Digital Footprint Gen Z ก็ดีที่สุดในช่วงวัย ดังนั้นคิดว่าค่อนข้างมาถูกทางแล้วที่ร่วมกันขับเคลื่อนเรื่องนี้
สิ่งที่อยากฝากสําหรับเด็กและเยาวชน ซึ่งอาจจะสอดคล้องกับ 3 ประเด็นของทางเว็บตูน คือ
- ต้องคิดก่อนแชร์ เพราะคอนเทนต์บางอย่างก็อยู่ในโลกออนไลน์ตลอดไป
- ความปลอดภัยของข้อมูล ต้องรู้ว่าใครจะเข้าถึงข้อมูลของเราได้บ้าง ดันนั้น ต้องคิดให้ดีก่อนจะกรอกข้อมูลลงในออนไลน์
- ปฏิสัมพันธ์ในโลกออนไลน์ ทำอย่างไรถึงจะมีทั้งความสุภาพ และมีสติ ซึ่งก็สอดกับผลสำรวจเรื่องการเป็นพลเมืองดิจิทัลที่ Gen Z ค่อนข้างรู้เรื่องนี้ การจะทำให้ตระหนักเรื่องนี้คิดว่าไม่ยาก ถ้าทุกภาคส่วนร่วมมือกัน