กสศ. ชู ‘ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง’ ยุติจนข้ามรุ่น เด็กชายแดนใต้

เปิดข้อค้นพบ กุญแจสำคัญก้าวพ้นกับดักความยากจน ตอบโจทย์ลดเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสเด็กยากจนชายแดนใต้ เรียนจบ มีงานทำ รายได้สูง

วันนี้ (1 พ.ค. 67) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) แถลงข้อค้นพบ “การยุติวงจรความยากจนข้ามรุ่น 3 จังหวัดชายแดนใต้” จากงานวิจัยเชิงปฏิบัติการจากชีวิตจริงของเยาวชนกว่า 1,000 คน ในโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง กสศ.

ปวรินทร์ พันธุ์ติเวช หัวหน้าฝ่ายข้อมูลและติดตามสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำ กล่าวว่า สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. ได้ศึกษาสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและโอกาสการพัฒนาทุนมนุษย์ สามจังหวัดชายแดนใต้ พบข้อมูลว่า ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนได้ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ติดโผความยากจนอยู่อันดับต้น ๆ ของประเทศ ในภาพรวมทางเศรษฐกิจ พบว่ามีกับดักความยากจน เช่น ถ้าเด็ก 1 คนเติบโตในครอบครัวยากจน อีก 20 ปีต่อมา ลูกของเขายังเผชิญปัญหาความยากจนอยู่

ปวรินทร์ ชี้ว่า ความยากจนไม่เพียงกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ แต่กระทบการศึกษาด้วย โดยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีเด็กนอกระบบการศึกษา ในช่วงอายุ 3-18 ปี จำนวน 52,306 คน โดยในจำนวนนี้ 40% อยู่ในช่วงอายุ 15-18 ปี เหตุผลที่ไม่ได้เรียนต่อ คือ ขาดทุนทรัพย์ รวมถึงปัญหาครอบครัว ที่มีบุตรหลานหลายคน พ่อแม่ออกไปทำงานนอกพื้นที่ ทำให้ลูกต้องออกจากการเรียนมาเป็นเสาหลักครอบครัว ซึ่งปัญหาที่มีความทับซ้อน

ขณะที่คุณภาพการศึกษาตั้งแต่ปฐมวัย พบว่า เด็กจำนวนไม่น้อยขาดความพร้อมด้านการเข้าใจในการฟัง และการต่อรูปในใจ เช่น ตั้งถามคำถามไป 4-5 ข้อ ตอบถูกเพียงข้อเดียว

ปวรินทร์ พันธุ์ติเวช

“ส่วน Soft Skill ขอยกตัวอย่าง ความฉลาดทางอารมณ์ พบว่า 3 จังหวัดชายแดนใต้ อยู่ในระดับสีแดง คือ ต่ำกว่าเกณฑ์ ซึ่งอาจจะมีปัญหาในด้านทักษะของภาษาที่มีความท้าทายในการศึกษาภาษาหลักคือ ภาษาไทย และเมื่อตั้งคำถามว่า พวกเขาจะจะหลุดพ้นจากความยากจนได้อย่างไร ? ทาง กสศ. มีข้อค้นพบว่า การเรียนถึงระดับปริญญาตรี ใช้เวลานานถึง 4 ปี ซึ่งการจะทำให้หลุดพ้น จำเป็นต้องมีหลักสูตรอาชีวศึกษา ที่เป็นอีกกุญแจสำคัญในการก้าวข้ามกับดักความยากจนข้ามรุ่นของเด็กไทยได้

ปวรินทร์ พันธุ์ติเวช

ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. บอกว่า ข้อค้นพบการยุติวงจรความยากจนข้ามรุ่น ของโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง กสศ. สืบเนื่องจากเด็กในครอบครัวยากจนมีโอกาสเข้าเรียนน้อยกว่า โดยเฉพาะในกลุ่มที่อยู่ในครอบครัวยากจน 20% ล่างสุดของประเทศ มีโอกาสเรียนได้ถึงช่วง ม.3 เท่านั้น ขณะที่ผู้ปกครองของเด็กยากจนพิเศษ จะจบการศึกษาไม่เกินมัธยมต้นเช่นกัน

“พ่อแม่ การศึกษาไม่สูงโอกาสที่ลูกจะเรียนสูงกว่าก็น้อย เราพยายามส่งเสริมทักษะทุนมนุษย์ ทำให้ไม่ส่งต่อวงจรจนข้ามรุ่น ด้วยการให้โอกาสทางการศึกษา ซึ่งการศึกษาที่จะช่วย แบบตรงจุด ตอบโจทย์ จึงมุ่งไปที่ช่วงอายุ 15 – 24 ปี โดยทำงานผ่านระบบทุนการศึกษา”

ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์
ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์

ธันว์ธิดา กล่าวอีกว่า เป้าหมายสำคัญของทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง คือ 1. ลดความเหลื่อมล้ำ ให้ได้เรียนสูงกว่า ม.3 หรือ ม.6 โดยมองว่า เขาอาจอยู่ในระบบไม่นาน ดังนั้นการศึกษาที่ตอบโจทย์ คือ “สายอาชีพ” ซึ่งจะตอบโจทย์ 2. ตลาดแรงงาน โดยปัจจุบันสร้างโอกาสให้เด็กไปแล้ว 11,768 คน กำลังอยู่ระหว่างการศึกษา 7,460 คน เรียนจบแล้ว 4,308 คน มีงานทำทันทีมากถึง 82.09% และ รายได้พวกเขาสูงกว่าผู้ปกครอง 4 เท่า รายได้เฉลี่ย 12,000 บาท โดยสาขาที่มีรายได้สูง คือ ระบบขนส่งทางราง, เทคนิคเครื่องกล, ผู้ช่วยพยาบาล, ผู้ช่วยทันตแพทย์, อุตสาหกรรมไมซ์ (MICE)

นอกจากนี้ กสศ. ได้ร่วมการพัฒนานวัตกรรมในการพัฒนาและผลิตร่วมกับสถานศึกษาและสถานประกอบการ โดยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ร่วมกับทำงานกับ 9 สถานศึกษา ที่ให้เยาวชนยากจน และด้อยโอกาสได้เข้าเรียนจนจบการศึกษาไปแล้ว 766 คน โดยเฉพาะ “หลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล” ที่เรียนเพียง 1 ปี เด็กมีงานทำ 100%

กรณีศึกษาความสำเร็จจากสถาบันสายอาชีพ

รศ.ศิริพันธ์ุ ศิริพันธุ์ คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีเด็กที่จบการศึกษาด้วยทุน กสศ. ไป 2 รุ่นแล้ว และกำลังรับรุ่นที่ 5 นับว่ากำลังช่วยสร้างคน ซึ่ง จ.นราธิวาส มีรายได้ต่ำอันดับ 5 ของประเทศ จากที่อยู่มา 60 ปี เห็นสภาพความยากจนเรื้อรังมาตลอด

“ลงพื้นที่ค้นหาเด็กร่วมกับครู แนะแนว อสม. ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ เราจะเห็นสภาพแต่ละบ้านที่มีลูกเยอะ สภาพความเป็นอยู่ยากจน ลูกบางคนต้องไปทำงานที่มาเลเซีย ทำงานแรงงานต่ำ ส่งเงินมาที่บ้าน น้องบอกว่า อยากเรียนหนังสือ เพื่อส่งน้องอีก 3 คน ที่ไม่ได้เรียน เราเห็นว่าความยากจน ที่ทำให้เด็กไม่ได้เรียน จากการสัมภาษณ์เด็กที่ไม่ได้เรียนหนังสือ เกิดปัญหาทางสังคม ติดยาเสพติด ติดเพื่อน ติดเกม หลุดจากระบบการศึกษา บางบ้านเรียกว่าบ้านยังไม่ได้ เพราะอยู่เป็นเพิง ซึ่งมีอีกมากมายที่ต้องการทุน”

รศ.ศิริพันธ์ุ ศิริพันธุ์
รศ.ศิริพันธ์ุ ศิริพันธุ์

รศ.ศิริพันธ์ กล่าวถึงการพัฒนาหลักสูตรที่จะตอบโจทย์ความเฉพาะ คือ “ภาษาไทยไม่คล่อง” การอ่านจับใจความก็ไม่ชำนาญ ยอมรับว่า ทำให้กิดความยากลำบากในการเรียนการสอน จึงเพิ่มการสอนในการจับใจความ ศัพท์ทางการแพทย์ ขณะที่การส่งเสริมการมีงานทำ ได้ร่วมกับสถานพยาบาล ที่มาช่วยสะท้อนว่าการปฏิบัติงานทำอย่างไร ภาษาอังกฤษต้องเป็นอย่างไร การเขียนประวัติย่อ (Resume) เพื่อสมัครงานต้องเขียนอะไรบ้าง แต่จุดเด่นของเด็กในชายแดนใต้ คือ การสื่อสารภาษาอาหรับ การรู้วิธีดูแลแบบตะวันออก ก็เป็นผลดีที่พบว่า ทำให้ได้งานในสถานพยาบาลเอกชน ที่มีรายได้สูงอีกด้วย และตอบโจทย์สถานบริการเพื่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น

