‘ก่อการครู’ จับเข่าคุย ศธ. สะท้อนปัญหาในรั้วโรงเรียน-ระบบการศึกษา

ชูข้อเสนอ ดูแลจิต-ใจ นักเรียน ครู ปรับแนวทางบริหารจัดการในโรงเรียน สร้างหลักสูตร การเรียนตอบโจทย์ยุคใหม่ เชื่อรับฟังกันมากขึ้น ปัญหาจะคลี่คลายได้

วันนี้ (2 มี.ค.2567) ที่กระทรวงศึกษาธิการ กลุ่ม PLC Reform ภายใต้โครงการก่อการครู จัดกิจกรรมวงเสวนาการศึกษา เพื่อนำเสนอแนวทางการพัฒนาการศึกษาจากครู ผู้บริหาร และเครือข่ายนักขับเคลื่อนการศึกษา และแลกเปลี่ยนประเด็นการขับเคลื่อนการศึกษาร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ

ทางกลุ่มได้เล็งเห็นความสำคัญของการสร้างพื้นที่สื่อสารโดยตรงเพื่อแลกเปลี่ยนพูดคุยเกี่ยวกับกลยุทธ์การสร้างความสำเร็จจะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ระบบการศึกษาไม่ว่าจะเป็น ครู นักเรียน และ บุคลากรทางศึกษาได้ตรงเป้าหมายและรวดเร็วยิ่งขึ้น

โดยในวงเสวนามีการนำเสนอปัญหาของระบบการศึกษาในหลากหลายประเด็นต่อ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ และ พัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ทั้งแนวทาง ‘รักษาใจเด็กฟื้นฟูใจครู’ ซึ่งเป็นข้อเสนอการจัดหาบุคลากรด้านจิตวิทยาเพื่อดูแลสุขภาพจิตให้กับทั้งครู และนักเรียน 

‘ชั่วโมงพักใจ’ พูดถึงการไขปัญหาสภาพแวดล้อม และการให้พื้นที่ปลอดภัยให้กับบุคลากรในโรงเรียน 

‘โรงเรียนขับเคลื่อนด้วยผู้บริหาร’ จุดแข็งของผู้บริหาร คือการขับเคลื่อนนโยบาย และนโยบายจะส่งผลทั้งคุณภาพเชิงบวกหรือเชิงลบต่อเด็ก ๆ และคุณครู

‘ห้องเรียนระบบ 2’ แก้ปัญหาเด็กที่เสี่ยงออกจากระบบการศึกษาจากปัจจัยความยากจน ผลการเรียน หรือพฤติกรรมแวดล้อม โดยการให้โอกาส และการปรับวิธีการเรียนรู้ให้ยืดหยุ่นมากขึ้น

‘มัธยมไร้ ม.1 – ม.6’ แก้ปัญหาการเรียนจบแบบไม่มีคุณภาพ การทำให้ซ้ำชั้น การแก้ 0 แก้ ร, มส อยู่ในการเติบโตของผู้บริหาร โดยจะเปลี่ยนเป็นการเรียนแบบชั้นปีเหมือนมหาวิทยาลัย สามารถลงเรียนซ้ำได้ เปิดช่องทางให้เก็บหน่วยกิตและสอบเทียบเพื่อให้ทันเพื่อนที่เรียนก่อนหน้า

‘Set Zero Project’ มีโครงการภายนอกโรงเรียนเข้ามา แต่เงินสนับสนุนไม่มี สิ่งที่ต้องทำ คือ แก้ KPI การประเมินโรงเรียน หรือทำประกาศให้โรงเรียนเลือกได้ว่าในแต่ละปีงบประมาณ มีความสนใจทำโครงการภายนอกแบบใด โดยไม่ต้องผูกมัดโครงการต่อเนื่องหลายปี

‘เบิกได้ตามจริง’ อยากเอางบฯ ไปลงทุนที่เด็กแต่ทำไม่ได้ในบางงาน รวมไปถึงการไม่ลงทุนการเรียนรู้ของครู และการเบิกค่าใช้จ่ายที่ยุ่งยาก ควรแก้ไขระเบียบงบประมาณ ให้ ผอ.ลงนามและสามารถใช้เงินได้ตามที่โรงเรียนตกลงกันในแต่ละปี ซึ่งต่อให้เป็นของรางวัลก็ต้องซื้อได้ มีหลักฐานการนำเงินไปใช้ในกิจกรรม อยากให้มีการตรวจสอบรับฟังจากภาคประชาชน มีเจ้าหน้าที่จริง ๆ ในการจัดซื้อ จัดจ้าง ดูแลสนับสนุนให้ครู

