กมธ.สันติภาพ ฟื้นใช้ภาษาแม่ แก้ปมการศึกษาชายแดนใต้

เผยข้อค้นพบทั่วโลก ใช้ “ภาษาแม่” เมื่อเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาเป็นครั้งแรก ช่วยเด็กสนใจเรียน คิดสร้างสรรค์ ผลการเรียนดีขึ้น “จาตุรนต์” ยกโมเดล สวิตเซอร์แลนด์ ให้สิทธิ์เด็กได้เลือกเรียนภาษาที่ต้องการ พร้อมตั้งคณะทำงานฯ รวบรวมข้อเสนอ กมธ. ยื่นต่อ สภาฯ ก.ค.นี้

เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญสันติภาพชายแดนภาคใต้ฯ สภาผู้แทนราษฎร จัด Workshop “การจัดการศึกษาแบบทวิ/พหุภาษาโดยใช้ภาษาแม่เป็นฐานในชายแดนใต้ : โอกาสและความท้าทาย” (Mother Tongue-Based Education) โดยกรรมาธิการฯ ร่วมกับ สถานทูตสวิตเซอร์แลนด์ และ สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เชิญผู้เชี่ยวชาญในหลายหลากสาขาทั้งในประเทศ และต่างประเทศ มาระดมความคิดเห็น อาทิ Prof.Joseph Lo Bianco ศาสตราจารย์ด้านภาษา การเรียนรู้ระหว่างวัฒนธรรมและการสร้างสันติภาพ จากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย และ Prof. Tejendra Pherali ศาสตราจารย์ด้านการศึกษา ความขัดแย้งและสันติภาพจาก University College London

จาตุรนต์ ฉายแสง ประธาน กมธ.วิสามัญสันติภาพชายแดนใต้ บอกว่า กิจกรรมนี้เกี่ยวเนื่องจากที่กรรมาธิการฯ ลงพื้นที่ชายแดนภาคใต้และทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทยเพื่อจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นมาอย่างต่อเนื่อง และพบข้อเท็จจริงในหลายประเด็น หนึ่งในนั้นคือการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีผลสัมฤทธิ์ต่ำที่สุดในประเทศมาอย่างยาวนาน พบว่าปัจจัยหนึ่งคือไม่สามารถจัดการศึกษาในพื้นที่โดยใช้ภาษาแม่ คือ “ภาษามลายู” ได้ ทั้งที่ก่อนหน้านั้นก็เคยใช้ภาษาแม่มาก่อน และมีหน่วยงานต่าง ๆ ศึกษาต่อเนื่องมามากกว่า 20 ปี จนมีข้อค้นพบว่า การใช้ภาษาแม่มีส่วนช่วยทำให้เด็กมีผลการเรียนดีขึ้น

จาตุรนต์ ยังระบุว่า สมัยที่เป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ได้ทำงานร่วมกับ Summer institute of linguistics-SIL เพื่อนำร่องการใช้ภาษามลายูจัดการศึกษาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เนื่องจากหน่วยงานดังกล่าวมีประสบการณ์จัดการศึกษาโดยภาษาแม่ในหลายพื้นที่ทั่วโลกหลายร้อยแห่ง และพบว่า การใช้ภาษาแม่ เมื่อเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาเป็นครั้งแรก จะทำให้เด็กสนใจเรียน มีความคิดสร้างสรรค์ และผลการศึกษาดี สอดคล้องกับงานวิจัยของยูเนสโก ที่ระบุว่า การสอนภาษาแม่ควบคู่กับภาษาที่สอง (หรือภาษาประชาชาติ) ทำให้การเรียนภาษาที่สองและวิชาอื่น ๆ ดีขึ้น ในทางตรงกันข้าม ถ้านักเรียนได้รับการสอนที่ไม่ใช่ภาษาแม่ ความสามารถในการเรียนรู้จะลดลง จึงทำให้นักวิชาการทั่วโลกถือว่าการกีดกันเด็กจากการศึกษาโดยภาษาแม่คือการละเมิดสิทธิมนุษยชนของอย่างหนึ่ง

