เปลี่ยน ‘สถานพินิจ’ เป็นพื้นที่เรียนรู้ เพิ่มโอกาสเด็ก ลดกระทำผิดซ้ำ

เดินหน้าสร้างระบบการศึกษาไร้รอยต่อ เชื่อมชุมชน โรงเรียน ให้เด็กมีวิชาอาชีพหลังถูกปล่อยตัว เทียบโอนหน่วยกิตได้ สร้างโอกาสใหม่เพื่อคุณภาพชีวิตดีขึ้น

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดสัมมนาวิชาการนานาชาติในหัวข้อ “ห้องเรียนเปลี่ยนชีวิต : การศึกษาทางเลือกเพื่อเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา” ผ่านช่องทางออนไลน์ Zoom Meeting หวังให้เด็กที่ก้าวพลาดเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ และได้มีโอกาสเริ่มต้นชีวิตใหม่ กุญแจสำคัญคือชุมชนต้องมีส่วนร่วมและให้โอกาสพวกเขา

เดเนียล เบย์ ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก Prison Fellowship International ระบุว่า การศึกษาสามารถทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกับเด็กและเยาวชนผู้ต้องขังได้ โดยหลักสูตรด้านวิชาการและอาชีวศึกษาในสถานพินิจ จำเป็นต้องได้รับการออกแบบให้ตอบสนองต่อความต้องการและความสนใจของเยาวชนแต่ละคน เพื่อให้พวกเขามีความรู้และทักษะที่จำเป็นติดตัว พร้อมกับเสริมสร้างความมั่นใจและสร้างเป้าหมายในชีวิต

เดเนียล ยังเผยถึงผลการศึกษา ว่า ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2543 จำนวนผู้ต้องขังเยาวชนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ การศึกษาภายในเรือนจำหรือสถานพินิจจึงมีความสำคัญอย่างมากที่จะเป็นการเพิ่มทุนมนุษย์ให้กับพวกเขา การให้การศึกษาแก่เยาวชนกลุ่มนี้ พวกเขาจะมีอัตราการกระทำผิดซ้ำลดลง ซึ่งนั่นหมายถึงจำนวนผู้ต้องขังที่จะต่ำลง และลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐอีกด้วย แต่นี่เป็นเพียงประโยชน์ที่สังคมได้รับ แต่ประโยชน์ทางตรงคือ เยาวชนได้มีโอกาสเริ่มชีวิตใหม่และใช้ความรู้พาตัวเองและครอบครัวไปสู่สภาพแวดล้อมหรือคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าได้

“เด็กเหล่านี้ยังมีอนาคตที่ไกล อย่าฉุดเขาให้อยู่กับคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่ต่อไป หลายคนที่กลายเป็นผู้ต้องขัง ส่วนใหญ่จะมาจากสถานะทางเศรษฐกิจหรือสังคมที่อยู่ในระดับล่าง ดังนั้น เมื่อกลายเป็นผู้ต้องขังแล้ว เขาควรได้พัฒนาตัวเอง และเมื่อปล่อยตัวไปพวกเขาจะได้มีโอกาสได้งานทำเพื่อเลี้ยงตนเองและครอบครัวต่อไป”

เดเนียล เบย์

เดเนียล ยังเสริมว่า มีโมเดลของต่างประเทศใกล้เคียงที่มีการจัดการศึกษาในสถานพินิจแล้วสามารถสร้างองค์ความรู้และให้โอกาสใหม่กับเยาวชนผู้ก้าวพลาดได้ เช่น

  • เนปาล : ห้องสมุดเรือนจำเปิดให้เข้าถึงสื่อการเรียนรู้ที่หลากหลาย ให้ผู้ต้องขังได้ขยายองค์ความรู้ ปัจจุบัน เนปาลได้ติดตั้งห้องสมุดในเรือนจำทั้ง 74 แห่ง

  • มาเลเซีย : จัดโครงการนำร่องติดตั้งห้องคอมพิวเตอร์ในเรือนจำ เพื่อเพิ่มการรู้หนังสือและทักษะดิจิทัลในกลุ่มผู้ต้องขัง และร่วมมือกับหน่วยงานการศึกษาภายนอกมาจัดหลักสูตรการสอนและให้ใบประกาศนียบัตร

  • กัมพูชา : ให้มีการฝึกอาชีพและจัดหลักสูตรอบรมด้านช่างกล ช่างยานยนต์ ช่างตัดเย็บ และมีใบประกาศนียบัตรรับรอง

นอกจากนี้ การจัดหลักสูตรภายในสถานกักขังยังช่วยให้เยาวชนรู้จักยับยั้งชั่งใจ ช่วยลดเหตุรุนแรงภายในเรือนจำ เพราะเมื่อเขาได้มีการเรียนรู้ เขาจะเริ่มตระหนักถึงคุณค่าภายในตัวเองได้ และเริ่มมีพฤติกรรมหันไปทางบวกมากขึ้น เด็กหลายคนที่เข้ามาในเรือนจำบางส่วนก็มีปมปัญหาภายในใจ แต่กลับระบายผิดที่ทาง

