ชำแหละ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ แต่ไร้จินตนาการถึงอนาคต

วงเสวนาเครือข่ายด้านการศึกษาชำแหละ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ชี้หลักการยึดติดกับอดีตและปัจจุบัน แต่ไร้จินตนาการถึงอนาคต ห่วงเด็กถูกล็อกสเปก-ไม่พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง

วันนี้ (8 มิถุนายน 2567) สภาผู้บริโภคเปิดพื้นที่เวทีเสวนานโยบายสาธารณะ “ชำแหละร่างพระราชบัญญัติการศึกษาฟังเสียงสะท้อนจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง” ร่วมกับเครือข่ายด้านการศึกษา นักวิชาการ ฝ่ายการเมือง ตัวแทนเยาวชนและประชาชนที่มีความสนใจในด้านการศึกษา ถกถึงปัญหาของร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่ วงเสวนาสะท้อนว่าจำเป็นต้องมีความเอาใจใส่ต่อร่างกฏหมายฉบับนี้เพราะจะผูกพันอยู่กับการเรียนรู้ของลูกหลานคนไทยไปอีกหลายสิบปี ห่วงหลักการล้าหลัง อำนาจรวมศูนย์ รั้งการศึกษาไทยไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง

โดยร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ณ ปัจจุบันมีอยู่หลายฉบับจากหลายภาคส่วนที่จะร่วมเสนอต่อรัฐสภา แต่ร่างหลักที่จะเป็นเจ้าภาพในการเปิดรับทุกความคิดเห็นคือร่างของสำนักงานเลขาธิการสภาศึกษา (สกศ.) ซึ่งเป็นมรดกตกทอดจากรัฐบาลชุดที่แล้ว โดยการนำร่างเก่ามาใช้ยื่นเสนอไปก่อน ทางฝ่ายการเมืองให้เหตุผลว่าเพื่อเป็นการย่นระยะเวลาในการยกร่างฉบับใหม่หากต้องการจะแก้ไขหรือปรับอะไรให้ไปถกกันได้ในชั้นกฤษฎีกาหรือในรัฐสภา

เนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่ถูกพิจารณาค้างไว้ตั้งแต่ปี 2564 นั้นมีข้อกังวลในหลายจุดที่นักวิชาการมองเห็น ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล ประธานคณะทำงานด้านการศึกษา มองว่าตัวกฎหมายดังกล่าวมีการระบุบทบาท หน้าที่ พันธกิจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการศึกษาไทยในลักษณะเชิงบังคับมากถึง 110 กว่ามาตรา ทั้งยังมีเนื้อหาที่อ่านเข้าใจยาก ไม่เป็นมิตรต่อผู้ใช้กฎหมายและผู้ถูกบังคับใช้ ที่สำคัญที่สุดคือ เนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวยังยึดติดอยู่กับอดีตและปัจจุบัน ยังไม่มองเห็นถึงจินตนาการด้านการศึกษาที่เป็นไปได้ในอนาคต เพราะแทบไม่มีโครงสร้างหรือกลไกใดในการรับมือถึงความเปลี่ยนแปลงของโลกที่จะมาถึง 

ยกตัวอย่างมาตรา 8 ที่มีการล็อกสเปกเด็กไทยในแต่ละช่วงวัยว่าพวกเขา “ต้อง” มีพัฒนาการหรือความรู้ความเข้าใจในเรื่องใดบ้าง เช่น เด็กประถม ”ต้อง” รู้จักสิทธิ หน้าที่ ตระหนักความสำคัญของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มีจิตอาสา ซึมซับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น หรือ เด็ก ม.ปลาย “ต้อง” รู้จักแสวงหาความรู้ ขยัน อดทน ไม่ท้อถอย เข้าใจบทบาทไทยในสังคมโลก รู้เป้าหมายการศึกษาต่อและแนวอาชีพในอนาคต เป็นต้น โดยการล็อกสเปกเด็กอาจส่งผลให้ครู นักเรียน หลักสูตร และโรงเรียนต้องเดินตามให้บรรลุต่อเป้าหมายเหล่านั้น ซึ่งเป็นคำถามต่อไปว่าแล้วเราจะสร้างการศึกษาที่ยืดหยุ่นได้จริงหรือไม่?

