ศธ. อวดผลงานรอบปี ปลื้มลดภาระ-แก้หนี้ครู สร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต

คุยลดภาระงาน ประเมินตัวชี้วัดครูเกือบ 100% ยกเลิกครูเวร เดินหน้าสร้างการศึกษาเพื่อพัฒนาคนไทยทุกวัย ยกเว้นเครื่องแบบนักเรียนยากจน สร้างรายได้ระหว่างเรียน แก้เด็กหลุดจากระบบ เล็งให้ รร.วิทย์ พี่เลี้ยงอบรมครูติวสอบ PISA

เมื่อเร็ว ๆ นี้ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ย้ำถึงการสานต่อนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ที่ดำเนินการมาแล้วตลอดปีที่ผ่านมา พร้อมเดินหน้านโยบายตามคำแถลงของ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่มุ่งเน้น การพัฒนาคนไทยทุกช่วงวัย ส่งเสริมการเข้าถึงศูนย์ดูแลเด็กปฐมวัยที่มีมาตรฐาน พัฒนาเด็กให้มีทักษะวิทย์-คิดวิเคราะห์พร้อมนำ AI เข้ามาสนับสนุนการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

“ทุนมนุษย์เป็นรากฐานที่สำคัญของการพัฒนาประเทศ
รัฐบาลจะเร่งส่งเสริมผลักดันให้เกิดการพัฒนาคนไทยทุกช่วงวัย
อย่างเต็มกำลังและความสามารถ”

แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายต่อรัฐสภา

โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบ 10 นโยบายสำคัญที่จะขับเคลื่อนต่อในปีหน้า ประกอบด้วย

  1. การส่งเสริมการเติบโตของเด็กอย่างมีคุณภาพและเท่าเทียม
  2. เพิ่มการเข้าถึงศูนย์ดูแลเด็กปฐมวัยที่มีมาตรฐาน
  3. ส่งเสริมทักษะด้านศิลปะ วัฒนธรรม และกีฬา
  4. พัฒนาระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น โดยใช้เทคโนโลยีลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
  5. ใช้ AI เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้สองภาษา
  6. เน้นการเรียนรู้ที่ใช้สร้างรายได้จริง (Learn to Earn)
  7. ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างรัฐ องค์กรท้องถิ่น และภาคเอกชนในการจัดการศึกษา
  8. ค้นหาและช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา
  9. ปฏิรูประบบอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการแรงงานในอนาคต
  10. ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-long learning)

ศธ. อวดผลงาน 1 ปี ลดภาระครู-นักเรียน

ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการได้มีการขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” หวังยกระดับคุณภาพการศึกษาให้สอดคล้องกับความเป็นเลิศ และสร้างความมั่นคงให้แก่ชีวิตของนักเรียนและครูทั่วประเทศ ด้วยแนวคิด “จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาระบบการศึกษา โดยมีผลงานทางนโยบายที่ดำเนินไปแล้ว ดังนี้

นโยบายเรียนดีมีความสุข (ลดภาระครู)

  1. ปรับการประเมินวิทยฐานะออนไลน์ เพื่อให้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และเป็นธรรม พร้อมป้องกันการทุจริตในการเสนอขอประเมิน
    • ระบบประเมินวิทยฐานะผ่านระบบออนไลน์ (DPA) มีผู้คำขอมีวิทยฐานะหรือเลื่อนวิทยฐานะผ่านระบบ 130,365 ราย ได้รับประเมินแล้ว 84,387 ราย (64.37%)
  2. โครงการครูคืนถิ่น จัดระบบโปร่งใสให้ครูสามารถย้ายกลับภูมิลำเนาผ่านระบบ TMS และจัดการย้ายครูด้วยระบบ TRS
  3. ยกเลิกครูเวร เน้นความปลอดภัยของครู บังคับใช้ในสถานศึกษา 20,000 แห่ง สังกัด สพฐ.
  4. จ้างนักการภารโรง ให้กับโรงเรียนที่ขาดแคลน เพื่อให้ครูสามารถมุ่งเน้นการสอนในห้องเรียนได้มากขึ้น
  5. ปรับลดงานซ้ำซ้อน เช่น การประเมินที่ไม่จำเป็น เพื่อลดภาระและให้ครูมีเวลาในการดูแลนักเรียนมากขึ้น
    • ลดการประเมินตัวชี้วัด 85.19%
    • ลดการประเมินโครงการหรือภาระงานจากส่วนกลาง 99.93%
    • ลดการนำเข้าข้อมูลโครงการนอกแผน 56.57% (จาก 10,863 โครงการเหลือ 6,145 โครงการ)

