เปิดตัวเครือข่าย ‘All For Education หอการค้า 77 จังหวัด’

หอการค้าฯ – กสศ. – ทีดีอาร์ไอ ย้ำแก้เหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เริ่มได้จากในห้องเรียน เดินหน้าผลักดัน ‘กองทุนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา’ ลดการพึ่งพิงงบฯ ส่วนกลาง หนุนให้อิสระ รร.จัดการศึกษา สร้างทักษะเด็กเพื่ออนาคต

วันนี้ (13 พ.ค. 67) หอการค้าไทย ร่วมกับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดตัวเครือข่าย ‘ALL FOR EDUCATION หอการค้า 77 จังหวัด’ ซึ่งขยายพื้นที่เพิ่มเติมจากปีที่แล้วใน 20 จังหวัดนำร่อง หวังเพิ่มขีดความสามารถประเทศไทย ผ่าน ‘กองทุนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (Sandbox Fund)’ ลดการพึ่งพิงงบฯ จากภาครัฐ เพิ่มช่องทางการระดมทรัพยากรให้โรงเรียนมีอิสระในการจัดการศึกษา สร้างหลักสูตรของชุมชน และโอบอุ้มเด็กไทยให้ไม่ตกหล่นจากระบบการศึกษา สอดรับกับนโยบายรัฐบาล ‘Thailand Zero Dropout‘ ตามที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีได้ประกาศไว้

โดยพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จะเป็นพื้นที่ทดลองจัดการศึกษาในรูปแบบใหม่ ผ่านการใช้หลักสูตรใหม่ สื่อการสอนแบบใหม่ การทดสอบ และประเมินผลแบบใหม่ ตลอดจนการบริหารจัดการแบบใหม่ ให้อิสระโรงเรียนและเขตการศึกษาจัดการตนเองได้ โดยมีเอกชนหรือนายจ้างเข้ามามีบทบาทสำคัญในการออกแบบการศึกษา จากนั้นจะถอดบทเรียนเพื่อนำไปขยายผลต่อในระดับประเทศ โดยผลการวิจัยในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่ผ่านมา เริ่มเห็นสัญญาณทางบวก เช่น โรงเรียนส่วนใหญ่ปรับวิธีการบริหารและการสอน เด็กมีความสุขมากขึ้น และเด็กกลุ่มอ่อนเข้าใจการเรียนเพิ่มขึ้น

สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย บอกว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นสาเหตุของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในอนาคตข้างหน้า ยิ่งเทคโนโลยีดิจิทัลขยายตัวมากเท่าไร (Digital Disruption) การศึกษายิ่งต้องปรับตัวให้เท่าทันตามบริบทโลกที่เปลี่ยนไป ขณะที่หลักสูตรปัจจุบันยังไม่ตอบโจทย์ผู้เรียนและธุรกิจที่มีความต้องการทักษะเฉพาะที่หลากหลาย นักเรียนมีทักษะต่ำกว่าเกณฑ์ ยังมีช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาสูง และเด็กไทยกว่า 1 ล้านคนต้องหลุดจากระบบการศึกษา

สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

“เครือข่ายหอการค้าทั้ง 77 จังหวัด สามารถทำงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่ของตนเองเพื่อเปลี่ยนแปลงการศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ นี่คือก้าวสำคัญของความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจ และภาคการศึกษา เป็นหนึ่งใน Game Changer ของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนจากฐานรากให้แก่ประเทศไทย” 

สนั่น อังอุบลกุล

สราวุฒิ อยู่วิทยา รองประธานกรรมการ และประธานคณะกรรมการพัฒนาการศึกษาหอการค้าไทย ระบุถึงปัญหาที่ภาคเอกชนพบเจอมาโดยตลอด คือ แรงงานไม่เพียงพอและมีทักษะไม่ตรงกับความต้องการ จึงเกิดแนวคิดว่า ภาคเอกชนมักจะทราบปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตก่อนใคร น่าจะต้องมีบทบาทในการช่วยออกแบบการศึกษา เพื่อสร้างคนให้ตรงกับตลาดแรงงานในอนาคต สุดท้ายไม่ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนไปอย่างไร คนก็ยังคือสิ่งที่สำคัญที่สุด มนุษย์ที่มีองค์ความรู้ จะสามารถขับเคลื่อนเทคโนโลยีให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้

สราวุฒิ อยู่วิทยา รองประธานกรรมการ และประธานคณะกรรมการพัฒนาการศึกษาหอการค้าไทย

กสศ. และ UNESCO เคยประเมินไว้ว่า หากประเทศไทยสามารถแก้ไขโจทย์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้สำเร็จ เช่น สถิติเด็กหลุดจากระบบการศึกษาเป็นศูนย์ จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศไทย มากกว่าปีละ 2 แสนล้านบาท (1.7% ของ GDP) ซึ่งจะช่วยพาประเทศไทย ก้าวออกจากกับดักรายได้ปานกลางได้เร็วขึ้นกว่าเป้าหมายเดิมถึงเกือบ 2 เท่า