“เขามีเงินเดือนเฉลี่ยคนละ 15,000 บาท ตั้งแต่อายุ 19 ปี จนสามารถส่งน้อง ๆ เรียนได้ คือ ความภูมิใจ ที่จะทำให้ครอบครัวเขาหลุดจากความยากจนได้”

รศ.ศิริพันธ์ุ ศิริพันธุ์

ขณะที่ ฐปรัตน์ รักษ์ภานุสิทธ์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ยอมรับว่า ปัญหาที่เจอในกลุ่มเด็กที่ไปค้นหา คือ พวกเขาขาดความมั่นใจ อย่างตอนลงพื้นที่ เด็กก็ไปยืนหลบ ๆ ไม่กล้ามาเจอ และส่วนใหญ่พูดภาษายาวี พูดไทยไม่ชัด ซึ่งเป็นความท้าทายของผู้สอน ทำให้ต้องสอนให้เขามีความกล้าพูด ด้วยการทำงานร่วมกับสถานประกอบการ ให้เด็กได้พัฒนาการคิดและตัดสินใจ

ฐปรัตน์ รักษ์ภานุสิทธ์

“เราจึงปรับหลักสูตร เพิ่มรายวิชาการคิด และตัดสินใจขึ้น เนื่องจากเด็กเรียนโรงเรียนปอเนาะ โรงเรียนประจำเด็กหญิงชาย ถ้าเขาไม่ได้เรียนต่อ เมื่อออกมาข้างนอก เด็กมักถูกชักจูงไปในทางที่ไม่ดี ไปมีครอบครัว ไปแต่งงาน เกิดเป็นปัญหาว่าเขาไม่มีเงินเลี้ยงตัวและพอไปมีลูกก็ยิ่งทำให้เกิดปัญหาตามมา หลักสูตรเราได้สอนเรื่องเพศศึกษาให้เขาได้มีความรู้เพื่อดูแลตัวเอง”

ฐปรัตน์ รักษ์ภานุสิทธ์

‘สาขาการเกษตร’ เป็นที่ต้องการใน 3 จังหวัดชายแดนใต้

ประวิทย์ อ๋องสุวรรณ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยเทคโนโลยีการเกษตรและประมงปัตตานี ให้ข้อมูลว่า ภาคใต้กว่า 30% ขับเคลื่อนโดยการเกษตรและประมง ซึ่งยังขาดการพัฒนาในการแปรรูปสินค้าเกษตร ขณะที่การประมงก็เป็นแหล่งประมงเสื่อมโทรม จึงได้จัดทำหลักสูตร “กระเช้าอาชีพ” คือ 1 เทอม 1 อาชีพ สอนทั้งการเลี้ยง การปลูก การแปรรูป รวมถึงการร่วมมือกับสถานประกอบการ ที่มาเสริมศักยภาพในเด็ก ทำให้เขาสามารถออกไปแล้วประกอบอาชีพได้

“เกษตร และ ประมง เป็นกระดูกสันหลังของประเทศ แต่เด็กไม่ชอบเรียน ไม่เลือกเรียน ซึ่งทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง กสศ. ได้พาเด็กที่มีความสามารถ เรียนดี แต่ไม่มีรายได้ มาให้เราได้เพชรน้ำดีมา เมื่อจบการศึกษาไปแล้ว สถานประกอบการตอบรับอย่างดี”

ประวิทย์ อ๋องสุวรรณ

พร้อมทั้งนำเสนอตัวอย่างของเด็กทุน กสศ. ที่เรียนสายเกษตร และสามารถนำความรู้มาต่อยอดเป็นอาชีพ สร้างรายได้ให้ตัวเองและครอบครัวตั้งแต่ยังเรียนอยู่ ผ่านคลิป “จากเงินพัน สู่ เงินแสน เลี้ยงวัว” เป็นเรื่องราวของ กุอัสมาดีซัม อัครเสณีย์ นักศึกษาวิทยาลัยเทคโนโลยีการเกษตรและประมงปัตตานี ที่เล่าว่า ได้เริ่มจากการลงทุนซื้อวัวมาเลี้ยงด้วยเงินเก็บรายเดือนที่ได้รับจากทุน กสศ. ทำให้สามารถมีเงินซื้อที่ดิน ในการต่อยอดสร้างฟาร์มเลี้ยงตัวได้ ตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ คลิปนี้ได้กลายเป็นแบบอย่าง สร้างบันดาลใจให้กับเด็ก ๆ ใน พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ให้ความสำคัญของการเรียน “เกษตร” ที่นำมาสู่การทำอาชีพสร้างรายได้จริง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active