นโยบายเรียนดีมีความสุข (ลดภาระนักเรียน)

  1. ระบบแนะแนวชีวิตและสุขภาพ เสริมสร้างทักษะชีวิต ดูแลสุขภาพกายและจิตใจของนักเรียน พร้อมมาตรการป้องกันอันตรายจากยาเสพติด
  2. อาหารกลางวันฟรี สำหรับนักเรียนในโรงเรียนขยายโอกาสทุกสังกัด เพื่อแก้ปัญหาทุพโภชนาการ
    • งบอาหารกลางวัน 2,955 ล้านบาท ในกลุ่ม รร.ขยายโอกาสทุกสังกัด 7,344 แห่ง ให้กับผู้เรียน 575,983 คน (เฉลี่ยหัวละ 5,130 บาท)
  3. โครงการสุขาดีมีความสุข ปรับปรุงห้องน้ำในโรงเรียนกว่า 29,000 แห่งให้สะอาดและได้มาตรฐาน
    • ปรับปรุงห้องน้ำ 59,262 หลัง จาก 81,913 หลัง (72.3%)
    • จัดสรรงบฯ ให้ รร. ขนาดเล็ก 9,700 แห่ง แห่งละ 10,000 บาท
  4. ยกเว้นการแต่งเครื่องแบบนักเรียน สำหรับครอบครัวที่มีปัญหาทางการเงิน

นโยบายการเรียนรู้ตลอดชีวิต

  1. ระบบวัดผลและวิชาชีพ เชื่อมโยงการศึกษาและโลกอาชีพ พร้อมการจัดทำหลักสูตรทวิวุฒิไทย-จีน
    • จัดหลักสูตรอาชีวศึกษาและมัธยมฯ ปลาย (ทวิศึกษาแนวใหม่) ใน รร.สพฐ. 114 แห่ง กับสถานศึกษา สอศ. 71 แห่ง มีนักเรียน 3,593 คน
    • จัดหลักสูตรทวิศึกษา ให้นักเรียนโรงเรียนการศึกษาสงเคราะห์ 1,178 คน จาก 36 แห่ง และวิทยาลัยสังกัด สอศ. 47 แห่ง
  2. การเทียบระดับผลการศึกษา ให้ผู้เรียนที่มีความสามารถพิเศษสามารถเทียบโอนทักษะ และเพิ่มคุณวุฒิได้
    • จัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน 1,043 แห่ง
  3. สร้างรายได้ระหว่างเรียน ส่งเสริมการเรียนรู้จากการปฏิบัติ และทักษะใหม่เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ตลาดงาน
    • จัดกิจกรรมฝึกอาชีพส่งเสริมการมีรายได้ผ่าน สกร. จังหวัด 928 แห่ง
    • มีหลักสูตรฝึกอาชีพ 3,949 หลักสูตร
    • มีผู้ผ่านการฝึกอาชีพ 302,905 คน สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 3,000 บาท/เดือน จบแล้วมีงานทำคิดเป็น 86.88%

นโยบายส่งเสริมการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานทุกที่ทุกเวลา

  1. เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา พัฒนาสื่อดิจิทัลและระบบคลาวด์ รองรับทุกแพลตฟอร์มการเรียนรู้
  2. จัดหาอุปกรณ์การสอนและสวัสดิการ จัดหาอุปกรณ์การเรียนรู้ และสร้างระบบนิเวศดิจิทัลร่วมกับองค์กรชั้นนำ
    • ระยะแรก: จัดหาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ให้ รร. ขาดแคลน 5,348 แห่ง
    • ระยะสอง: จัดหาอุปกรณ์การเรียนที่เหมาะสมตามวัย ให้ รร. สังกัดสพฐ. อีก 29,312 แห่ง
  3. ศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล เพื่อให้นักเรียนที่พักรักษาตัวสามารถเรียนต่อเนื่องได้