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เป็นสนามปฏิบัติการในการปฏิรูปการศึกษา โดยมีกลไกการปลดล็อกกฎระเบียบให้โรงเรียนพัฒนาการสอนรูปแบบใหม่ ซึ่งเน้น Active Learning เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ผู้เรียนให้มีความรู้ ทักษะ และทัศนคติที่จำเป็น รวมทั้งลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา นอกจากนี้ พื้นที่นวัตกรรมการศึกษามีหลักประกันความต่อเนื่องเพราะมีกฎหมายรองรับ ทำให้การดำเนินงานมีเสถียรภาพ มีกระบวนการวิจัยติดตามอย่างเป็นระบบเพื่อถอดบทเรียนจากตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ สำหรับนำมาขยายผลเพื่อมาใช้ปฏิรูปการศึกษาทั้งประเทศ การวิจัยที่ผ่านมาเริ่มเห็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงทางบวกในบางด้าน เช่น โรงเรียนส่วนใหญ่ปรับวิธีการบริหารและการสอน เด็กมีความสุขมากขึ้น และเด็กกลุ่มอ่อนเข้าใจการเรียนเพิ่มขึ้น

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

สัญญาณเหล่านี้สะท้อนความจำเป็นที่พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่ที่ผ่านมามีข้อจำกัดทางงบประมาณเพราะพึ่งพิงงบประมาณของรัฐเป็นหลัก ซึ่งไม่คล่องตัว และไม่เพียงพอต่อการปฏิรูปอย่างก้าวกระโดด แม้บางจังหวัดสามารถระดมทรัพยากรภายในพื้นที่ได้ แต่ส่วนใหญ่ไม่สามารถทำได้ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการกิจกรรมที่จำเป็นต่อการพัฒนานวัตกรรมการสอนได้ เช่น พัฒนาหลักสูตรจังหวัด ข้อสอบ หรือ Platform แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นต้น จึงเป็นที่มาของความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เพื่อยกระดับการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการจัดการศึกษาในพื้นที่ ผ่านการระดมทรัพยากรเพื่อขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และร่วมกำหนดทิศทางการจัดการศึกษาให้ตอบโจทย์ความต้องการด้านทุนมนุษย์ในจังหวัด

“พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเป็นหัวหอกในการปรับปรุงเรื่องนี้ ปลดล็อกให้ใช้หลักสูตรอะไรก็ได้ที่นำไปสู่หลักสูตรฐานสมรรถนะ ซึ่งไม่ได้เรียนรู้เป็นรายวิชาแบบเดิม แต่เรียนรู้เพื่อให้นำไปใช้ได้จริงและตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ หลักสูตรที่ว่านี้อาจจะไปได้ไกลถึงหลักสูตรนานาชาติก็ได้ ซึ่งโมเดลนี้เกิดขึ้นแล้วในจังหวัดซึ่งถูกประกาศให้เป็นพื้นที่นวัตกรรม เช่น จ.ระยอง, กรุงเทพมหานคร ในอนาคตทั้งหลักสูตร และรูปแบบการบริหารจัดการโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จะถูกนำไปพัฒนาเพื่อให้ได้แนวทางในการปรับปรุงและขยายผลไปสู่การเปลี่ยนแปลงการศึกษารูปแบบใหม่ เพื่อพัฒนาการศึกษาของทั้งประเทศในอนาคต”

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์
ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

ขณะที่ ไกรยส ภัทราวาท  ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ย้ำว่า การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาไม่ใช่โจทย์ของภาครัฐแต่เพียงลำพัง การขจัดปัญหาเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้เป็นศูนย์ได้สำเร็จ จะก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศไทยมากกว่าปีละ 200,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.7% ของ GDP ซึ่งจะช่วยพาประเทศไทยก้าวออกจากกับดักรายได้ปานกลางได้เร็วขึ้นกว่าเป้าหมายเดิมถึงเกือบ 2 เท่า การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาซึ่งทุกคนในประเทศไทยล้วนได้ประโยชน์สาธารณะร่วมกันเช่นนี้ จึงมิใช่โจทย์ของภาครัฐแต่เพียงลำพัง แต่ถือเป็นกิจของทุกคนที่สามารถร่วมกันเข้ามาเป็นเจ้าของและลงมือทำร่วมกัน

โดยสามารถขยายฐานการระดมทุนเพื่อการศึกษา ซึ่งจะได้สิทธิลดหย่อนภาษี 2 เท่า ซึ่งปัจจุบันมีคนไทยที่เสียภาษีเพียง 6.5 แสนคน หรือ 17% ของผู้เสียภาษีเงินได้ทั้งหมดที่บริจาคเพื่อการศึกษา ขณะที่มีผู้มีรายได้สูงไม่ถึง 1 ใน 3 บริจาคเพื่อการศึกษาและบริจาคเฉลี่ยไม่ถึง 1% ของรายได้ ทั้งผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และนิติบุคคลต่าง ๆ ยังสามารถบริจาคเพิ่มเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้อีกมากกว่า 10 เท่า

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active