“สถานกักขังเหล่านี้ก็ควรจะช่วยคลายปมในใจของพวกเขาเหล่านี้ก่อนเขาคืนสู่สังคม แต่ทั้งหมดนี้ไม่ใช่หน้าที่ของสถานกักขังเพียงอย่างเดียว แต่โรงเรียนและชุมชนเองต้องร่วมกันกล่อมเกลา และมีกระบวนการฟื้นฟูก่อน-หลังปล่อยตัวด้วยเช่นกัน ไม่เช่นนั้นเยาวชนเหล่านี้ก็มีโอกาสที่จะเข้าสู่มุมมืดของสังคมได้อีก”

เดเนียล เบย์

ศุภชัย ไตรไทยธีระ ประธานมูลนิธิปัญญากัลป์ ย้ำในวงเสวนาว่า การป้องกันไม่ให้เกิดเหตุนั้น ‘คุ้มค่า’ กว่าการเยียวยาหลังเกิดความสูญเสีย ไม่มีการชดเชยใด ๆ จะเยียวยาชีวิตหรือความเสียหายของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อหรือสังคมได้ ดังนั้นแล้ว โรงเรียนและชุมชนต้องคอยเป็นตาข่ายโอบอุ้ม ระแวดระวังไม่ให้เด็กเดินหลงไปในทางที่ผิด ผ่าน 6 แผนงานด้วยกัน คือ

  1. พัฒนาบุคลากร ผู้คุ้ม ให้เป็นนักจัดการเรียนรู้ ส่งเสริมการเรียนรู้ในสถานพินิจ

  2. พัฒนาระบบการจัดการศึกษาทางเลือก (นอกระบบและตามอัธยาศัย) ร่วมกับภาคีเครือข่าย ให้เยาวชนได้มีทางเลือกในการศึกษา

  3. ส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการผ่านสัมมาชีพ สร้างหลักสูตรให้เยาวชนได้ฝึกอาชีพระยะสั้น

  4. สร้างเสริมทักษะชีวิตและสมรรถนะที่สำคัญจำเป็นต่อเด็กและเยาวชน เน้นการพัฒนาจิตใจให้เข้มแข็ง

  5. บูรณาการความร่วมมือการขับเคลื่อนกลไกโอบอุ้มคุ้มครองเด็ก สร้างเครือข่ายในพื้นที่ช่วยกันสอดส่องเด็ก

  6. การจัดการฐานข้อมูลและการวิจัย เพื่อนำไปต่อยอดนวัตกรรมทางการศึกษา

ศุภชัย ยังเล็งเห็นถึงการลดภาวะเชิงอำนาจในสถานพินิจ แต่เน้นให้การสร้างการเรียนรู้เกิดขึ้นบนแนวราบ เน้นให้ครู นักจัดการเรียนรู้ออกแบบหลักสูตรโดยมีเด็กเป็นศูนย์กลาง เอาความสนใจมาออกแบบเนื้อหา และยังมุ่งส่งเสริมสมรรถนะของเด็กและครู เชื่อมโยงเอาการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นไปเทียบโอนกับหลักสูตรแกนกลาง เพื่อสร้างระบบการศึกษาที่ไร้รอยต่อ เมื่อเด็กจบการศึกษาในสถานพินิจก็จะได้มีสถานศึกษารองรับพวกเขาต่อได้ ไม่ตกหล่นไปไหนอีก

ขณะที่ เนตรดาว ยั่งยุบล คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ย้ำถึงการใช้ประโยชน์จาก พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ มาตรา 12 ซึ่งระบุว่า สถานศึกษาสามารถจัดการศึกษาได้ 3 รูปแบบ คือ การศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย แต่ที่ผ่านมาโรงเรียนส่วนใหญ่เลือกจัดแค่รูปแบบเดียว คือการศึกษาในระบบที่มีการประเมินวัดผลและการตัดเกรดที่เคร่งครัด กล่าวคือ หากเด็กไม่สามารถเข้าเรียนหนังสือได้ตามที่โรงเรียนกำหนด จะด้วยเหตุปัจจัยด้านทุนทรัพย์หรือความพร้อมทางจิตใจก็ตาม จะทำให้เด็กเหล่านี้เลือกที่จะหนีออกจากห้องเรียน และเสี่ยงก่อเหตุอาชญากรรมได้

เนตรดาว ย้ำว่าโจทย์ต่อไปของการศึกษาไทย คือ ทำอย่างไรให้เยาวชนผู้เคยก้าวพลาดทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างไม่เป็นภาระ มีระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น เลือกได้ตามเงื่อนไขชีวิต เพื่อให้โรงเรียนเป็นพื้นที่แห่งโอกาสของพวกเยาวชน ซึ่งภาครัฐ หน่วยงานต่าง ๆ และชุมชน ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศในการเรียนรู้ของเยาวชนกลุ่มนี้

“กลไกคุ้มครองเด็กและเยาวชน บนฐานของการเรียนรู้และการบ่มเพาะคุณภาพชีวิตใหม่นั้น สำคัญอย่างยิ่งสำหรับการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตและสร้างให้เด็กมีความสามารถที่จะจัดการตัวเองได้ และเป็นพลเมืองที่เข้มแข็งต่อไป”

เนตรดาว ยั่งยุบล

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active