นโยบายแก้หนี้ครู

  1. แก้ไขปัญหาหนี้สินครู เช่น ลดดอกเบี้ยเงินกู้ ยกระดับการหักเงินเดือนให้ครูมีสภาพคล่อง หมดหนี้เร็วขึ้น แก้ไขหนี้ครูกลุ่มวิกฤต จัดสรรวงเงินให้กู้ยืมเงินทุนหมุนเวียน เพื่อแก้ไขบรรเทาภาวะหนี้สิน พร้อมจัดอบรมให้ความรู้ด้านการเงินเดินเครื่องเต็มกำลังกับความร่วมมือ 13 หน่วยงาน

นโยบายเด็กหลุดจากระบบการศึกษาเป็นศูนย์ (Zero Dropout)

  1. ลงนาม MOU ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนหลายในการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนออกนอกระบบการศึกษา
    • ปีงบประมาณ 2567 เริ่มนำร่องปูพรมค้นหาเด็กในพื้นที่ 25 จังหวัด และพาเด็กกลับเข้าสู่ระบบได้ 20,000 คน
    • ปีงบประมาณ 2568 ขยายมาตรการให้คลอบคลุมพื้นที่ 77 จังหวัด พาเด็กกลับเข้าสู่ระบบได้ 100,000 คน
    • ปีงบประมาณ 2569 พาเด็กกลับเข้าสู่ระบบได้ 50,000 คน
    • พาเด็กกลับเข้าสู่ระบบได้ 1,000,000 คน ภายในปีงบประมาณ 2570 ซึ่งจะทำให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

นโยบายสร้างจิตสำนึกความเป็นไทย

  1. ความร่วมมือระดับชาติมีการลงนามความร่วมมือกับหลายหน่วยงานภาครัฐเพื่อสร้างจิตสำนึกความเป็นไทย
  2. ขับเคลื่อนแผนการสอนวิชาประวัติศาสตร์โฉมใหม่ คิกออฟมหกรรมวิชาประวัติศาสตร์ นำร่อง 7 จังหวัด ขยายผลเดินหน้าโร้ดโชว์ทั่วประเทศ

นโยบายอื่น ๆ

  1. จ้างครูผู้ช่วยกรณีพิเศษ ให้โอกาสครูอัตราจ้างและครูสอนศาสนาเข้ารับการคัดเลือกเป็นข้าราชการครู
    • ปี 2567 เปิดสอบคัดเลือกครูผู้ช่วย 3,796 อัตรา จาก 54 กลุ่มวิชา
  2. หนึ่งอำเภอ หนึ่งโรงเรียนคุณภาพ สนับสนุนโรงเรียนขนาดใหญ่เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้สำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก พร้อมบริการรถรับส่ง

เล็งให้ รร.วิทย์ เป็นพี่เลี้ยงอบรมครูติวเข้ม PISA ให้ทันสอบในปี 2568

รมว.ศธ. ยังเผยว่า กระทรวงฯ ยังได้ร่วมมือระดับชาติมีการลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนหลายด้าน เช่น การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด การส่งเสริมความรู้ทางการเงิน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สร้างจิตสำนึกความเป็นไทย การแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนออกนอกระบบการศึกษา การติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ในสถานศึกษา

นอกจากนี้ ยังมีการร่วมมือทุกภาคส่วนเพื่อยกระดับผลประเมิน PISA โดยจัดทำโครงการโรงเรียนพี่โรงเรียนน้อง ให้โรงเรียนสายวิทย์เป็นพี่เลี้ยงพัฒนาครูแกนนำจัดอบรมการใช้ระบบออนไลน์ข้อสอบ PISA เพื่อให้นักเรียนเกิดความคุ้นชินในการทำข้อสอบ และเตรียมความพร้อม สำหรับการประเมิน PISA รอบถัดไปในปี 2568

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active