อว. ผุดเกณฑ์ใหม่ วัดระดับภาษาอังกฤษก่อนจบมหาวิทยาลัย

กมธ. ศึกษาฯ ชี้ นโยบายยกระดับภาษาอังกฤษในมหาวิทยาลัย แค่กวดขันให้ ‘สอบ’ ไม่เพียงพอ ต้องมีงบฯ หนุนการใช้ภาษาตั้งแต่เด็ก ขณะที่ กระทรวงศึกษาฯ ต้องรับไม้ต่อด้วย

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สังคมออนไลน์ได้ถกเถียงถึงกรณีที่ คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ประกาศนโยบายยกระดับทักษะภาษาอังกฤษของนักศึกษาทั่วประเทศ ให้มีความพร้อมในการทำงานในระดับสากล โดยกำหนดให้แต่ละมหาวิทยาลัย ‘พิจารณา’ ให้จัดสอบวัดระดับตามมาตรฐาน Common European Framework of Reference for Languages (CEFR) และนำผลสอบที่ได้บันทึกในใบรับรองผลการศึกษา หรือออกเป็นประกาศนียบัตรด้วย โดยกำหนดมาตรฐาน ดังนี้

  • ระดับอนุปริญญา ควรกำหนดเป้าหมาย เทียบเคียงผลกับ CEFR B1 ขึ้นไป (ใช้ภาษาในสถานการณ์ทั่วไปได้ดี สื่อสารเรื่องคุ้นเคยได้)

  • ระดับปริญญาตรี ควรกำหนดเป้าหมาย เทียบเคียงผลกับ CEFR B2 ขึ้นไป (สื่อสารได้อย่างมั่นใจในหัวข้อที่หลากหลาย เข้าใจเนื้อหาที่ซับซ้อนได้)

  • ระดับบัณฑิตศึกษา ควรกำหนดเป้าหมาย เทียบเคียงผลกับ CEFR C1 ขึ้นไป (ใช้ภาษาได้อย่างคล่องแคล่วในบริบทที่ท้าทาย เข้าใจเนื้อหาที่ซับซ้อนได้ดี)

ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวมีผลมาจากมติคณะรัฐมนตรีที่ประชุมตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 แล้ว และทาง อว. ได้ออกเป็นประกาศตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2567 แต่เพิ่งจะมาเป็นกระแสถกเถียงของสังคมในช่วงเร็ว ๆ นี้ นโยบายกำหนดให้มหาวิทยาลัยต้องวางเป้าหมายด้านการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ และสร้างกิจกรรมหรือสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้ได้ดี นำไปสู่การวัดผลตามเกณฑ์ข้างต้น

(อ่านประกาศฉบับเต็ม ที่นี่)

กวดขัน ‘ทำข้อสอบ’ ไม่เพียงพอ
ต้องมี ‘งบฯ’ ส่งเสริมการใช้ภาษาตั้งแต่เด็ก

The Active สอบถามความเห็นประเด็นนี้กับ ปารมี ไวจงเจริญ กรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร มองว่า เห็นด้วยในเจตนาที่จะส่งเสริมทักษะภาษาอังกฤษ เพราะภาษาอังกฤษเป็นภาษาสำคัญ ช่วยเปิดมุมมองต่อโลก และสร้างโอกาสในการเข้าถึงโอกาสได้อีกมาก แต่ยังกังวลว่า การวางเฉพาะเกณฑ์ให้มหาวิทยาลัยไปทำตาม แต่ขาดกลไกงบประมาณสนับสนุน จะทำให้การยกระดับภาษาเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ ?

ปารมี ยอมรับว่า ภาษาอังกฤษของคนไทยมีปัญหา ส่วนหนึ่งเพราะถูกบ่มเพาะว่าภาษาอังกฤษเป็น ‘วิชาความรู้’ ที่ต้องอาศัยการร่ำเรียนจากอาจารย์ มีตำราเป็นขั้นตอน แต่จริง ๆ แล้วการสื่อสารภาษาใด ๆ ล้วนเป็น ‘ทักษะ’ ที่ถูกบ่มเพาะด้วยการฝึกฝน ใช้งานอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งการใช้ภาษาจะเกิดขึ้นได้ทุกวัน ประชาชนก็ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ใช้ภาษาอังกฤษด้วย เช่น สื่อบันเทิงภาษาต่างประเทศ, การสนับสนุนให้ใช้ภาษาต่างประเทศในครอบครัว ตลอดจนการใช้ภาษาอังกฤษในการติดต่อราชการ เป็นต้น

“เราต้องมาทบทวนกันใหม่ว่า เราจะสร้างแนวทางการบ่มเพาะทักษะภาษาอังกฤษให้กับคนไทยได้อย่างไร ซึ่งมันไม่ใช่แค่การวัดผล หรือส่งเสริมกันในระดับอุดมศึกษา มันเป็นปลายน้ำ แต่ทักษะภาษา ต้องได้รับการพัฒนาตั้งแต่เด็ก ๆ หรือก็คือต้นน้ำ “

