ศธ. ผุดไอเดีย! ฟื้นระบบ ‘สอบเทียบ’ ในชื่อ ‘โอเน็ตพลัส’

เน้นสมัครใจสอบ วัดทักษะคิดวิเคราะห์ หวังลดความซ้ำซ้อน ไม่เสียเวลา เตรียมส่งงานให้ สกร. ขับเคลื่อนต่อ คาดเสร็จทันปีการศึกษานี้

เมื่อเร็ว ๆ นี้ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 7/2567 ว่า ที่ประชุมได้ติดตามการดำเนินการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) เพื่อขับเคลื่อนเรื่องการสอบดังกล่าวให้มีประโยชน์ต่อการพัฒนาผู้เรียนมากขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการวางแนวทางมาตรฐานการวัดความรู้และทักษะของผู้เรียน ลดภาระในการสอบซ้ำซ้อน ตอบโจทย์นโยบาย “เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา” การศึกษาของเด็กแต่ละช่วงชั้นควรสอบวัดประเมินผล เพื่อนำมาใช้วิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งในการพัฒนาผู้เรียน จะได้ทราบว่าต้องปรับปรุงหลักสูตรการเรียนหรือปรับการสอนหรือไม่ ให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางเพื่อนำเกณฑ์มาประเมินกระบวนการผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาได้ด้วย

พล.ต.อ.เพิ่มพูน บอกด้วยว่า ในอนาคตจะนำการสอบเทียบกลับมาเป็นการสอบรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า O-NET+ (โอเน็ตพลัส) อาจปรับแนวข้อสอบให้เน้นทักษะคิดวิเคราะห์มากขึ้น เพราะการสอบแบบเดิมไม่ครอบคลุม 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ในรูปแบบใหม่หากใครมีคะแนน O-NET 4 วิชาเดิมอยู่แล้ว ก็นำคะแนนมาใช้ในการสอบเทียบเพิ่มได้เลย เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน เหมือนเป็นการสะสมหน่วยกิต ไม่ได้เป็นการบังคับ แต่ให้สอบด้วยความสมัครใจ ไม่เป็นการเสียเวลาและยังนำไปใช้ประโยชน์ทางการศึกษาได้ด้วย

“การสอบก็คือกระบวนการเดียวกันกับการส่องกระจกเงา ที่ทำไปเพื่อดูว่าเราพร้อมหรือยัง หรือมีสิ่งที่ควรแก้ไข ทำอย่างไรเราถึงจะดูดี ทำอย่างไรเราถึงจะเก่ง เราขาดตกบกพร่องตรงไหนที่ยังไม่สมบูรณ์ ไม่อยากให้คิดแค่ว่าการสอบเป็นเรื่องบังคับเพื่อจัดลำดับเข้ามหาวิทยาลัย ควรเปลี่ยนทัศนคติใหม่ให้สอบอย่างมีความสุข เห็นประโยชน์ที่ทำให้รู้ตัวตนเหมือนเราส่องกระจกเงา”

พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ
พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.กระทรวงศึกษาธิการ

พลิกโฉม กศน. สู่ สกร. ปรับองค์กรขนานใหญ่ รองรับการเรียนรู้ไร้รอยต่อ

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 67 รมว.ศธ. ได้เน้นย้ำให้ กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) ฟื้นเรื่องระบบสอบเทียบ คาดว่าจะเร่งดำเนินการให้เกิดขึ้นในปีการศึกษา 2567 นี้ โดยหวังพึ่ง สกร. เป็นหน่วยขับเคลื่อนและดำเนินการนโยบายดังกล่าว เพื่อตอบสนองการเรียนรู้และสร้างโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม และให้ สำนักทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) รับผิดชอบการดำเนินการสอบเทียบ โดยการสอบเทียบจะยึดเนื้อหาตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานในสายสามัญ

สำหรับการปรับหลักสูตรของ สกร. นั้นจะใช้หลักสูตรแกนกลางของ สพฐ. เป็นหลักสูตรหลัก แต่วิธีการอาจปรับตำราเรียนให้ทันสมัยมากขึ้น และบูรณาการหลายวิชารวมเป็นวิชาเดียวกัน โดยความคืบหน้าล่าสุดเมื่อวันที่ 15 ก.พ. ที่ผ่านมา ธนากร ดอนเหนือ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ เปิดเผยว่า โครงสร้างภายในของหน่วยงาน สกร. ได้สมบูรณ์แล้ว ประกอบด้วย

