เด็ก TCAS67 มีลุ้น! เล็งเผยข้อสอบในงาน ‘อว. FAIR’ 22 – 28 ก.ค. นี้

ให้นักเรียนเป็นผู้เฉลย ไม่ซ้ำชุดกันในแต่ละวัน รับยังมีอาจารย์ผู้ออกข้อสอบบางวิชาไม่ยินยอมเปิดเผยข้อสอบ ขณะที่ รมว.อว. เผย ทปอ. ยินดีพร้อมนำร่องนำกระดาษคำถามสอบ TGAT/TPAT ธ.ค. 67 กลับบ้านได้

สืบเนื่องจากกรณีที่ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ให้คำชี้แจงถึงการเปิดเผยข้อสอบ TCAS67 ต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ของสภาผู้แทนราษฎร โดย ศ.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว. เป็นผู้ชี้แจงในประเด็นดังกล่าว โดยระบุว่า อว. จะเปิดเผยข้อสอบ TCAS บางส่วนในงาน ‘อว. FAIR : SCI-POWER FOR FUTURE THAILAND’ ซึ่งจะจัดขึ้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตั้งแต่วันที่ 22 – 28 ก.ค. 67 โดยในแต่ละวัน จะมีนักเรียน นักศึกษา มาเป็นตัวแทนเฉลยข้อสอบ ที่ไม่ซ้ำชุดกัน ซึ่งหลังจากนี้จะมีการประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับรายละเอียดข้อสอบที่เปิดเผยในแต่ละวันอีกทีหนึ่ง

ในประเด็นเกี่ยวกับสัญญาการออกข้อสอบ ศ.ศุภชัย ชี้แจงว่า สัญญาการออกข้อสอบ TCAS ไม่ใช่สัญญาของรัฐ เนื่องจากการจัดทำสัญญานี้ดำเนินการโดยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ซึ่งไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ ทั้งนี้ อว. ได้ประสานกับทาง ทปอ. เพื่อเจรจาขอเปิดเผยข้อสอบแล้ว แต่ก็ยังมีผู้ออกข้อสอบบางรายที่ยังไม่ยินยอม

อย่างไรก็ตาม ทาง อว. ชี้แจงว่า ในปี 2567 สามารถเปิดเผยข้อสอบ A-Level บางส่วนได้เลย เนื่องจากอยู่ในความดูแลของ ทปอ. โดยตรง ในขณะที่ข้อสอบ T-GAT และ T-PAT ยังอยู่ในขั้นเจรจากับสภาวิชาชีพผู้ออกข้อสอบ ให้เปิดเผยข้อสอบ

เปิดข้อสอบ : ให้สังคมตรวจสอบได้ ยกระดับคุณภาพการวัดผล

สำหรับนโยบายการเปิดเผยข้อสอบนี้ สอดคล้องกับการประชุมคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษาฯ สภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 22 เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 67 โดย ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ระบุว่า การเปิดข้อสอบของปีเก่าเพื่อลดความเหลื่อมล้ำนั้น ทาง ทปอ. ยินดีให้ความร่วมมือ โดยจะเริ่มนำร่องที่การสอบ TGAT/TPAT ธ.ค. 67 ที่จะเป็นการสอบครั้งแรกที่ผู้เข้าสอบสามารถนำกระดาษคำถามกลับบ้านได้ ซึ่งการเปิดเผยข้อสอบในงาน อว. FAIR นับว่าเป็นสัญญาณที่ดี เพราะในทีแรก ทปอ. ยืนยัน ว่า จะเริ่มเฉลยข้อสอบตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป

ทั้งนี้จากการนำร่องนโยบายในครั้งนั้น ธีระยุทธ บุญมา หรือ น็อต นักแนะแนวด้านการศึกษา เคยได้ให้ทัศนะไว้ว่า ด้วยกระบวนการนี้จะทำให้เกิดการ ‘ถ่วงดุลอำนาจ’ ระหว่างผู้ออกข้อสอบกับผู้เข้าสอบ หรือประชาชน กล่าวคือ เมื่อข้อสอบไม่ถูกทำให้เป็นความลับ ผู้ออกข้อสอบก็จะรักษามาตรฐานคุณภาพข้อสอบมากขึ้น

การเปิดเผยข้อสอบต่อสาธารณะ ยังทำให้ครูและนักเรียนได้รู้จักกับหน่วยงานที่ออกข้อสอบมากขึ้น ไม่ได้มีความสัมพันธ์แบบ ผู้เข้าสอบ – ผู้วัดผล แต่ยังได้เป็นเจ้าของคลังข้อสอบอีกด้วย ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้นักเรียนได้ลองทำข้อสอบย้อนหลัง ให้ครูได้มีแนวข้อสอบไปออกแบบการสอน และผู้ปกครองอาจจะลดค่าใช้จ่ายในการส่งลูกเรียนกวดวิชาเพื่อให้ได้เข้าถึงคลังข้อสอบเหล่านั้น

“พอเปิดข้อสอบแล้ว คนออกข้อสอบต้องระวังมากขึ้น ต้องแคร์เสียงของสังคมมากขึ้น แต่ถ้าเขาไม่สนใจเลยมันก็จะย่ำอยู่กับที่ ดังนั้นแล้วสิ่งสำคัญคืออยากให้ผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องเปิดใจฟัง Feedback เพราะทุกคนไม่ได้อยากจะโจมตีแต่อย่างใด แต่ต้องการให้คุณภาพข้อสอบพัฒนาไปในทางที่ดี” 

ธีระยุทธ บุญมา

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active