กยศ. เสี่ยงถังแตกภายใน 3 เดือน คนเบี้ยวหนี้เกินครึ่ง

เผชิญวิกฤตสภาพคล่อง ลูกหนี้ราว 2 ใน 3 จ่ายไม่ตรงเวลา รายรับลดลง 10.3% สวนทางรายจ่ายเพิ่มขึ้น 43.3% เสี่ยงขาดเงินสดหมุนเวียน ภายใน 3 เดือน – 1 ปี แม้รัฐหนุนงบฯ ก็ยื้อได้ไม่นาน

จากข้อมูลเอกสารชี้แจงงบประมาณปี 2568 ที่ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เสนอต่อกับกรรมาธิการวิสามัญฯ พบว่า เงินสดรับ ของกองทุนฯ ลดลงถึง 10.3% ในช่วงปีงบฯ 2565 – 2567 เมื่อเทียบกับปีงบฯ 2562 – 2564 โดยสาเหตุหลักมาจาก การลดอัตราดอกเบี้ยและเบี้ยปรับตามกฎหมายใหม่ เช่น การลดอัตรา ดอกเบี้ยเงินปล่อยกู้ เหลือไม่เกิน 1% ต่อปี, ลด เบี้ยปรับ เหลือไม่เกิน 0.5% ต่อปี, การเปลี่ยนมาหักเงินต้นก่อนหักดอกเบี้ย ซึ่งจะทำให้เงินต้นลดลงได้เร็วขึ้น แต่ทำให้กระแสเงินสดที่หมุนเวียนกลับเข้าสู่กองทุนลดลง ขณะที่ในปี 2565 ลูกหนี้ยังผิดนัดชำระราว 2 ใน 3 ของลูกหนี้ทั้งหมด

เงินสดรับ ที่น้อยลงสวนทางกับ เงินสดจ่าย ของ กยศ. ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยในปีงบฯ 2565 – 2567 กยศ. มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยปีละ 40,686.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43.3% เมื่อเทียบกับช่วงปีงบฯ 2562 – 2564 และคาดว่าเงินสดสะสมของกองทุนจะลดลงจนเหลือเพียง 13,809.1 ล้านบาท ณ สิ้นปีงบฯ 2567 หากแนวโน้มนี้ยังคงอยู่ กยศ. อาจเข้าสู่ภาวะขาดเงินสดในปี 2568

ทั้งนี้ ตามประมาณการของ กยศ. ประเมินว่าปีงบฯ 2025 จะเป็นปีที่มี เงินสดจ่าย สูงถึง 72,836.4 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าเงินสดจ่ายเฉลี่ยปี 2022 – 2024 เกือบ 80% ประกอบกับการปล่อยสินเชื่อที่มีแนวโน้มสูงขึ้น และกฎหมายคำนวณหนี้ใหม่ที่ทำให้มีลูกหนี้บางส่วนจะได้รับเงินคืน รวมเป็นเงินราว 8,000 ล้านบาท ด้วยแนวโน้มเช่นนี้ อาจทำให้ กยศ. ถังแตกเร็วกว่าที่คาดไว้ภายใน 3 เดือนหลังจากนี้

ปีงบประมาณเงินสดรับ** (ล้านบาท)เงินสดจ่ายตามประเมินของ กยศ. (ล้านบาท)กระแสเงินสดสุทธิ (ล้านบาท)เงินสดสะสม ณ สิ้นปี (ล้านบาท)
201931,592.731,053.7539.045,648.3
202028,494.726,111.92,382.948,031.2
202132,633.528,004.74,628.852,660.0
202228,920.640,337.0-11,416.341,243.7
202327,378.639,078.8-11,700.229,543.5
2024*26,908.942,643.3-15,734.413,809.1
2025*27,678.672,376.4-44,697.8-30,888.7
2026*28,511.840,964.2-12,452.5-43,341.1

ที่มา: เอกสารประกอบการชี้แจงงบประมาณ และประมวลโดย 101 PUB
*หมายเหตุ: เป็นเลขประมาณการโดย กยศ.
**ปีงบฯ 2025 – 2026 ไม่รวมการสนับสนุนงบประมาณที่ กยศ. นำมาคำนวณเงินสดรับกรณีที่ได้งบประมาณตามคำขอ