ประธาน กมธ.วิสามัญสันติภาพชายแดนใต้ บอกอีกว่า ก่อนหน้านี้ได้เข้าพบ เปโดร สวาห์เลน เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสมาพันธรัฐสวิส ประจำประเทศไทย นำมาสู่การพูดคุยหารือในประเด็นการใช้ภาษาแม่ในการจัดการศึกษา เนื่องจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีภาษาราชการถึง 4 ภาษา และเด็กทุกคนมีสิทธิ์เรียนโดยใช้ภาษาแม่เมื่อเข้าเรียนในชั้นเด็กเล็ก จากนั้นเมื่อเรียนในชั้นสูงขึ้นมา เด็กสามารถเลือกเรียนในภาษาราชการที่ตนสนใจได้เอง

กมธ.วิสามัญสันติภาพชายแดนใต้ จึงตั้ง “คณะทํางานพิจารณาศึกษาการใช้ภาษาแม่เป็นสื่อในการเรียนการสอนเพื่อเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา” ขึ้นมา พร้อมทั้งจัดทำ Workshop ขึ้นใน 4 ประเด็น ได้แก่

  1. การใช้ภาษาแม่เป็นสื่อการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพอย่างไร และจะแตกต่างจากการใช้ภาษาประจำชาติอย่างเดียวอย่างที่ทำกันอยู่หรือไม่อย่างไร

  2. การสอนภาษาไทยกับเด็กที่มีภาษาแม่ไม่ใช่ภาษาไทย เช่น เด็กชายแดนใต้ที่ใช้ภาษามลายู คือสอนภาษาไทยกับเด็กเหล่านี้แบบเดียวกับที่สอนเด็กในจังหวัดอื่นที่ใช้ภาษาไทยตั้งแต่เกิด 100% อย่างที่ทำกันอยู่นี้เป็นปัญหาหรือไม่

  3. จากข้อที่ 2 การสอนภาษาไทยกับเด็กที่มีภาษาแม่เป็นภาษามลายู ด้วยวิธีการที่ผิดใช่หรือไม่

  4. การจัดการเรียนการสอนในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง โดยเฉพาะการจัดการเรียนการสอนโดยคำนึงถึงอัตลักษณ์ต้องทำอย่างไร

“หลายคนมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องทางเทคนิคทางภาษาศาสตร์ที่เป็นประเด็นเล็ก ๆ แต่ถ้าเราทำความเข้าใจให้ดีเราจะพบว่านี่คือเรื่องใหญ่มากที่เราปล่อยให้ประชากร กว่า 1.8 ล้านคน ที่มีภาษาแม่ที่ไม่ใช่ภาษาไทยได้รับการศึกษาจากการเรียนการสอนที่ไม่ได้ใช้ภาษาแม่ ซึ่งเป็นภาษาที่พวกเขาไม่เข้าใจ เรื่องนี้สำหรับผมถือเป็นเรื่องใหญ่มาก และเป็นเรื่องใหญ่ในระดับสากล ซึ่งนำมาสู่คำถามว่าประเทศไทยเข้าใจเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหนและจะทำอย่างไรที่เราจะจัดการเรื่องนี้ได้อย่างถูกต้อง”

“วันนี้เราจะสนับสนุนให้ใช้ภาษาแม่จัดการเรียนการสอน แต่เมื่อเด็กโตขึ้นมาก็ต้องขยับมาเรียนภาษาประจำชาติ เพราะถึงอย่างไร ประชาชนทุกคนก็มีสิทธิ์เข้าถึงภาษาประจำชาติเพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารกับคนในประเทศเช่นกัน” 

จาตุรนต์ ฉายแสง


สำหรับข้อสรุปและข้อค้นพบจากการจัด workshop ครั้งนี้ จะนำไปจัดทำเป็นข้อเสนอ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในรายงานของ กมธ.วิสามัญสันติภาพชายแดนใต้ ที่เตรียมเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรในเดือนกรกฎาคมนี้

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active