ปารมี ไวจงเจริญ
ปารมี ไวจงเจริญ กรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร

ปารมี ยังให้ทัศนะว่า กระทรวงการอุดมศึกษาฯ​ มีเจตนาที่ดีในการสร้างเสริมทักษะทางภาษาให้คนไทย แต่ต้องทำอย่างเป็นองค์รวมกว่านี้ อย่างน้อย ๆ ต้องประสานงานด้านนโยบายให้กระทรวงศึกษาธิการรับลูกด้วย เพื่อคิดแผนการยกระดับภาษาอังกฤษในการศึกษาขั้นพื้นฐาน และอย่ามองภาษาอังกฤษแค่ในกรอบนโยบายการศึกษา แต่ต้องส่งเสริมการผลิตสื่อภาษาต่าประเทศ สร้างสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยการใช้ภาษาอังกฤษ ไม่อย่างนั้นผู้คนจะยังไม่ตระหนักว่า ทำไมการพัฒนาภาษาอังกฤษจึงสำคัญ

นอกจากนี้ ค่าจัดสอบวัดผลทางภาษานั้นมีราคาแพง หากมหาวิทยาลัยต้องจัดสรรงบฯ​ เพื่อให้นักศึกษาเข้าสอบ อาจจะเป็นภาระเพิ่มเติม ปารมี จึงตั้งข้อสังเกตว่า ทางกระทรวงฯ มีงบฯ อุดหนุนเพื่อช่วยเหลือส่วนนี้หรือไม่ ตนเข้าใจว่าหลักเกณฑ์นี้ไม่ใช่ข้อบังคับ แต่ถ้ากระทรวงฯ ต้องการให้ทุกหน่วยงานร่วมผลักดันในประเด็นภาษาอังกฤษมากแค่ไหน ก็ควรถ่ายทอดความตั้งใจผ่านการจัดสรรงบฯ ด้วยเช่นกัน

หนุนเด็กไทยให้เก่ง ‘อังกฤษ’ ครูต้องได้รับการส่งเสริมมากพอ

เมื่อหลายปีก่อน ครูบางส่วนออกมาเห็นแย้งต่อเกณฑ์คะแนน TOEIC ที่ปรับเพิ่มขึ้นเพื่อใช้ในการยื่นสอบบรรจุ โดยขอให้ปรับลดลงจาก 400 เหลือ 250 เท่านั้น หรือบางคนก็เห็นว่าไม่ควรบังคับให้ยื่นคะแนน เพราะเมื่อทำงานจริงก็ไม่ได้ใช้ ในขณะที่เมื่อต้นปี มีกรณีที่ครูคืนถิ่น 112 คน ปลอมแปลงคะแนนภาษาอังกฤษเพื่อใช้ยื่นบรรจุ ประเด็นนี้จึงเป็นที่ตั้งข้อสังเกตด้วยเช่นกันว่า หากจะกำหนดให้นักศึกษาต้องสอบวัดผลก่อนเรียนจบ ครูไทยต้องถูกยกระดับเกณฑ์ทางภาษาด้วยหรือไม่

จากกรณีข้างต้น ปารมี เห็นด้วยว่า ครูไทยควรได้รับการส่งเสริมทักษะทางภาษาอย่างยิ่ง และไม่เพียงแต่ครูทั่วไป แต่ครูที่รับผิดชอบวิชาภาษาอังกฤษเองก็ควรต้องได้รับการผลักดันมากขึ้นด้วยเช่นกัน จากที่เห็นบางกรณีการสอนที่ยังไม่ได้มาตรฐาน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการติดล็อกโดยหลักสูตร ครูไทยไม่มีเวลา ไม่มีทุนที่จะได้พัฒนาทักษะตัวเอง ซึ่งทั้งหมดนี้ จำเป็นต้องอาศัยนโยบายลดภาระครู และงบฯ เพื่อปลดล็อกทักษะครูจากภาครัฐร่วมด้วย

ปารมี ยังมองด้วยว่า ภาษาอังกฤษนั้นยังเป็นภาษาที่มีเอกสิทธิ์ กล่าวคือ เป็นภาษาที่ถูกสงวนไว้ให้ชนชั้นนำ เด็กที่เกิดมาในครอบครัวที่พร้อม และสภาพแวดล้อมที่ดี จะเข้าถึงการใช้ภาษาอังกฤษได้ง่าย ขณะที่เด็กด้อยโอกาสแทบจะเข้าถึงสภาพแวดล้อมเช่นนั้นไม่ได้เลย

ดังนั้นรากปัญหาของการฝึกฝนภาษาอังกฤษคือความเหลื่อมล้ำทางโอกาส หากรัฐไทยมองเห็นความสำคัญของภาษาแล้ว รัฐจึงควรหนุนให้ทุกคนในชาติได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active