สภาฯ เจียดงบฯ เกือบ 4.6 พันล้านบาท ต่อชีวิต กยศ. ได้ไม่เกิน 4 เดือน

101 Public Policy Think Tank (101 PUB) โดย กษิดิ์เดช คำพุช และ ฉัตร คำแสง วิเคราะห์ผ่านบทความ “กยศ. จะถังแตกใน 3 เดือน!?: ปัญหาเงินสดหมดกองทุน และหนทางเอาตัวรอด” ว่า แม้สภาผู้แทนราษฎรจะอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมให้จำนวน 4,573 ล้านบาท เพื่อช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่อง (ในทีแรกสภาฯ จะอนุมัติเพียง 800 ล้านบาท แต่ภายหลังได้รับการโยกงบเข้ามาโปะเพิ่ม) แต่เงินจำนวนดังกล่าวจะต่อลมหายใจให้ กยศ. ได้เพียง 1 – 4 เดือนเท่านั้น ขณะที่ก่อนหน้านี้ กยศ. ได้เขียนของบฯ ไปกว่า 19,000 ล้านบาทเพื่อพยุงตัวเองไปให้รอด แต่ถึงสภาฯ จะอนุมัติก็ไม่สามารถแก้ไขวิกฤตถังแตกในระยะยาวอยู่ดี

ในสถานการณ์นี้ กยศ. ได้เผชิญการตัดสินใจครั้งใหญ่ การกลับมาขอเงินสนับสนุนจากรัฐ หลังจากไม่ได้ของบฯ มาตั้งแต่ปี 2561 ก็เป็นอีกหนึ่งทางรอด แต่หากจะของบฯ จากรัฐปีละ 1 – 2 หมื่นล้าน ในทุกปีก็จะเป็นการเบียดบังพื้นที่งบประมาณในส่วนอื่น และยังไม่ช่วยแก้ไขปัญหาระยะยาว หรืออีกทางหนึ่ง กยศ. อาจต้องลีนไขมัน ลดการปล่อยกู้ลง เพื่อปรับให้รายรับสมดุลกับรายได้ โดยประเมินว่า ทุก 1 หมื่นล้านบาทที่หายไป จะเป็นการตัดโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อเพื่อการศึกษาของคนรุ่นถัดไปกว่า 1.8 แสนคน

เสนอผ่าตัดใหญ่ กยศ. เข้าเครดิตบูโร ควบคู่ ‘เรียนฟรี ถึง ป.ตรี’

ด้วยวิธีการของบฯ จากรัฐ และลดจำนวนปล่อยกู้อาจทำให้ กยศ. พยุงการเงินของตัวเองต่อไปได้บ้าง แต่ไม่อาจทำให้ กยศ. สามารถยืนด้วยลำแข้งตัวเองและอาจกระทบต่อพันธกิจเพื่อการศึกษา 101 PUB จึงเสนออีกทางหนึ่งคือการ ‘ผ่าตัดใหญ่ กยศ.’ เน้นทำให้คนกลับมาชำระหนี้มากยิ่งขึ้น ดังนี้

  • ปรับโครงสร้างหนี้แก่ลูกหนี้ที่ชำระหนี้ไม่ตรงเวลา ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของมูลค่าสินเชื่อทั้งหมด ผ่านการลดยอดชำระหนี้ที่ต้องจ่ายรายงวด หรือขอลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะช่วยให้ลูกหนี้กลุ่มนี้กลับมาชำระหนี้ให้ กยศ. เพิ่มมากขึ้น
  • ส่งข้อมูลการชำระหนี้เข้าระบบเครดิตบูโร เพื่อทำให้สถาบันการเงินอื่นรู้ถึงประวัติการชำระหนี้ของลูกหนี้ กยศ. เป็นการบีบให้ลูกหนี้ต้องชำระให้ตรงเวลา เพื่อให้ไม่ให้ประวัติเสีย และยากต่อการขอสินเชื่อในอนาคต
  • ชำระหนี้ด้วยการหักจากเงินเดือน หรือ e-PaySLF และปรับเงื่อนไขการหักเงินเดือนให้เร็วขึ้นหรือมากขึ้น แต่ต้องคำนึงถึงการดำเนินชีวิตของผู้กู้ยืมหลังถูกหักเงินเดือนออกไปแล้วด้วย

นอกเหนือจากการผ่าตัดใหญ่ กยศ. แล้ว 101 PUB ชวนถอยออกมามองในภาพกว้างของการขอสินเชื่อเพื่อการศึกษา สู่ข้อเสนอการยกระดับ ‘เรียนฟรี 15 ปี’ สู่ ‘เรียนฟรีถึงปริญญาตรี’ ซึ่งจะทำให้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่สูงขึ้น ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระการให้บริการสินเชื่อของ กยศ. ลงได้ หากรัฐต้องการจะทำให้ทุกคนเข้าถึงสวัสดิการการศึกษาที่ครบถ้วนมากขึ้น ทางเลือกนี้ก็ควรถูกเปรียบเทียบควบคู่ไปกับการผ่าตัดใหญ่ กยศ. ด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active