เปิดเทอมนี้! ศธ. เล็งผลักดัน ‘ห้องน้ำดี-แก้หนี้ครู-เสริมเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทย’

กระทรวงศึกษาธิการ คิกออฟโครงการปรับปรุงห้องน้ำ โรงเรียนขนาดเล็ก จัดอบรมแก้หนี้ครู มหกรรมส่งเสริมการเรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์ เดินหน้า Roadshow ทั่วประเทศ​

เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 67 พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดโครงการอบรมสร้างความรู้ทางการเงินให้กับข้าราชการครูและเจ้าหน้าที่ภายในกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) หวังเสริมสภาพคล่องการเงินของครู มีการเงินที่ดี และสามารถเกษียณราชการได้อย่างสบายใจ ย้ำว่า การแก้ไขปัญหาหนี้สินครู เป็นหนึ่งในนโยบายกระทรวงศึกษาธิการที่ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง

เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประกาศว่า เป้าหมายสำคัญของนโยบายแก้หนี้ครู คือ บุคลากรต้องมีสภาพคล่องทางการเงินดีขึ้น มีเงินเดือนเหลือมากกว่าร้อยละ 30 เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาด้านการเงินด้วยตนเอง ขณะที่นักเรียนเองก็ต้องมีความรู้ และทักษะด้านการเงิน เพื่อให้มีสมรรถนะด้านการเงินพร้อมใช้ชีวิตในอนาคต ปัจจุบันได้มีการดำเนินการจัดตั้งสถานีแก้หนี้ 245 เขตพื้นที่ทั่วประเทศ รวมทั้งจัดทำระบบออนไลน์รับลงทะเบียนผู้สมัครใจแก้ไขหนี้สิน ตลอดจนการประสานและเจรจาสถาบันการเงิน เพื่อลดดอกเบี้ยเงินกู้ ปรับโครงสร้างหนี้ เป็นต้น

งบฯ เฉียด 100 ล้าน ‘สุขาดี มีความสุข’
เนรมิตห้องน้ำโรงเรียนทันใช้ก่อนเปิดเทอม

ก่อนหน้านี้ สุรศักดิ์ พันธุ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) คิกออฟโครงการ “สุขาดี มีความสุข” พร้อมจัดกิจกรรมติดป้ายโลโก้ “สุขาดี มีความสุข” ทุกโรงเรียนพร้อมกันทั่วประเทศ หวังพัฒนาคุณภาพห้องน้ำในโรงเรียนให้สะอาด ถูกสุขลักษณะ ครูนักเรียนใช้ร่วมกันได้ และส่งเสริมให้นักเรียนมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี พร้อมทั้งสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข​

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้จัดสรรงบประมาณให้สถานศึกษาปรับปรุงห้องน้ำโรงเรียน ในปีการศึกษา 2567 ให้แก่โรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 80 คน จำนวน 9,698 โรงเรียน โรงเรียนละ 10,000 บาท รวมแล้วใช้งบประมาณ 97 ล้านบาท ส่วนโรงเรียนทั่วไปใช้เงินรายได้ของสถานศึกษา หรือเงินอื่น ๆ ที่โรงเรียนสามารถบริหารจัดการได้ โดยให้สถานศึกษานำงบฯ ไปปรับปรุง ซ่อมแซม ห้องน้ำนักเรียน ให้มีสุขภัณฑ์ อ่างล้างมือที่สะอาดและถูกสุขลักษณะ

เล็งจัดมหกรรม ‘วิชาประวัติศาสตร์’ ​ทั่วประเทศ

นอกจากนี้ ทาง รมช.ศธ. ยังได้เผยถึงแผนการขับเคลื่อนการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ ประจำปีงบประมาณ 2567 ที่คืบหน้าไปมาก โดยมีหน่วยงานใต้ ศธ. ทุกสังกัดร่วมกันผลักดันนโยบายดังกล่าว เช่น การพัฒนาแผนแม่บทการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์, การพัฒนาแกนนำประวัติศาสตร์, การตั้งคณะกรรมการปรับปรุงหลักสูตรในชั้น ป.1 – 6 และ ในปีนี้จะมีการจัดมหกรรมวิชาประวัติศาสตร์ที่จ.บุรีรัมย์, แพร่, สุราษฎร์ธานี และ ลพบุรี พร้อมเตรียมคิกออฟ 6 กิจกรรมหลัก ได้แก่

  1. การจัดเสวนา “รูปแบบการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ที่เหมาะสมกับสังคมไทย”

  2. พัฒนาครูต้นแบบเทิดทูนสถาบันสำคัญของชาติ

  3. การจัดมหกรรมการเรียนการสอนประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมืองใน 4 ภูมิภาค

  4. การจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ “ใต้ร่มพระบารมีจักรีวงศ์”

  5. การจัดประกวดสื่อวิดีทัศน์/ภาพยนตร์สั้นเกี่ยวกับประวัติศาสตร์

  6. Roadshow นำเสนอรูปแบบการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์พร้อมกัน 77 จังหวัดทั่วประเทศ

ข้อกังวลเปิดเทอมอากาศร้อนจัด
เล็งอนุญาตปิดเรียนได้หากจำเป็น

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อกังวลอื่นต่อการเปิดเทอมที่กำลังจะมาถึง คือเรื่องสภาพอากาศที่ร้อนจัด มีรายงานสถานการณ์ความร้อนในหลายประเทศในอาเซียน เช่น ฟิลิปปินส์ มีอุณหภูมิสูงถึงระดับวิกฤต ค่าดัชนีความร้อนในสัปดาห์ที่ผ่านมาสูงถึง 45 องศาเซลเซียสในกรุงมะนิลา ส่งผลโรงเรียนรัฐทั่วประเทศกว่า 47,000 แห่งพากันปิดโรงเรียน และให้เด็กเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้านแทน ทางการฟิลิปปินส์ประกาศเตือน ความร้อนระดับนี้ เป็นอันตราย ต่อสุขภาพประชาชนโดยเฉพาะในเด็กและผู้สูงอายุ

ขณะที่ประเทศไทย ในบางพื้นที่ภาคเหนือมีอุณหภูมิสูงถึง 44-45 องศาเซลเซียส กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าฤดูร้อนปีนี้ลากยาวไปถึงปลายเดือนพฤษภาคม คาดว่าจะร้อนกว่าปีที่แล้ว 1-2 องศา และปริมาณน้ำฝนจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ส่วนกรมควบคุมโรค เผยว่า ขณะนี้มีผู้เสียชีวิตจากโรคลมแดดอย่างน้อย 30 ราย เทียบกับ 37 รายในปีที่แล้ว

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทาง สพฐ. ได้ออกกำชับให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต แจ้งสถานศึกษาในสังกัดปฏิบัติตามแนวทางการเฝ้าระวังและป้องกันเหตุความไม่ปลอดภัยที่เกิดจากสภาพอากาศร้อนจัด ในช่วงเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 โดยกำหนดให้โรงเรียนหลีกเลี่ยงการจัดกิจกรรมกลางแดด และในกรณีที่มีสภาพอากาศร้อนจนมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของนักเรียน ให้พิจารณาปิดเรียน และพิจารณาจัดการเรียนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น Online, On-Hand, On-Air หรือ On-Demand เป็นต้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active