“จากเนื้อความร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ เหมือนเรากำลังจะปั้นยอดมนุษย์ แต่ไม่เข้าใจพื้นฐานการพัฒนามนุษย์เลย และยังยากต่อการให้มนุษย์เข้าใจด้วย”

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล

ด้านเสถียร พันธ์งาม เครือข่ายครูอีสาน ในฐานะอดีตครูระดับปฏิบัติการและผู้บริหารสถานศึกษา มองว่า ด้วยร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฉบับนี้ไม่เอื้อให้คนทั่วไปเข้าใจได้โดยง่าย มีเนื้อหาวกไปวนมา สำหรับตนเอง มองว่ากฎหมายควรกระชับ ชัดเจน ตอบโจทย์สำคัญในภาพรวมให้ได้เสียก่อน เช่น การศึกษาต้องเสมอภาค เท่าเทียม มีคุณภาพ และฟรีอย่างแท้จริง ย้ำว่าเป้าหมายและการจัดการศึกษาคือ พัฒนาประชากรทุกคนให้เป็นพลเมือง เป็นพลังของบ้านเมืองไม่ใช่เป็นภาระของบ้านเมือง

เสถียร ยังกังวลว่าหลักสูตรและการประเมินผลในกฎหมายฉบับนี้ยังมีการกำหนดสเปกของผู้เรียนมากจนเกินไป และเสนอว่าควรกำหนดกรอบเพียงสมรรถนะหลักของแต่ละช่วงวัยโดยกว้าง ๆ เท่านั้น พร้อมทั้งควรเอื้อให้แต่ละสถานศึกษาสามารถออกแบบหลักสูตรเป็นของตนเองบนความต้องการของชุมชน และให้กรอบสมรรถนะหลักของชาติเป็นเป้าหมายสุดท้ายแทนที่จะมาใช้ตีกรอบตั้งแต่จุดเริ่มต้น

“เด็ก ป.1 มีตัวชี้วัดถึง 100 ตัว โรงเรียนและเด็กก็ต้องกวดขันให้ได้ตามหลักสูตร ฉะนั้น หลักสูตรการศึกษา ชุมชน ผู้มีส่วนได้เสีย ก็ควรได้เขียนด้วยมือตัวเอง พวกเขาต้องการลูกหลานแบบไหนให้เขาเขียนเอง และมีกรอบสมรรถนะของชาติเป็นเป้าสุดท้าย …และขอให้ พ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นของพวกเราทุกคน”

เสถียร พันธ์งาม เครือข่ายครูอีสาน

ขณะที่อีกเสียงสะท้อนจากเครือข่ายครูขอสอนอย่าง ครูกั๊ก-ร่มเกล้า ช้างน้อย ผู้ที่อยู่ปลายน้ำนโยบายตั้งคำถามว่า การจะตั้งเป้าหมายด้านการศึกษาให้เด็กไทยมีความรู้ความสามารถอย่างที่หวังนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่เรามีทรัพยากรด้านการศึกษาที่พร้อมมากพอแล้วหรือยัง เช่น ครูที่มีเวลาอยู่กับนักเรียนมากขึ้นหรือยัง หรือเรามีนักจิตวิทยาพัฒนาการเข้าไปมีส่วนร่วมกับการร่างกฎหมายนี้หรือยัง โดยครูกั๊กสรุปประเด็นที่ตนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ดังนี้

เห็นด้วย

  • หมวดที่ 1 มาตรา 14: ต้องมีมาตรการป้องกันมิให้หน่วยงานของรัฐสั่งการหรือมอบหมายกิจกรรมหรือโครงการใด ๆ อันจะทำให้ครูไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่หลักได้เต็มกำลังความสามารถหรือทำให้ผู้เรียนไม่มีเวลาเพียงพอในการสอน
  • หมวดที่ 2 มาตรา 25: มีความอิสระในการบริหาร จัดกระบวนการเรียนรู้ บริหารการเงินและการใช้จ่ายการบริหารงานบุคคล
  • หมวดที่ 3 มาตรา 40: ผู้บริหารสถานศึกษานอกจากต้องเคยทำหน้าที่ครูมาแล้วไม่น้อยกว่าสิบปีและเคยเป็นรองผู้บริหารสถานศึกษามาแล้ว และต้องมีความรู้ด้านการบริหารสถานศึกษา

ไม่เห็นด้วย

  • หมวดที่ 1 มาตรา 8: มีการกำหนดและล็อกสเปกพัฒนาการของเด็กตามช่วงวัย และยังมีการกำหนดแนวคิดทางปรัชญาหรือศาสนาบางส่วนที่เด็กต้องเข้าใจและเรียนรู้ โดยครูกั๊กมองว่า รัฐควรพัฒนาเด็กบนฐานความหลากหลาย
  • หมวดที่ 3 มาตรา 33: มีการกำหนดนิยามหน้าที่ของครูอย่างแคบเกินไป (เป็นแม่พิมพ์) ทั้งที่ครูมีแนวในการพัฒนาการสอนของตนเองได้ตามความถนัด หากต้องการเด็กที่หลากหลาย ก็ควรมีครูที่มีตัวตนหลายหลากด้วยเช่นกัน

ไม่แน่ใจว่าการลงช่วงอายุในหมวดที่ 1 มาตรา 8 จำเป็นขนาดไหน และถ้าผู้เรียนไม่สามารถเป็นไปตาม (พัฒนาการ) ช่วงชั้นได้ จะมีบทลงโทษ หรือถูกตีตราจากใครไหม

ครูกั๊ก-ร่มเกล้า ช้างน้อย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active