นอกจากประเด็นเหล่านี้ ยังมีการพูดถึงการลดภาระหน้าที่งานของครู ‘ให้ครูได้เป็นครู’ มีเวลาเต็มที่ในการสอนเด็ก และภาระงานที่เกิดขึ้นเกินกว่าเกณฑ์กำหนดชั่วโมงการสอนของครู จึงอยากให้ปรับภาระงานให้สอดคล้องกับอัตรากำลังครู

สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ

สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ บอกว่า เมื่อได้รับฟังข้อเสนอแนะจากกลุ่มก่อการครู และแลกเปลี่ยนกัน มีอยู่หลายประเด็นที่ทางกระทรวงฯ กำลังดำเนินการอยู่แล้ว อย่างเช่น เรื่องการดูแลสุขภาวะทางจิตของครูกับนักเรียน, การจัดทำธนาคารหน่วยกิต, ให้เด็กเลือกเรียนได้ตามความถนัด ซึ่งจะเริ่มทำในเดือนมีนาคม และมองว่าหลายเรื่องมีแนวโน้มที่สามารถเป็นไปได้ เช่น การลดภาระเวรยามครู วงเสวนานี้มีส่วนอย่างมากในการเสนอปัญหาในอนาคตอันใกล้ น่าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของบุคลากรทางการศึกษา มุ่งหวังว่าเมื่อสิ่งเหล่านี้ดีขึ้นคุณภาพนักเรียนก็ดีขึ้น เพราะครูมีเวลาทุ่มเทให้กับนักเรียน

ผช.รมต.ประจำกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า กระทรวงฯ มีหน้าที่รับฟัง และการแลกเปลี่ยนกันอย่างสร้างสรรค์ มีการวางแผนการแก้ปัญหาร่วมกัน การแก้ปัญหาก็จะดำเนินได้โดยเร็ว

ร่มเกล้า ช้างน้อย ครูชำนาญการ โรงเรียนเทพศาลาประชาสรรค์ จ.นครสวรรค์ และตัวแทนกลุ่ม PLC Reform บอกว่า รู้ว่าการแก้ไขบางเรื่องอาจมีข้อจำกัด แม้ระบบจะแก้ยาก แต่ก็ต้องพูด และสืบเนื่องจากกิจกรรมของก่อการครูครั้งที่แล้วในเดือนมกราคม นำมาสู่การร่วมพูดคุยกันรหว่างผู้ออกแบบนโยบายกับครูที่ปฏิบัติงานจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นอยู่แล้ว

“ไม่ว่าปัญหาจะเยอะแค่ไหน แต่เป็นสิ่งที่ดีที่ได้ร่วมพูดคุยกัน”

ร่มเกล้า ช้างน้อย
ร่มเกล้า ช้างน้อย ครูชำนาญการ โรงเรียนเทพศาลาประชาสรรค์ จ.นครสวรรค์

ร่มเกล้า ยังเห็นว่า คณะทำงานกระทรวงศึกษาฯ ในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในครั้งนี้ต้องฟังเสียงของประชาชน และนำข้อเสนอไปแก้ไข เห็นได้จากครั้งที่แล้ว ที่เรียกร้องเรื่องภาระเวรยามครู ก็เห็นว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น ประกอบกับกระแสข่าว และเป็นสิ่งเรียกร้องมาอยู่แล้ว นั่นแสดงว่าการส่งเสียงนั้นมีส่วนทำให้กระทรวงฯ ดำเนินการทันที

“คิดว่าน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงต่อมาเรื่อย ๆ เพราะสิ่งที่เราเสนอก็มีสิ่งที่กระทรวงฯ กำลังทำอยู่เช่นกัน เหมือนได้อัพเดทว่าสิ่งที่ครูคิดกับสิ่งกระทรวงฯ ทำมันคือหลักคิดเดียวกัน แต่อาจจะยังไม่ได้ประกอบกันสนิท โดยกระทรวงฯ ทำงานในภาพรวมอาจจะมองไม่เห็นในมุมครู และครูที่ทำงานเชิงปฏิบัติ ก็อาจจะไม่ได้มองในมุมของกระทรวงฯ ดังนั้น การได้พูดคุยกันในวันนี้ ก็อาจนำไปสู่การขับเคลื่อนร่วมกัน และปัญหาจะถูกคลี่คลายเรื่อย ๆ”

ร่มเกล้า ช้างน้อย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active