  1. กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร

  2. กลุ่มตรวจสอบภายใน

  3. กลุ่มกฎหมายและนิติการ

  4. สำนักงานเลขานุการกรม

  5. กองบริหารการคลัง

  6. กองบริหารทรัพยากรบุคคล

  7. กองส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ

  8. กองส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง

  9. กองยุทธศาสตร์และแผนงาน

  10. กองส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

  11. กองมาตรฐานความรู้และรับรองวุฒิ

  12. ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัลและสารสนเทศ ศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเรียนรู้ และศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์

ทางหน่วยงานได้เร่งดำเนินการในส่วนของกฎหมายลำดับรองเพื่อมาสอดรับกับ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 และได้ดำเนินการแล้วเสร็จไปแล้วส่วนหนึ่ง เช่น

  • การกำหนดสถานที่ตั้งของสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัด (สกร.จังหวัด) สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้กรุงเทพมหานคร (สกร.กรุงเทพมหานคร) ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอ/เขต (สกร.อำเภอ หรือ สกร.ข.) ศูนย์การเรียนรู้ตำบล (ศกร.ตำบล) และศูนย์การเรียนรู้แขวง (ศกร.แขวง)

  • การกำหนดอำนาจหน้าที่ของศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” 

  • การประกาศให้จัดตั้งศูนย์หรือสถาบันการเรียนรู้เฉพาะด้านหรือเฉพาะกิจการ ซึ่งกำหนดให้เป็นสถานศึกษาไปแล้วจำนวน 39 แห่ง

  • การกำหนดให้หน่วยจัดการเรียนรู้มีอำนาจในการรับรองคุณวุฒิให้แก่ผู้เรียนเมื่อสำเร็จการศึกษา โดยมีการแบ่งออกเป็นประกาศนียบัตร หรือวุฒิบัตร หรือหนังสือรับรองความรู้ เพื่อนำไปสะสมในการได้รับการรับรองคุณวุฒิ
ผู้ตรวจราชการ ศธ. ลงพื้นที่ติดตามการขับเคลื่อนโรงเรียนคุณภาพของชุมชน  โรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง และโรงเรียน Stand Alone คุณภาพสูง  ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี – สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน |
ธนากร ดอนเหนือ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้

ในส่วนของการจัดการศึกษาเพื่อเด็กอัจฉริยะ สกร. กำลังดำเนินการพัฒนาหลักสูตรสอบเทียบ ร่วมกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ซึ่งทำหน้าที่เป็นสถาบันพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้ และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในการจัดทำหลักสูตรมาตรฐานของชาติมาจัดสอบ และมอบสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เป็นผู้ออกข้อสอบ

นอกจากนี้ จะหารือกับมหาวิทยาลัย ให้ช่วยจัดทำหลักสูตรนักส่งเสริมการเรียนรู้ เพื่อให้ครูและบุคลากรเข้ารับการอบรม โดยเรียนที่มหาวิทยาลัยเพียง 1 – 2 วัน และศึกษาทำงานในพื้นที่ให้มาก 3 – 6 เดือน จบแล้วได้รับหน่วยกิตไปสอบเทียบระดับปริญญาโทได้ เพื่อเตรียมบุคลากรได้ปรับตัวและพร้อมปฏิบัติงานใหม่ ๆ ตามภารกิจในกฎหมายและโครงสร้างใหม่ของ สกร.

“สกร. เป็นกรมใหม่ เราต้องเร่งทำงานอย่างรอบด้านในทุกมิติ เพื่อให้มีการขับเคลื่อนงานได้ โดยมี 2 นโยบายที่ สกร.ต้องเร่งดำเนินการให้เร็วในปี 2567 นี้ คือ การจัดการศึกษาเพื่อเด็กอัจฉริยะ และการจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำ ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจของ สกร.ในทุกมิติ เพราะงานของ สกร. คือ แผนที่เพิ่มโอกาสคนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย

ธนากร ดอนเหนือ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active